เเอมเนสตี้ฯเผยสถานการณ์สิทธิมนุษยชน ไทยยังน่าห่วง จำกัดสิทธิเเสดงออก-ชุมนุม
แอมเนสตี้ฯ เปิดรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลก ปี 58 พบ 113 ประเทศทั่วโลก จำกัดสิทธิเเสดงออก คุกคามสื่อ ภาพรวมไทยยังน่ากังวล หวังรัฐบาลสร้างมาตรการผ่อนคลาย ยุติจับกุมคุมตัวโดยพลการ-ใช้ศาลทหารตัดสินคดีของพลเรือน ปฏิบัติตามพันธกรณีสากลให้สิทธิขั้นพื้นฐาน
วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2559 เเอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นเเนล (ประเทศไทย) จัดเเถลงข่าวพร้อมกันทั่วโลก เปิดตัวรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลก ประจำปี 2558-59 ของเเอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นเเนล ณ ห้องกมลทิพย์ โรงเเรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ
นายชำนาญ จันทร์เรือง ประธานกรรมการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า แอมเนสตี้ฯ รวบรวมและตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนในปี 2558 จาก 160 ประเทศ พบว่า ในบางพื้นที่สถานการณ์ดีขึ้น แต่ในหลายพื้นที่กลับแย่ลง โดยมีอย่างน้อย 113 ประเทศทั่วโลก ยังคงจำกัดสิทธิในการเเสดงออกเเละคุกคามสื่อมวลชน
นอกจากนี้ มีผู้พลัดถิ่นจากบ้านเกิดมากกว่า 60 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งผู้คนเหล่านั้น ยังคงพลัดถิ่นเป็นเวลาหลายปีหรืออาจนานกว่านั้น เเละมากกว่า 30 ประเทศทั่วโลก บังคับให้ผู้ลี้ภัยกลับไปยังประเทศที่มีความเสี่ยงเเละเป็นอันตรายต่อชีวิต ซึ่งการกระทำดังกล่าวขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ อีกทั้ง ไม่น้อยกว่า 36 ประเทศทั่วโลก ยังคงมีความรุนเเรงจากกลุ่มติดอาวุธ
ประธานกรรมการ แอมเนสตี้ฯ กล่าวต่อว่า สำหรับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน พบไม่น้อยกว่า 156 คน ถูกฆาตกรรมเเละเสียชีวิตขณะถูกคุมขัง โดยมากกว่า 61 ประเทศ จับกุมคุมขังนักโทษทางความคิด เพียงเพราะการใช้สิทธิเเละเสรีภาพในการเเสดงออก เเละมากกว่า 122 ประเทศ มีการทรมานเเละการปฏิบัติที่โหดร้ายต่อพลเรือน ขณะที่อาชญากรรมสงครามหรือการละเมิดกฎหมายสงครามที่เกิดขึ้นมีไม่น้อยกว่า 19 ประเทศทั่วโลก
"4 ประเทศ ผ่านกฎหมายที่กำหนดให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถเเต่งงานกันได้หรือยอมรับในความสัมพันธ์ของคู่รักเพศเดียวกัน ปี 2558 รวมเเล้วปัจจุบันมีอย่างน้อย 20 ประเทศทั่วโลก ที่ผ่านกฎหมายนี้" นายชำนาญ กล่าว เเละว่า ไม่น้อยกว่าร้อยละ 55 ของประเทศทั่วโลก มีการพิจารณาคดีที่ไม่เป็นธรรม โดยผู้ถูกกล่าวหา ผู้เสียหายจากคดีอาชญากรรม หรือสาธารณชนไม่ได้รับความยุติธรรม
เมื่อถามเพิ่มเติมถึงการแก้ปัญหาของรัฐบาลไทยเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนเป็นอย่างไร นายชำนาญ กล่าวว่า รัฐบาลมีความพยายามอย่างดีที่สุด ซึ่งที่ผ่านมาหลายปี ประเทศไทยไม่เคยติดอันดับโลก แต่ครั้งนี้ติดอันดับแทบทุกสำนัก ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับประเด็นสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม หรือการแสดงออก ดังนั้น จำเป็นต้องผ่อนคลาย ปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศรับรองสิทธิขั้นต่ำที่ได้ลงนามสัตยาบันไว้
“แม้ประเทศไทยเป็นเอกราช ไม่มีใครบังคับได้ หากไม่ปฏิบัติตาม แต่จะมีผลต่อการคว่ำบาตร (Sanction) สินค้าในอนาคต และจะถูกมองว่า ประเทศไทยไม่เจริญ”
ประธานกรรมการ แอมเนสตี้ฯ กล่าวถึงการที่ประเทศไทยติดอันดับในการละเลยสิทธิและการคุกคาม เพราะมีบุคคลสูญหายจำนวนมาก นอกจากนายพอละจี รักจงเจริญ (บิลลี่) และทนายสมชาย นีละไพจิตร แล้ว ยังมีบุคคลอื่นที่ไม่รู้จักอีกมาก โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพียงแต่เราไม่ทราบเรื่อง
สำหรับกลไกหลังจากวันนี้ จะมีการยื่นหนังสือต่อรัฐบาล ซึ่งข้อเรียกร้องส่วนใหญ่ไม่เกินความสามารถที่รัฐบาลจะกระทำได้ เช่น การเปิดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบ การเปิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ยุติการจับกุมหรือควบคุมตัวโดยพลการ ยุติการใช้ศาลทหารไต่สวนคดีของพลเรือน ทั้งนี้ เข้าใจว่า สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยแย่ลง เหตุผลหนึ่งมาจากรัฐบาลพยายามควบคุมให้ประเทศมีความสงบ โดยมองความมั่นคงเป็นหลัก
ด้าน แชมพา พาเทล (Champa Patel) ผู้อำนวยการประจำสำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก เปิดเผยถึงแนวทางด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ว่ายังเป็นเรื่องน่ากังวล ในขณะที่ระบอบการปกครองของทหารฝังรากลึกมากขึ้น ส่งผลให้การเคารพสิทธิมนุษชนถดถอยลงอย่างมากในปี 2558 ความพยายามปิดกั้นเเละปราบปรามผู้เเสดงความคิดเห็นต่างทางการเมืองได้ขยายตัวกว้างขวางอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ส่งผลให้มีการคุกคาม ดำเนินคดี เเละควบคุมตัวบุคคลจำนวนมาก โดยพลการเเละเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ เพียงเพราะการใช้สิทธิของตนเองอย่างสงบ ทางการยังคงใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพื่อปิดกั้นเสียงที่เห็นต่างในระดับรุนแรงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนเช่นกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า นายชำนาญ จันทร์เรือง ประธานกรรมการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) ยังมอบรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลก ประจำปี 2558-59 ของเเอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นเเนล ต่อรัฐบาล โดยมีนายอภิรัตน์ สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง ผู้อำนวยการกองการสังคม กระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้แทนรับมอบ .
ข้อเรียกร้องเเอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นเเนล ต่อรัฐบาลไทย