กลุ่มเภสัชฯ ยื่นหนังสือค้าน พ.ร.บ.ยา ฉบับกฤษฎีกา ชี้ขัดหลักสากล
กลุ่มเภสัชเพื่อมวลชน ยื่นหนังสือนายกฯ ค้าน ร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับกฤษฎีกา พ.ศ. ... ชี้ไม่เป็นไปตามหลักสากล ซ้ำยังจะสร้างความเสียหายต่อระบบยาของไทย และความปลอดภัยของ ปชช. แนะ 7 ประเด็นควรแก้ไข
วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559 ที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) กลุ่มเภสัชเพื่อมวลชน นำโดยเภสัชกรสงัด อินทร์นิพัฒน์ เลขาธิการกลุ่มฯ เข้ายื่นหนังสือต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เเละหัวหน้าคณะรักษาความสงบเเห่งชาติ (คสช.) ขอคัดค้านการนำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยา พ.ศ. ... ฉบับที่ผ่านการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมกฤษฎีกา ซึ่งยังไม่ได้ปรับแก้ตามมติจากการประชุมของตัวแทนสหวิชาชีพ เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2558 เข้าพิจารณา
โดยการขอยื่นคัดค้านในครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่มีการรายงานว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.)จะนำร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ. ... ฉบับคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ซึ่งมีสาระสำคัญที่ไม่คุ้มครองผู้บริโภคและไม่เป็นไปตามหลักสากลเข้าประชุมเพื่อพิจารณาในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยไม่ได้นำร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับที่มีการปรับแก้ตามที่ได้มีการปรึกษาหารือจากผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าที่ประชุมด้วย
เภสัชกรสงัด กล่าวว่า ร่างที่มีการแก้ไขดังกล่าวนั้น กระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็น เพื่อปรับแก้ร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ. ...ฉบับคณะกรรมการกฤษฎีกา จนมีผลสรุปที่ชัดเจนแล้วและกระทรวงสาธารณสุขได้ทำเอกสารเป็นมติที่ประชุมของตัวแทนสหวิชาชีพเสนอไปยังสำนักเลขานุการ ครม.เรียบร้อยแล้ว แต่กลับไม่มีการนำไปประชุมเพื่อพิจาณาต่อ
ทางกลุ่มเภสัชเพื่อมวลชน จึงเดินทางมาเพื่อแสดงเจตนารมณ์ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ. ฉบับคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยมี 7 ประเด็นที่ต้องการคัดค้าน ดังต่อไปนี้
การจัดประเภทยา ตามนิยามในมาตรา 4 เนื่องจากพบว่า การแบ่งประเภทยาตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เป็นการเปิดโอกาสให้ทุกวิชาชีพสามารถจ่ายยาได้ ซึ่งเสี่ยงต่อความปลอดภัยในการใช้ยาของผู้ป่วย เพราะบางวิชาชีพอาจจมีสมรรถนะในการจ่ายยาไม่ชัดเจน ทั้งนี้ได้มีประกาศกฎกระทรวงสาะารณสุขเรื่องการกำหนดเกี่ยวกับสถานที่ อุปกรณ์และวิธีปฏิบัติทางเภสัชกรรมชุมชนในสถานที่ขายยาแผนปัจจุบันตามกฎหมายว่าด้วยยา เพื่อให้มีการจ่ายยามีความปลอดภัยต่อผู้ใช้ยา และหากมีความจำเป็น หรือขาดแคลนบุคคลากร อาจจัดทำเป็น กฎหรือประกาศของกระทรวงยกเว้นบางพื้นที่ มิใช่นำสิ่งที่ยกเว้นมาระบุใน พ.ร.บ.ที่เป็นกฎหมายหลัก
ข้อยกเว้นให้ผู้ประกอบวิชาชีพ ไม่ต้องขออนุญาตผลิต ขายหรือนำยาแผนปัจจุบัน ยาแผนไทย ยาแผนทางเลือก ตามม.24 ยาสำหรับสัตว์ ตามม. 60 และเภสัชเคมีภัณฑ์ รวมถึงเภสัชเคมีภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูป เภสัชชีววัตถุ และเภสัชสมุนไพรตาม ม.87 เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่ใช่เภสัชกรสามารถผสมยา ซึ่งการผสมยานั้นต้องอาศัยศาสตร์และกลวิธีเฉพาะด้าน หากทำไม่ถูกต้องจะส่งผลต่อผู้ใช้ยาและประสิทธิภาพของยา รวมถึงการใช้สารที่ไม่เหมาะสมในตัวยาให้ผู้ที่ไม่เชี่ยวชาญจัดการและควบคุมการประกอบการด้านยา
มีประเด็นหลายด้านที่ต้องพิจาณา เช่น การผลิตยาแผนไทยในระดับอุตสาหกรรม ควรให้เภสัชกรเป็นผู้ควบคุม เนื่องจากมีการเรียนการสอนวิธีการผลิตในระดับอุตสาหกรรม โดยเสนอให้ตัดผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยด้านเวชกรรมไทยออกจากกระบวนการผลิตยา และต้องไม่ให้สัตวแพทย์เป็นผู้มีหน้าที่ปฎิบัติการในการผลิตยาสำหรับสัตว์ที่เป็นชีววัตถุ ต้องไม่ให้ผู้ที่ผ่านเฉพาะการอบรมฯ ผลิตยาสำหรับสัตว์ที่มีส่วนประกอบสำคัญเป็นสมุนไพร ผลิตหรือนำเข้ายาสำหรับสัตว์ที่เป็นแผนทางเลือก ต้องไม่ยกเว้นการผลิตเภสัชเคมีภัณฑ์และการผลิตเภสัชชีววัตถุให้ผู้ได้รับปริญญาทางวิทยาศาสตร์กระทำ
ไม่มีการทบทวนทะเบียนตำรับยา หลังจากที่ได้รับการต่ออายุทะเบียนตำรับยาภายหลัง 5 ปีแรกแล้ว หลังจากนั้นทะเบียนตำรับยานั้นจะให้ใช้ได้ตลอดไป เว้นแต่จะพบปัญหา
สามารถโฆษณายาได้ทุกประเภทและโฆษณายารักษาโรคร้ายแรงได้ มาตรา 143 ไม่ได้กำหนดเรื่องการห้ามโฆษณายาที่ต้องจ่ายตามใบสั่ง หรือยาที่ต้องจ่ายโดยผู้ประกอบวิชาชีพต่อประชาชนทั่วไป (ข้อสังเกตตรงนี้มีความสำคัญ เนื่องจากมีการใช้ข้อความที่ต่างจาก พ.ร.บ. พ.ศ. 2510 หากไม่ระบุชัดเจนตั้งแต่ต้น อาจถือว่ากฎหมายเปลี่ยนแปลงเจตนารมณ์ให้โฆษณาได้)
ไม่มีข้อห้ามการขายยาชุด กำหนดเพียงการห้ามผู้รับอนุญาตขายปลีกยา ผู้ดำเนินการหรือผู้ที่มีหน้าที่ปฏิบัติการประจำสถานที่ขายปลีกยา
ไม่มีความรับผิดทางเเพ่งกรณีทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้เสียหายจากการใช้ยา นอกจากนี้ยังไม่มีโทษทางปกครองด้วย