กอศ. ชี้ตัวเลข 59% สถาบันอาชีวะเอกชน มีเด็กเรียนไม่ถึง 500 คน หวั่นอยู่รอดยาก
เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดข้อมูลสถานศึกษาอาชีวศึกษาภาคเอกชน 461 แห่ง มีขนาดเล็กเยอะมาก เกินครึ่งนักเรียนไม่ถึง 500 คน ตั้งเป้าปีการศึกษาหน้า ต้องไม่มีปิดตัวลงอีก
เมื่อเร็วๆนี้ ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวในการประชุมเชิงปฏิบัติการผู้บริหารสถานศึกษาอาชีวศึกษาภาครัฐและเอกชน โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.) เข้าร่วม 1,200 คน ที่วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี ถึงข้อมูลสถานศึกษาอาชีวศึกษาภาคเอกชนที่มีจำนวน 461 แห่ง พบมีขนาดเล็กเยอะจำนวนมาก โดยพบว่า อาชีวะเอกชนมีจำนวนนักเรียนไม่ถึง 500 คน ถึง 276 แห่ง หรือเกินครึ่งที่มีเด็กนักเรียนไม่ถึง 500 คน
“แบ่งเป็น 1-100 คน มี 64 แห่ง, 101-200 คน มี 63 แห่ง, 201-300 มี 58 แห่ง, 301-400 มี 52 แห่ง และ 401-500 มี 39 แห่ง รวมอาชีวะเอกชนมีนักเรียนไม่ถึง 500 คน 59% โดยมีอาชีวะเอกชนอยู่แค่ 5 แห่ง ที่มีเด็กนักเรียนจำนวน 3 พันขึ้นไป หรือคิดเป็น 1% “
ดร.ชัยพฤกษ์ กล่าวว่า เรื่องนี้เรื่องใหญ่ แม้การจัดการศึกษาอาชีวะเอกชนจะหวังดีสำหรับประเทศร่วมสร้างคนสายอาชีวะ แต่ในเมื่อจำนวนเด็กน้อย ก็อยู่ไม่ได้ จึงถือเป็นปัญหาใหญ่ ที่ต้องแก้ไขเพราะหากปล่อยไว้ อาจต้องมีสถานศึกษาอาชีวศึกษาเอกชนต้องปิดตัวลง
"การที่อาชีวะเอกชนมีขนาดเล็กเกินครึ่ง ส่งผลต่อประสิทธิภาพการผลิตกำลังคนสายนี้อย่างแน่นอน” ดร.ชัยพฤกษ์ กล่าว และว่า หลังควบรวมอาชีวะรัฐเอกชน ตามคำสั่ง คสช.ที่ 8/2559 เรื่องการบริหารจัดการรวมสถานศึกษาอาชีวศึกษาภาครัฐและภาคเอกชน ลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2559 และได้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาแล้วนั้น ได้ตั้งเป้าว่า ปีการศึกษาหน้า ไม่อยากให้มีอาชีวะเอกชนแห่งใดเลย ต้องปิดตัวลงอีก
สำหรับจำนวนผู้เรียนที่เหมาะสมสำหรับอาชีวะนั้น เลขาธิการ กอศ. กล่าวด้วยว่า กำลังให้ทำวิจัยอยู่จำนวนผู้เรียนที่เหมาะสมสำหรับอาชีวะรัฐและเอกชน โดยเฉพาะอาชีวศึกษาของภาคเอกชน ควรมีผู้เรียนเท่าไหร่ถึงจะอยู่ได้ คือสามารถผลิตกำลังคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากตัวเลขผู้เรียนควรอยู่ที่ 300 คนนั้น สถาบันการศึกษาอาชีวศึกษาเอกชนที่มีผู้เรียนไม่ถึง 300 คน จำนวน 127 แห่ง ต้องปรับปรุงเร่งด่วน ภายใน 3-4 ปีนี้ ซึ่งต้องอยู่ที่งานวิจัยก่อนนำมาวางแผนต่อไป