อังกฤษไม่ให้ข้อมูลจีที 200 เหตุไทยยังใช้โทษประหาร! ป.ป.ช.ประสานขอใหม่
อังกฤษไม่ให้ข้อมูลปมจีที 200 เหตุไทยยังใช้โทษสูงสุดประหารชีวิตในคดีทุจริตอยู่ เตรียมประสาน อสส. ขอข้อมูลใหม่อีกครั้ง ยันเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญ
จากกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน กรณีกล่าวหา พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ปัจจุบันเป็น รมว.มหาดไทย กับพวก กรณีจัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด GT 200 โดยมิชอบ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างแสวงหาหลักฐาน โดยขอความร่วมมือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ประเทศอังกฤษเพื่อขอข้อมูลบริษัทที่จัดจำหน่ายนั้น
(อ่านประกอบ : ป.ป.ช.ส่อวืดเอาผิดจัดซื้อ"จีที 200" – ศาลฎีกายกฯ คดี"จักรทิพย์"ฟ้องพยานปล้นปืน)
ล่าสุด แหล่งข่าวระดับสูงจากสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงกรณีนี้ว่า สำนักงาน ป.ป.ช. ทำเรื่องประสานไปยังหน่วยงานจากประเทศอังกฤษแล้ว แต่ประเทศอังกฤษปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลดังกล่าว โดยอ้างว่า ประเทศไทยยังมีโทษสูงสุดในการประหารชีวิตสำหรับคดีทุจริตอยู่ ซึ่งประเทศอังกฤษมองว่า เป็นบทลงโทษที่ขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนในหลายประเทศ ทำให้การไต่สวนในชั้นคณะอนุกรรมการฯ เกิดปัญหาในการรวบรวมพยานหลักฐาน อย่างไรก็ดีมีข้อยกเว้นอยู่คือ หากประเทศไทยไม่ได้ลงโทษโดยการประหารชีวิตเลยเป็นระยะเวลาประมาณ 10 ปี อาจสามารถขอข้อมูลดังกล่าวได้ เพราะถือว่าในทางปฏิบัติแล้วไม่ได้มีการประหารชีวิตจริง ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยไม่ได้ประหารชีวิตนักโทษคนไหนมาเกือบ 8 ปีแล้ว กระทั่งเมื่อไม่กี่ปีก่อนเพิ่งมีการประหารชีวิตนักโทษรายหนึ่ง จึงต้องนับเวลาใหม่อีกครั้ง แต่ไม่ว่าอย่างไรสำนักงาน ป.ป.ช. จะส่งเรื่องไปที่สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อประสานไปที่ประเทศอังกฤษอีกทีหนึ่ง เนื่องจากกรณีนี้สังคมให้ความสนใจ และพยานหลักฐานในส่วนนั้นถือว่ามีส่วนสำคัญ
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ นายวิชัย วิวิตเสวี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. (ปัจจุบันเกษียณแล้ว) และประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนกรณีดังกล่าว เปิดเผยว่า การไต่สวนคดีนี้ค่อนข้างลำบาก เนื่องจากเป็นเรื่องลึกลับ แน่นอนว่าประสิทธิภาพของจีที 200 ไม่ได้เรื่อง แต่การจะวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ทุจริตหรือไม่ ยังต้องการอะไรมากกว่าเรื่องของประสิทธิภาพ เพราะเรื่องการตัดสินใจและเจตนาการจัดซื้อของเจ้าหน้าที่พิสูจน์ลำบาก
ส่วนการแสวงหาพยานหลักฐาน ก็มีข้อขัดข้องทางเทคนิค โดยเฉพาะการขอความร่วมมือไปยังบริษัทที่จำหน่ายในประเทศอังกฤษ ก็ปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลต่อ ป.ป.ช. อย่างไรก็ตาม จะพยายามอย่างเต็มที่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีการไต่สวนกล่าวหาว่า มีการทุจริตจัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด GT 200 เกิดขึ้นเมื่อถูกพิสูจน์ในเวลาต่อมาว่าเป็นแค่อุปกรณ์ลวงโลก ไม่สามารถตรวจหาวัตถุระเบิดได้จริงตามที่โฆษณาสรรพคุณ ที่ผ่านมาประเทศอังกฤษดำเนินคดีกับบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายจนผู้บริหารติดคุกไปแล้ว แต่ในประเทศไทยยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช.