นักวิชาการเผยสถานการณ์ปัญหาหมอกควันปี 59 พบ ลำพูน แพร่ ลำปาง ค่าความเข้มข้นฝุ่นสูง
นักวิชาการเผย 3 จังหวัดภาคเหนือที่มีค่าความเข้มข้นฝุ่น 3 อันดับแรก ลำพูน แพร่ ลำปาง ชี้ปัญหาหมอกควันปี 59 มาเร็วกว่าปกติ เหตุมาจากนโยบายรัฐที่กำหนดวันเวลาในการเผาเศษวัสดุหลังทำการเกษตร แนะชาวบ้านจัดตั้งกองทุนสิ่งแวดล้อมและแก้ปัญหาด้วยตัวเอง
เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดเวทีTRF Forumสื่อสารความรู้จากงานวิจัยเพื่อนำไปใช้ในการแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศเรื่อง “ปัญหาไฟป่าและมลพิษจากหมอกควัน : เราพร้อมรับมือหรือยัง?” เพื่อรายงานสถานการณ์ปัจจุบัน พร้อมนำเสนอองค์ความรู้จากงานวิจัย ในการเตรียมความพร้อมรับมือปัญหาไฟป่าและมลพิษจากหมอกควันในภาคเหนือของประเทศไทย ณ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
ผศ.ดร.สมพร จันทระ นักวิจัยจากภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ ม.เชียงใหม่ กล่าวถึงสถานการณ์หมอกควันของปี 2559 ว่า ปัญหาหมอกควันในปีนี้จะมาเร็วกว่าทุกปี สืบเนื่องมาจากนโยบายของภาครัฐ ที่กำหนดวันเวลาในการเผาเศษวัสดุหลังการทำการเกษตร จึงทำให้เกษตรกรเร่ง “ชิงเผา” พื้นที่ของตัวเอง ดังนั้นตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พบว่ามีการจุดความร้อนและค่าความเข้มข้นของฝุ่นมาก จากข้อมูลของ กรมควบคุมมลพิษ พบว่า ปัจจุบันจังหวัดในภาคเหนือที่มีค่าความเข้มข้นของฝุ่น 3 อันดับแรกคือ ลำพูน แพร่ ลำปาง แต่มีตัวเลขที่ไม่แตกต่างกันมากนัก
ขณะที่ นายชาญ อุทธิยะ จากศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดลำปาง สกว. กล่าวว่า ในส่วนของไฟป่าที่เกิดขึ้นในพื้นที่ จ.ลำปางนั้น มาจาก 3 ปัจจัยหลักๆด้วยกันคือ “อาชีพ ความเชื่อ และ ความโลภ” อาชีพ ในที่นี้หมายถึงการทำการเกษตรของชาวบ้านที่ใช้วิธีการแผ้วถางป่า มากกว่าการไถกลบ ความเชื่อ คือ ชาวบ้านหลายคนยังมีความเชื่อมาตั้งแต่ดั้งเดิมโบราณว่า การจะทำให้เห็ดถอบหรือผักหวานขึ้นนั้นต้องต้องเผาที่ก่อน ส่วน ความโลภ นั้น หมายถึงความโลภของนายทุน ที่ลำพังชาวบ้านอาจแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเองได้ยาก ต้องอาศัยกลไกลและอำนาจจากภาครัฐเข้ามาช่วย
สำหรับในส่วนของอาชีพและความเชื่อนั้น นายชาญ กล่าวว่า ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น สกว. ได้ส่งเสริมให้ชาวบ้านเป็น “นักวิจัย” ที่เรียนรู้และเข้าใจปัญหาในพื้นที่ด้วยตัวเอง โดยการทำให้พวกเขาได้เรียนรู้ว่า มีวิธีการอื่นในการทำการเกษตรนอกจากการเผาป่านั่นคือการไถกลบ หรือถ้าเผาก็ควรกำหนดพื้นที่ในการเผา ด้านความเชื่อนั้น เราต้องทำให้ชาวบ้านเชื่อว่า วิธีการเผาไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องในการทำให้มีผลผลิต อย่างผักหวานเจริญเติบโตโดยราก ถ้าเผาที่ ผักหวานก็ไม่สามารถขยายพันธุ์ได้ เมื่อนักวิจัยชาวบ้านได้พิสูจน์ข้อเท็จจริงด้วยตัวเอง และมีการเก็บข้อมูลเปรียบเทียบพืชผลในพื้นที่ระหว่างตอนเผาป่าและไม่เผาป่า ก็พบว่าพืชพันธุ์ในพื้นที่ มีปริมาณเพิ่มขึ้น จึงทำให้พวกเขาพบข้อมูลเชิงประจักษ์ด้วยตัวเองว่า “การแผ้วถางป่าโดยวิธีการเผา ไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุดของการทำการเกษตรที่ยั่งยืน”
ด้าน รศ.ดร.นพ.พงศ์เทพ วิวรรธนะเดช จากภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ กล่าวว่า การจัดการปัญหาหมอกควันจะสำเร็จได้ ต้องอาศัยปัจจัยหลายส่วน ทั้งในเรื่องการสร้างความรู้หรือการทำงานวิชาการ การเคลื่อนไหวของสังคม และอำนาจรัฐ โดยในส่วนของการเคลื่อนไหวทางสังคมนั้น เห็นว่าชุมชนมีศักยภาพเพียงพอ ที่จะเป็นแกนหลักในการป้องกันปัญหาไฟป่าบริเวณนอกเขตป่าอนุรักษ์ หรือจัดตั้งกองทุนสิ่งแวดล้อมในชุมชน (กองทุนดับไฟป่า) โดยให้ชุมชนบริหารจัดการด้วยตนเอง ทางฟากฝั่งของภาครัฐ ควรมีนโยบายการเก็บภาษีบรรจุภัณฑ์พลาสติกให้สูงขึ้น เพิ่มค่าธรรมเนียมในการเก็บภาษีที่ดินรกร้าง เพื่อนำมาเป็นกองทุนในการป้องกันปัญหา เช่น นำเงินจากกองทุนไว้จ้างคนตัดหญ้า ฯลฯ รวมถึงมีการขับเคลื่อนให้เกิดกฎหมายป่าชุมชน”