ไขประเด็น คำสั่ง คสช.ยกเว้นผังเมืองทำลายหลักประกันการคุ้มครองสิทธิ ปชช.
"การยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายผังเมืองและกฎหมายควบคุมอาคาร เพื่อให้เกิดการจัดการพื้นที่โดยละเลยกระบวนการกลั่นกรองการพัฒนาที่ถูกต้องและเหมาะสมกับชุมชน อันเป็นการทำลายหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิชุมชนด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงยังขัดต่อเจตนารมณ์เดิมของ มาตรา 44"
20 มกราคม 2559 มีคำสั่ง ม. 44 แห่งรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ฉบับที่ 3/2559 และ ฉบับที่ 4/ 2559 โดยประกาศการยกเว้นการใช้บังคับกฎหมาย ว่าด้วยการผังเมืองและกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และยกเลิกการยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวม สำหรับการประกอบกิจการบางประเภทโดยอ้างว่า คำสั่งฉบับนี้ จะเป็นประโยชน์ในการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศต่อไป
คำสั่ง คสช.ทั้ง 2 ฉบับนี้ สร้างความงุนงงให้กับภาคประชาสังคม เอ็นจีโอ นักวิชาการ กับแนวทางมาตรการในพัฒนาประเทศภายใต้รัฐบาลคสช. โดยมองว่า การออกคำสั่งทั้ง 2 ฉบับนี้เป็นการเอื้อต่อนายทุนมากกว่าสิ่งที่ประชาชนคนไทยจะได้รับ โดยเฉพาะในเรื่องของการยกเลิกผังเมือง และการอนุญาตประกอบกิจการต้องห้ามได้ทั่วประเทศ
เมื่อเร็วๆ นี้ บนเวที ราชดำเนินเสวนา เรื่อง "เมื่อสิทธิชุมชนในรัฐธรรมนูญหายไป ชาวบ้านจะพึ่งพาใคร" นางสาวสุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม หรือ Enlaw ได้พยายามชี้ให้เห็นโดยเฉพาะในเรื่องของสิทธิของประชาชนคนไทยในการจัดสรรพื้นที่ชุมชน เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับวิถีชีวิตและสภาพแวดล้อมของตัวเอง ในนามกฎหมายผังเมืองรวม กับแนวทางการพัฒนาที่กลายเป็นการลดคุณค่าสิ่งเหล่านี้ไป จนแทบจะไม่เหลือเอาไว้ให้ส่งเสียง
แล้วผังเมืองคืออะไร...
ผังเมือง คือ การกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาเมือง รักษาชนบทในด้านการใช้ประโยชน์ ด้านการคมนาคม ขนส่ง ระบบสาธารนูปโภคและบริการ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของผังเมือง
ภารกิจของผังเมืองมีความสำคัญ ในการที่จะพัฒนาประเทศโดยกำหนดกรอบทิศทางที่เหมาะสม ทั้งในด้านกายภาพ สภาพพื้นที่ เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นความสำคัญของการมีผังเมือง จะต้องคำนึงถึงให้ครบทุกด้าน
ผังเมือง ประชาชน ชุมชนเกี่ยวข้องมีความสำคัญอย่างไร
กฎผังเมืองกำหนดว่า ประชาชน และชุมชนจะมีส่วนร่วมในการใช้ประโยชน์ที่ดินให้มีความเหมาะสมและแนวทางการพัฒนาที่ดินให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต และสภาพของชุมชน ดังนั้น ในกฎหมายผังเมืองก่อนที่จะประกาศผังเมือง จะมีกระบวนการที่ชัดเจนว่าจะต้องมีส่วนร่วมของภาคประชาชน มีสิทธิในการแสดงความคิดเห็น มีสิทธิในการคัดค้าน
หากการจัดวางผังเมืองไม่สอดคล้องกับการดำรงชีวิตและกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชนในพื้นที่นั้นๆ ผู้ที่จะใช้ประโยชน์ที่ดินทั้งหน่วยรัฐ เอกชนและประชาชน เมื่อจะมีการสร้างอาคารหรือประกอบกิจการใดๆ ในผังเมืองรวม จะต้องปฏิบัติตามกฎผังเมืองที่กำหนดไว้
ดังนั้นฐานของผังเมือง เมื่อกำหนดพื้นที่ขอบเขตเอาไว้เเล้ว หน่วยงานทุกหน่วยงานที่จะมีการอนุมัติใช้พื้นที่ จะต้องอิงกับกฎผังเมืองรวมว่า มีข้อห้ามในพื้นที่เหล่านั้นหรือไม่อย่างไร ผู้มีอำนาจทุกหน่วยงานต้องดูว่า ประเภทของอาคารที่ มีการยื่นขอก่อสร้าง เช่น หากมีบริษัทมาขอก่อสร้างโรงไฟฟ้า ต้องพิจารณาดูว่า พื้นที่ที่จะมีการก่อสร้างนั้นมีกฎผังเมืองรวมห้ามไว้หรือไม่ ถ้ามีการห้ามก็ไม่จำเป็นต้องมีการมาทำ EIA, EHIA เพราะในกฎผังเมืองห้ามไว้แต่แรกแล้ว ดังนั้นโครงการที่ยื่นขอก็จะไม่สามารถสร้างในพื้นที่นั้นๆ ได้
ชุมชนเองเมื่อเห็นว่า มีการใช้พื้นที่ผิดไปตามผังเมือง จะใช้สิทธิในการบังคับให้มีการปฏิบัติตามกฎที่มีการบังคับใช้แล้วได้
สิ่งสำคัญคือ บัญชีท้ายกฎผังเมืองรวม มีการกำหนดว่า พื้นที่ในโซนต่างๆ กำหนดให้มีหรือห้ามกิจการประเภทใดบ้าง เช่น โรงงานจำพวกโรงไฟฟ้า บ่อขยะ จะมีการกำหนดชัดเจน เมื่อมีการกำหนดเเล้ว หากมีการใช้ผิดประเภท ในกฎหมายผังเมือง มาตรา27 ซึ่งกำหนดในปฏิบัติตามกฎผังเมืองรวม กฎหมายตัวนี้เป็นกฎหมายเบื้องต้นในการคุ้มครองการใช้ประโยชน์ที่ดิน ที่ต้องสอดคล้องการชุมชน วิถีชีวิต ซึ่งประชาชนมีส่วนร่วม
แต่ขณะนี้กฎเหล่านี้ เธอบอกว่า กลับถูกยกเลิกไปโดยคำสั่ง คสช.
เมื่อผังเมืองเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาของ คสช.
ตามคำสั่งที่ 3/2559 เน้นที่เรื่อง ยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการผังเมืองในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ให้กระทรวงมหาดไทย เร่งออกกฎผังเมืองมาแทน
สมมุติว่าจังหวัดในเขตเศรษฐกิจพิเศษ มีเรื่องผังเมืองอยู่ ซึ่งถูกห้ามใช้ไปแล้ว และไปเร่งให้กระทรวงมหาดไทยออกกฎผังเมืองฉบับใหม่ โดยมีเงื่อนไขว่า ให้สอดคล้องกับการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ
ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ลองเปรียนเทียบกับเจตนารมณ์เดิมในการจัดทำผังเมืองรวมที่เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนและประชาชนเป้นหลัก การพัฒนาดังกล่าวจึงไม่สอดคล้องอย่างสิ้นเชิง
ต่อมา คำสั่งที่ 4/2559 ที่ยกเลิกการบังคับผังเมืองรวมในกิจการบางประเภท ซึ่งอ้างว่าเป็นคำสั่งที่จะนำมาพัฒนาเศรษฐกิจ พลังงานและสิ่งแวดล้อม คำสั่งนี้ มีผลใช้ทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทย ใช้บังคับตั้ง 20 มกราคม 2559 และเป็นคำสั่งจะมีผลต่อการออกกฎผังเมืองรวมในปีต่อไปด้วย
ผลของคำสั่งนี้ เธอชี้ว่า มีผลทำให้ กิจการที่เคยถูกห้ามประกอบกิจการในพื้นที่ผังเมืองรวมประเภท
1. คลังน้ำมันตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง
2. กิจการประเภท 88 จำพวกโรงไฟฟ้าต่างๆ กิจการที่เป็นการผลิต ขนส่งพลังงาน
3.กิจการลำดับที่ 89 คือ โรงงานผลิตก๊าซที่ไม่ใช่ก๊าซธรรมชาติ
4.กิจการลำดับที่ 101 คือโรงงาน ปรับปรุงคุณภาพของเสียรวม
5.กิจการลำดับที่105 โรงงานคัดแยก ฝังกลบขยะ
6.กิจการโรงงานลำดับที่ 106 โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการนำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ไม่ใช้แล้ว หรือของเสียจากโรงงานมาผลิตเป็นวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยผ่านกรรมวิธีการผลิตทางอุตสาหกรรม (โรงงานรีไซเคิล)
7. กิจการอื่นที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการกำจัดมูลฝอย
"จากคำสั่งฉบับที่ 4 กิจการทั้งหมดที่นี้จะถูกยกเว้นและสามารถสร้างที่ไหนก็ได้ ทำให้หน่วยรัฐสามารถอนุมัติกิจการทั้งหมดได้โดยไม่ต้องพิจารณาตามกฎหมายผังเมือง"
หลายฝ่ายมองว่า คำสั่ง คสช.ทั้ง 2ฉบับเป็นคำสั่งที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ในการดูเเล รักษาทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นการทำลายคุณค่าและหลักการมีส่วนร่วมของประชาชน ขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายผังเมืองที่กำหนดให้รัฐต้องรับฟังความคิดเห็นต่อการจัดสรรที่ดิน ให้สอดคล้องกับเจตจำนงของประชาชนในพื้นที่ ของการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสังคม
นอกจากนี้ยังขัดต่อเจตนารมณ์ของ มาตรา 44 ที่ให้อำนาจเพื่อสร้างความสงบเรียบร้อยในสังคม
จากเวทีเสวนา ชวนให้นึกถึงข้อเรียกร้อง 3 ข้อจากเครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและองค์กรภาคีอีกกว่า 100 องค์กร ที่มีต่อแนวทางการพัฒนาตามคำสั่งดังกล่าว
ข้อเรียกร้อง 3 ข้อ
1.การใช้อำนาจมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 มีเจตนารมณ์เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปในด้านต่างๆ การส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ หรือเพื่อป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทำอันเป้นบ่อนทำลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน
การที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีคำสั่งที่ 3/2559 และ 4/2559 โดยใช้อำนาจตามมาตรา 44 นั้นเครือข่ายฯ เห็นว่า คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2559 เป็นการเปิดทางให้มีการบริหารจัดการในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษโดยยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายผังเมืองและกฎหมายควบคุมอาคาร เพื่อให้เกิดการจัดการพื้นที่โดยละเลยกระบวนการกลั่นกรองการพัฒนาที่ถูกต้องและเหมาะสมกับชุมชน อันเป็นการทำลายหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิชุมชนด้านสิ่งแวดล้อม
2. การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ควรเป็นไปด้วยความรอบคอบคำนึงถึงศักยภาพหรือความสามารถพิเศษของคนในพื้นที่นั้น แต่กระบวนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษของรัฐบาลฉบับนี้กลับกลายเป็นการเปิดโอกาสให้กับนายทุนได้รับสิทธิพิเศษด้านต่างๆ มากมาย อีกทั้งยังมีคำสั่งพิเศษ คสช.เปิดทางให้กลุ่มทุนมีการประกอบกิจการโดยไม่ต้องคำนึงถึงผังเมือง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของคนไทย การดำเนินการแบบนี้จะไม่นำไปสู่การปฏิรูปดังที่รัฐบาลกล่าวอ้าง
3.ที่ผ่านมาประเทศไทยได้มีการวางทิศทางการพัฒนาตามแนวนโยบายแห่งรัฐโดยกำหนดหลักการพัฒนาต้องเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน รวมทั้งการจัดทำผังเมืองเพื่อประโยชน์ในการดูเเลและรักษาทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน และกฎหมายผังเมืองก็ได้ทำหน้าที่ให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่ที่เหมาะสม แบ่งเขตการพัฒนาด้านต่างๆ ตามลักษณะภูมิประเทศในแต่ละจังหวัด คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อให้เกิดความสมดุลมากที่สุดและเป็นมาตรการที่สำคัญสำหรับประเทศในปัจจุบัน โดยสอดคล้องกับการพัฒนาของโลก
แต่ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเดินสู่ความล่าหลัง ด้วยการยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายผังเมืองทั่วประเทศในกิจการโรงงานบางประเภท เช่น โรงไฟฟ้า โรงงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยะฯ ด้วยการประกาศคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 4/2559 เครือข่ายฯ จึงมีความเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวของ คสช. จะก่อให้เกิดความวุ่นวายตามมาในบ้านเมือง การใช้อำนาจอิทธิพลจะเพิ่มมากขึ้นหลายเท่าตัว อันเป็นการก้าวเดินที่ผิดพลาดอย่างร้ายแรงของรัฐบาลและคสช.
นอกจากนี้ทางเครือข่ายฯ ยังเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกคำสั่งทั้ง 2 โดยเร็ว เพื่อรักษาความสงบในสังคมอย่างแท้จริง ท้ายที่สุดแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจ กับความยั่งยืนและคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนจะเดินสู่จุดใด.