ไอเอส: อารยะโชว์โปรดักชั่น!
บางมิติของการอธิบายความหมายของการก่อการร้าย ปฏิเสธไม่ได้ว่าสงครามก่อการร้ายก็คือ "สงครามอสมมาตร" รูปแบบหนึ่ง เพราะคู่สงครามมีศักยภาพทางทหารเทียบกันไม่ได้เลย ทำให้ฝ่ายที่มีศักยภาพน้อยกว่า เลือกใช้ยุทธวิธี "ก่อการร้าย" เพื่อต่อกรกับกองทัพอันเกรียงไกร
เนื้อแท้ของการก่อการร้ายก็คือ การปฏิบัติการใดๆ เพื่อสร้างความหวาดกลัวให้แพร่หลายในหมู่ประชาชน ด้วยหวังผลกดดันให้รัฐหรือคู่ต่อสู้ปรับเปลี่ยนนโยบายไปตามความต้องการของกลุ่มตน
แม้การก่อกำเนิดของ “กลุ่มรัฐอิสลาม” หรือ ไอเอส ที่บานปลายกลายเป็นสงครามในอิรักและซีเรีย จะปรากฏภาพว่าไอเอสเป็นกองทัพขนาดใหญ่ มีอาวุธยุทโธปกรณ์มากมาย แต่ถึงอย่างไรก็ไม่อาจเทียบแสนยานุภาพของกองทัพสหรัฐ หรือรัสเซียได้อยู่ดี
ทว่าประเด็นที่น่าจับตาก็คือ ไอเอสยืนสู้และท้าทายประเทศมหาอำนาจมาได้ยาวนานหลายปี ซ้ำยังดำรงความน่าสะพรึงด้วยการก่อเหตุรุนแรงขนาดใหญ่ได้เป็นระยะ โดยเฉพาะ “ระเบิดพลีชีพ” หรือ “ระเบิดฆ่าตัวตาย” รวมทั้งการโจมตีที่ไม่ได้หวังเอาชีวิตรอด จนเกิดคำถามว่าเหตุใดจึงมีนักรบยอมตายถวายชีวิตให้ไอเอสมากมายถึงเพียงนี้
ความต่างของไอเอสกับกลุ่มก่อการร้ายอื่นๆ ก็คือความสามารถในการใช้ “โซเชียลมีเดีย” หรือ “สื่อสังคมออนไลน์” ทั้งในการสร้างภาพลักษณ์ของพวกตนให้ดูน่าหวั่นกลัวยิ่งกว่าภาพจริง และการปลุกระดมให้กลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะคนหนุ่มฉกรรจ์ชาวมุสลิมจากพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก เข้าร่วมรบภายใต้ธงไอเอส
ว่าที่ ร.ท.อภิสิทธิ์ ไชยประสิทธิ์ เลขานุการเครือข่ายการพัฒนาองค์ความรู้การก่อการร้ายและการก่อความไม่สงบ โรงเรียนเสนาธิการทหารบก มองปรากฏการณ์ไอเอสว่า เป็นการปรับกระบวนทัศน์การต่อสู้ครั้งใหญ่ของกลุ่มก่อการร้าย
“ต้องยอมรับว่าการก่อการร้ายในปัจจุบันมีความซับซ้อนและมีหลากหลายรูปแบบมาก ผิดกับเมื่อก่อนที่มุ่งโจมตีไปที่ตัวบุคคล ทำลายความเชื่อ และทำลายระบบ ซึ่งอาจเรียกรวมๆ ว่าการโจมตีทางกายภาพ หากผู้ก่อการร้ายทำลายเป้าหมายได้ก็ถือว่าประสบความสำเร็จ”
“แต่จากที่ผมได้ศึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ พบว่าผู้ก่อการร้ายในปัจจุบันไม่ได้เน้นโจมตีไปที่ด้านกายภาพเพียงอย่างเดียว แต่ในโลกออนไลน์ก็มีการโจมตีเช่นกัน เพราะเมื่อใดที่ทำให้ความเป็นอยู่ของประชาชนหรือเป้าหมายอยู่อย่างหวาดกลัว และไม่มีความสุข ก็จะสามารถทำให้กลุ่มผู้ก่อการร้ายมีข้อต่อรองในการเรียกร้องจากรัฐได้”
“เมื่อประชาชนไม่มีความสุข เกิดความไม่พอใจ และออกมาเรียกร้อง ก็จะเข้าทางกลุ่มผู้ก่อการร้ายในการเข้ามาปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบทางการเมืองขึ้นได้ เห็นได้จากปรากฏการณ์ในหลายๆ ประเทศที่บานปลายกลายเป็นความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เพราะทุกมิติของงานความมั่นคงมีความสอดคล้องกันหมด”
จากการศึกษาของ ว่าที่ ร.ท.อภิสิทธิ์ พบว่า การโจมตีผ่านโลกไซเบอร์ ไม่ว่าจะเป็นการโจมตีระบบอย่าง “แฮ็คเกอร์” การปล่อยไวรัสเข้าไปทำลายระบบคอมพิวเตอร์ หรือแม้แต่การใช้โซเชียลมีเดียในการปลุกระดมความเชื่อ หรือเพื่อสร้างความแตกแยก กลายเป็นเครื่องมือที่สามารถเปลี่ยนแปลงความคิดคนได้อย่างรวดเร็ว ทำให้สังคมมีปัญหา อันเป็นความต้องการพื้นฐานของกลุ่มก่อการร้าย
หากมองลึกไปถึงกลุ่มไอเอส ว่าที่ ร.ท.อภิสิทธิ์ บอกว่า สาเหตุที่กลุ่มรัฐอิสลาม หรือไอเอส เลือกใช้ช่องทางสื่อออนไลน์ในกระจายข้อมูลข่าวสารและพฤติกรรมความโหดร้าย เพราะช่องทางการโจมตีด้านเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยนี้ครอบคลุมการโจมตีทั้งหมด ทั้งการโจมตีที่ตัวบุคคล ทำลายความเชื่อ และการทำลายระบบ
“ต้องยอมรับว่าโลกออนไลน์มีความสำคัญต่อชีวิตประจำวันในระดับที่เป็น ‘สังคมโลกเสมือนจริง’ ไปแล้ว โซเชียลมีเดียจึงกลายเป็นคำตอบที่กลุ่มรัฐอิสลามต้องการในการเผยแพร่แนวคิด อุดมการณ์ และข้อมูลข่าวสารต่างๆ เขาคิดว่าหากสามารถนำภาพเหตุการณ์ความรุนแรงมาเผยแพร่บนโลกโซเชียลมีเดียได้ ก็จะทำให้คนทั่วโลกได้เห็นในสิ่งที่เขาทำ ซึ่งจะส่งผลกระทบกับความรู้สึกของคน ทั้งในด้านลบ คือความหวาดกลัว และในด้านบวกของไอเอส คือทำให้คนที่เห็นด้วยในแง่ความเชื่อและศาสนา เกิดแรงบันดาลใจและพร้อมที่จะเข้าร่วมกับไอเอส”
ว่าที่ ร.ท.อภิสิทธิ์ อธิบายต่อว่า การระดมนักรบของไอเอสมีหลายระดับ แยกไปตาม “สาร” จากสื่อที่ส่งถึงกลุ่มเป้าหมาย
เช่น กลุ่มโฮมโกรว์น ซึ่งหมายถึงครอบครัวมุสลิมที่อพยพหรือถูกกวาดต้อนเข้าไปอาศัยอยู่ในยุโรปหรืออเมริกาหลายชั่วอายุคน จากยุคล่าอาณานิคม แต่ยังรู้สึกแปลกแยก หรือเป็นพลเมืองชั้นสอง คนเหล่านี้แม้เกิดในประเทศที่เจริญแล้ว ซึ่งรุ่นพ่อรุ่นแม่ของตนก็ตั้งรกรากอยู่ แต่ก็มีความรู้สึกเกลียดประเทศและรัฐบาลของตน “สาร”ของไอเอสที่ส่งถึงคนกลุ่มนี้ ก็จะเป็นเรื่องความไม่เท่าเทียมของมุสลิม หรือการที่มุสลิมในบางพื้นที่ของโลกถูกรังแกโดยชาติมหาอำนาจ ซึ่งนัยหนึ่งก็หมายถึงชาติที่คนเหล่านี้อาศัยอยู่นั่นเอง
กลุ่ม “โลน วูล์ฟ” หรือ หมาป่าเดียวดายที่ออกล่าเหยื่อ หมายถึงคนที่มักอยู่คนเดียว รู้สึกแปลกแยกจากสังคม “สาร” ของไอเอสที่ส่งถึงคนกลุ่มนี้ก็จะเน้นอุดมการณ์และการก่อความรุนแรงเพื่อทลายกำแพงหรือความอัดอั้น ทำให้คนเหล่านี้มีความมั่นใจและพร้อมจะออกปฏิบัติการคนเดียว
กลุ่มคนที่มีการศึกษาสูง ไอเอสก็จะเน้นเผยแพร่แนวคิดการสร้างรัฐอิสลามบริสุทธิ์ ที่ตรงกับหลักคำสอนทางศาสนา และเป็นดินแดนอุดมคติที่ทุกคนก็ใฝ่ฝันอยากมี
“สารแต่ละแบบจะถูกจัดทำและปรุงแต่งเนื้อหาให้เกิดความน่าสนใจ น่าติดตาม รวมถึงปฏิบัติตามได้ ถือเป็นพลังอำนาจในการสื่อสารที่กลุ่มรัฐอิสลามนำมาใช้”
ว่าที่ ร.ท.อภิสิทธิ์ บอกอีกว่า การสร้างกระแสให้เกิดในโซเชียลมีเดียไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เพราะไอเอสมีสมาชิกหลากหลายที่ถูกคัดเลือกมา และมีผู้ที่เชี่ยวชาญด้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ หรือไอที โดยเฉพาะ แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ
1.คนที่ดูแลในส่วนของเนื้อหาที่จะนำเสนอ รวมถึงสามารถพัฒนาเนื้อหาได้อย่างต่อเนื่อง เมื่อดูภาพความรุนแรงที่ไอเอสนำเสนอผ่านเว็บไซต์ YouTube จะพบว่ามีความน่าสนใจ และมีโปรดักชั่นระดับมืออาชีพ อาจเรียกได้ว่าเป็น “อารยะโชว์ โปรดักชั่น”
2.ทีมโซเชียลมีเดียที่คอยวางแผนนำเนื้อหาที่ถูกคิดขึ้นนั้น นำเสนอตามช่องทางต่างๆ ในโลกออนไลน์ เช่น มีการโปรยคำสั้นๆ ล่วงหน้าถึงเหตุการณ์ที่จะก่อเหตุ ทั้งในทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ค เช่นคำว่า “โชคดีนะ...ปารีส” หรือแค่การโพสต์รูปหอไอเฟล ก็สามารถสร้างความตื่นตระหนกให้กับคนทั่วไปได้แล้ว
“เหตุการณ์โจมตีกลางกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อ 13 พ.ย.58 มีการใช้สื่อออนไลน์ที่ชัดเจน เพราะ 72 ชั่วโมงก่อนเกิดเหตุ ได้มีการโพสต์ข้อความและรูปภาพที่ทำให้นักวิเคราะห์สามารถระบุสถานที่ก่อเหตุได้บนทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ค”
“ส่วนสาเหตุที่ไอเอสไม่ลงมือทันที แต่ค่อยๆ ปล่อยข้อความหรือรูปภาพออกไปทางโซเชียลมีเดียทีละน้อยในลักษณะที่เป็นซีรี่ส์ย่อยๆ นั้น ก็เพื่อต้องการประกาศให้โลกได้เห็นว่า เขาพร้อมที่จะทำภารกิจ รวมถึงเป้าหมายที่จะก่อเหตุไม่ใช่แค่พื้นที่ที่เป็นฐานที่มั่น แต่สามารถปฏิบัติการที่ไหนก็ได้บนโลกใบนี้ อันจะส่งผลทางจิตวิทยาของคนทั่วโลก ดังนั้นการโจมตีทางโซเชียลมีเดียจึงเป็นการหนุนเสริมยุทธวิธีก่อการร้ายให้ประสบผลสำเร็จมากขึ้นนั่นเอง”
ส่วนมาตรการในป้องกันของภาครัฐ โดยเฉพาะการรับมือกับสงครามผ่านสื่อออนไลน์นั้น ว่าที่ ร.ท.อภิสิทธิ์ บอกว่า มาตรการที่ทั่วโลกกำลังใช้อยู่ในขณะนี้เป็นไปในลักษณะของการตรวจสอบและปิดกั้นข้อมูลที่อาจเชื่อมโยงกับการก่อการร้าย แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ การทำให้ประชาชนรู้เท่าทันในการใช้สื่อออนไลน์ รวมถึงต้องคิดไตร่ตรอง วิเคราะห์ และแยกแยะข้อมูล ก่อนจะตัดสินใจโพสต์หรือแชร์ภาพและข้อความ
“ผมเชื่อว่าทุกประเทศในโลกกำลังเร่งพัฒนาและให้ความรู้ในการใช้สื่อต่างๆ แก่ประชาชน ซึ่งถือว่าเป็นขั้นตอนป้องกันในระดับพื้นฐานที่ดีที่สุด แต่ก็ต้องมีหน่วยงานจากภาครัฐที่ทำหน้าที่เฝ้าระวังและตรวจสอบอย่างจริงจังด้วย”
ว่าที่ ร.ท.อภิสิทธิ์ กล่าวทิ้งท้ายโดยไม่ต้องสรุปว่าประเทศไทยมีความพร้อมในเรื่องเหล่านี้หรือยัง!