พล.ท.นักรบ : มาราฯกำลังสร้างเครดิต ไม่ได้เพิ่มอำนาจต่อรอง
แม้ข่าวในทางเปิดจะค่อนข้างเงียบ สำหรับเวทีพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ "โต๊ะใหญ่" ระหว่างคณะพูดคุยฝ่ายรัฐบาลไทยที่นำโดย พล.อ.อักษรา เกิดผล กับกลุ่ม "มารา ปาตานี" เพราะการพบปะพูดคุยอย่างเป็นทางการว่างเว้นมานานหลายเดือน
ทว่าในมิติของการขับเคลื่อนผ่านภาคประชาสังคมและหน่วยงานที่รับผิดชอบในพื้นที่ยังคงคึกคัก โดยเมื่อวันเสาร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ 2559 เพิ่งมีการเปิดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้นำท้องถิ่นในจังหวัดปัตตานี ตัวแทนฝ่ายรัฐมี พล.ท.นักรบ บุญบัวทอง ขึ้นเวทีบรรยายพิเศษต่อหน้าผู้นำท้องถิ่นและผู้สื่อข่าวจากส่วนกลางที่ลงพื้นที่ในช่วงสุดสัปดาห์นั้น
พล.ท.นักรบ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 5 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักกร (รอง ผอ.ศปป.5 กอ.รมน.) และยังเป็นหนึ่งในคณะทำงานพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย
เรียกว่าเป็นคีย์แมนคนสำคัญและเป็นมือขวาของ พล.อ.อักษรา เลยก็ว่าได้...
พล.ท.นักรบ กล่าวตอนหนึ่งว่า การพูดคุยเจรจาเพื่อยุติปัญหาความขัดแย้งไม่ว่าจะที่ใดในโลก เป็นเรื่องค่อนข้างยาก เพราะการจะให้คนเกลียดกันมานั่งคุยกันไม่ใช่เรื่องง่าย การพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เช่นกัน ด้วยเหตุนี้ในระยะเริ่มต้นจึงต้องให้ทั้งสองฝ่ายมีจุดร่วมการพูดคุยซึ่งกันและกันก่อน
“การพูดคุยเจรจามีเป้าหมายเพื่อให้คู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายเข้าใจกัน ซึ่งเป็นการยุติความขัดแย้งแบบสันติวิธีที่ทั่วโลกใช้กัน เพราะคนที่มีความคิดเห็นแตกต่างมีอยู่ทั่วไป ทั้งด้านการเมืองและศาสนา” พล.ท.นักรบ ระบุ
ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่เอื้อต่อความสำเร็จของการพูดคุย คือ ความต่อเนื่องทางการเมือง ซึ่ง พล.ท.นักรบ เห็นว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยมีเสถียรภาพทางการเมืองน้อย มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลบ่อยครั้ง ทำให้ความต่อเนื่องของการแก้ไขปัญหาไม่เกิดขึ้น สำหรับรัฐบาลชุดนี้มีนโยบายชัดเจนในการจัดการปัญหา ปีที่แล้วยอดการเสียชีวิตลดลงอย่างเห็นได้ชัด เพียงแต่ประชาชนทั่วไปไม่ได้เห็นข้อมูล ฉะนั้นการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนจึงมีความสำคัญ ต้องช่วยกันเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ให้ประชาชนทราบ
ต่อจากนั้น พล.ท.นักรบ ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ทีมข่าวอิศรา” โดยตอบคำถามหลายข้อที่น่าสนใจ ดังนี้
O การพูดคุยเพื่อสันติสุขที่ผ่านมา ฝ่ายมารา ปาตานี ดูจะพยายามสร้างอำนาจต่อรอง เช่น เข้าพบเลขาธิการโอไอซี (องค์การความร่วมมืออิสลาม) เพื่อขอสถานะผู้สังเกตการณ์ในโอไอซี หรือการอ้างว่าผลิตจรวดแสวงเครื่องใช้โจมตีในพื้นที่ เหล่านี้เป็นสัญญาณลบต่อการพูดคุยเจรจาหรือไม่?
ผมมองว่าเรื่องที่ถามมาไม่ใช่การสร้างอำนาจต่อรอง เป็นเพียงแค่การสร้างให้คนยอมรับในตัวเขา เป็นเรื่องปกติ เพราะช่วงแรกของการพูดคุยยังมีความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกันอยู่ เขาจึงต้องหาอะไรต่างๆ ออกมาเป็นแค่การสร้างเครติด แต่ไม่ใช่การสร้างอำนาจต่อรอง
O ข้อเสนอเบื้องต้นของแต่ละฝ่าย เช่น เรื่องแพคเกจยุติธรรม หรือการนำร่องสร้างพื้นที่ปลอดภัย มีความคืบหน้ามากน้อยแค่ไหน?
หากการพูดคุยครั้งหน้าทั้งสองฝ่ายทำกรอบข้อตกลงร่วมกันเสร็จสิ้น ก็จะมีโมเดลในเรื่องเหล่านี้เข้ามา แต่ยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำ อย่างเรื่องพื้นที่ปลอดภัย ต้องใช้เวลาหลายเดือนในการทดสอบศักยภาพและเตรียมหาพื้นที่
O ขณะนี้รัฐบาลกำลังเผชิญปัญหาการเมือง จะส่งผลให้การพูดคุยส่อยื้อออกไปอีกหรือไม่?
คิดว่าการพูดคุยจะไม่ยืดเยื้อ เพราะรัฐบาลชุดนี้ทำงานด้วยความชัดเจน ท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้วางนโยบายด้วยตัวเอง รวมถึงสั่งการให้คณะพูดคุยฯและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้เร็วที่สุด
ทัพ 4 เปิดแผนปฏิบัติการ 4591 สร้างพื้นที่ปลอดภัย
แม้การสร้าง “พื้นที่ปลอดภัย” ที่จะเป็นความร่วมมือกันระหว่างคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯฝ่ายรัฐบาลไทยกับมารา ปาตานี จะยังไม่เกิดขึ้น แต่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบการแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่ ได้เดินหน้าเรื่องนี้ไปแล้ว
เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา กอ.รมน.ภาค 4 สน.ได้จัดกิจกรรมพบปะพัฒนาสัมพันธ์สื่อชายแดนใต้ ที่โรงแรมซี.เอส. ปัตตานี โดยมี พล.ท.มณี จันทร์ทิพย์ รองผอ.รมน.ภาค 4 สน. เป็นประธาน และมีการเสวนาเรื่อง “บทบาทสื่อกับโครงการประชารัฐร่วมใจสร้างอำเภอสันติสุข” จากฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ และผู้เห็นต่างจากรัฐ
โครงการประชารัฐร่วมใจสร้างอำเภอสันติสุข ดำเนินการจัดตั้ง 5 อำเภอสันติสุขนำร่องในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย อ.บาเจาะ และ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส, อ.หนองจิก จ.ปัตตานี, อ.ยะหา จ.ยะลา และ อ.นาทวี จ.สงขลา ก่อนจะขยายพื้นที่เป้าหมายให้ครบทั้ง 37 อำเภอใน 4 จังหวัดในระยะต่อไป โดยใช้พลัง "ประชารัฐ" หรือ รัฐจับมือกับประชาชนเป็นธงนำ
กอ.รมน.ภาค 4 สน.ได้กำหนดแนวทางการปฏิบัติ โดยผนึกกำลังร่วมกัน 3 ฝ่ายคือ ภาครัฐซึ่งมีตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครองเป็นหลัก, ภาคประชาชน มีผู้นำศาสนา ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น, และกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ รวมเป็น 3 ฝ่าย เพื่อ "ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมทำ และร่วมประเมินผล" ตามยุทธศาสตร์ประชาชนมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน โดยกำหนดให้ศูนย์ปฏิบัติการอำเภอ (ศปก.อำเภอ) ที่มีนายอำเภอเป็นหัวหน้า เป็นศูนย์กลางการทำงานในระดับพื้นที่ มีผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งเป็นผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด เป็นผู้ขับเคลื่อนแผนงาน รวมทั้งมีหน่วยเฉพาะกิจทหารพราน และสถานีตำรวจภูธรประจำพื้นที่ร่วมปฏิบัติงานในลักษณะบูรณาการ โดยสร้างพื้นที่ปลอดภัยอย่างยั่งยืน มีเป้าหมายการทำงาน 4 ข้อคือ
1.ยุติความรุนแรง 2.ลดความขัดแย้งและเงื่อนไขหล่อเลี้ยงความรุนแรง 3.ประชาชนทุกเชื้อชาติศาสนาสามารถอยู่ร่วมกันได้ภายใต้ความแตกต่างและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และ 4.ขจัดภัยแทรกซ้อน โดยเฉพาะยาเสพติดให้ลดลง เน้นการสร้างชุมชน หมู่บ้านเข้มแข็ง ปลอดเหตุร้าย ปลอดยาเสพติด และมุ่งหมายเพื่อสร้างความปรองดองสมานฉันท์ ช่วยเหลือจุนเจือ เชิญชวนมาแก้ปัญหาร่วมกัน
ในปีงบประมาณ 2559 พล.ท.วิวรรธน์ ปฐมภาคย์ แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.รมน.ภาค 4 ได้มอบนโยบายในเรื่องนี้ และเริ่มต้นดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2558 มีการร่วมกแถลงแผนและมอบนโยบาย ตลอดจนแนวทางการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการ 4591 “ประชารัฐร่วมใจ สร้างอำเภอสันติสุข” โดยร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อแสดงเจตนารมณ์เสริมสร้างพลัง “ประชารัฐร่วมใจ สร้างอำเภอยะหาสันติสุข” ที่สนามหน้าที่ว่าการอำเภอยะหา จังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 5 ธ.ค.2558
นายเอก ยังอภัย นายอำเภอหนองจิก 1 ใน 5 อำเภอนำร่องของโครงการ กล่าวว่า เห็นแสงสว่างในการแก้ปัญหาแจ่มชัดขึ้น โดยปัจจัยความสำเร็จคือการมีส่วนร่วมของประชาชน
“ทุกคนเป็นเจ้าของประเทศเท่ากัน ต้องออกมาแสดงพลังปกป้องประเทศ สิ่งสำคัญของการขับเคลื่อนคือความเข้าใจ ตระหนักรู้ ถ้าฟันเฟืองทุกตัวหมุนไปด้วยกันจะกลายเป็นพลัง วางสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตลง เปิดพื้นที่ เปิดโอกาส มีสัญญาณชัดคือการพูดคุยเพื่อให้เกิดสันติสุขให้ได้ ข้าราชการต้องเป็นหลักให้กับประชาชน บูรณาการการทำงาน ทั้งงบประมาณ ระบบ และคนให้เคลื่อนไปด้วยกันได้ ในเชิงพื้นที่ต้องบูรณาการกันเพื่อให้ประชาชนมั่นใจในนโยบายของรัฐ การจะขับเคลื่อนงานการเมืองและงานพัฒนา พื้นที่ต้องปลอดเหตุรุนแรง ผู้คนต้องปลอดภัย”
สำหรับ อ.หนองจิก มีผู้ติดหมาย พ.ร.ก. (หมายเรียกที่ออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548) จำนวน 180 คน มารายงานตัวแล้ว 112 คน นายเอก บอกว่า เมื่อปลดหมายแล้วเท่ากับปลดพันธนาการทางกฎหมาย ปลดเปลื้องพันธนาการทางจิตใจ เป็นสัญญาณว่าพื้นที่มีการรับรู้ สร้างความมั่นใจและไว้วางใจแก่ชาวบ้าน เมื่อประชาชนเชื่อมั่นว่ารัฐทำได้อย่างที่พูด ก็จะเป็นคำตอบสุดท้ายสำหรับการยุติความรุนแรงด้วยการพูดคุยและไว้วางใจซึ่งกันและกัน
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 พล.ท.นักรบ บุญบัวทอง
2 การเสวนาเรื่อง บทบาทสื่อกับโครงการประชารัฐร่วมใจสร้างอำเภอสันติสุข