ยูเอ็นพบเด็กแถบเอเชียแปซิฟิกกว่า 18 ล้านคนอยู่นอกระบบการศึกษา
สสค.-ยูเนสโก้-ยูนิเซฟ เดินหน้าโร้ดแม็พแห่งเอเชีย ‘พาเด็กนอกระบบ 18 ล้านคน’ คืนสู่ระบบการศึกษาสร้างกำลังคนคุณภาพป้อนระบบเศรษฐกิจภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) กล่าวว่า จากประสบการณ์กว่า 15 ปีขององค์การสหประชาติและประเทศสมาชิกกว่า 193 ประเทศในการทุ่มเททรัพยากร งบประมาณและมาตรการต่างๆ ในการสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals) ด้านการศึกษาให้บรรลุผลสำเร็จได้ แต่ปรากฏว่า ยังมีเด็กเยาวชนวัยเรียนมากกว่า 58 ล้านคนทั่วโลกที่ยังอยู่นอกระบบการศึกษาในปัจจุบัน โดยกว่า 18 ล้านคนอยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของพวกเรา ดังนั้นจึงต้องทำให้เป้าหมายแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก (Sustainable Development Goals: SDGs) ด้านการศึกษาครั้งนี้ประสบความสำเร็จภายในปี 2030 ได้จริง
นายอิชิโร มิยาซาวา ผู้เชี่ยวชาญด้านการรู้หนังสือและการเรียนรู้ตลอดชีวิต องค์การยูเนสโก กล่าวถึงเป้าหมายในการสร้างแผนยุทธศาสตร์การช่วยเหลือเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาแห่งเอเซียใน 4 ประเด็น ได้แก่ 1) ปัญหาที่ส่งผลต่อการหลุดออกนอกระบบการศึกษาในแต่ละประเทศ 2) กลไกการขับเคลื่อนดำเนินงานผ่านเครือข่าย/ภาคีทุกภาคส่วน 3) ปัจจัยสนับสนุนทั้งเชิงนโยบายและปัจจัยแวดล้อมทางสังคม และ 4) การแลกเปลี่ยนนวัตกรรมที่มุ่งแก้ปัญหากลุ่มเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษา
“การศึกษาเป็นหนึ่งในเป้าหมายข้อที่ 4 แห่งการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก จากผลสำรวจของยูเนสโกพบว่า หากไม่สามารถเพิ่มอัตราการเข้าเรียนของเด็กเยาวชนระดับประถมศึกษาจะส่งผลให้เกิดแรงงานไร้ทักษะเพิ่มขึ้น จนส่งผลให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศนั้นๆลดลงอย่างมากเช่น ประเทศติมอร์ เลสเต ที่ปัญหาเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาฉุดอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงถึงร้อยละ 4 ต่อปี”
ทั้งนี้ สสค.หนึ่งในภาคีร่วมจัดการประชุมนวัตกรรมการเรียนรู้เพื่อเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาแห่งเอเชีย ร่วมกับองค์การยูเนสโก องค์กรยูนิเซฟ และองค์กรภาคียุทธศาสตร์ระดับนานาชาติรวม 10 หน่วยงาน ระหว่างวันที่ 24-26 ก.พ.59 ณ ศูนย์ประชุมอิมแพค เมืองทอง
สำหรับประเทศไทย เป็นจุดเริ่มต้นของ “ปฏิญญาโลกว่าด้วยการศึกษาเพื่อปวงชน” หรือ “ปฏิญญาจอมเทียม” ที่เป็นจุดเริ่มต้นของเป้าหมายการศึกษาเมื่อปี 2533 ครั้งนี้จึงเป็นโอกาสในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางนโยบายและทางวิชาการระหว่างประเทศ รวมทั้งสร้างความตระหนักของสังคมต่อปัญหาเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษา โดยภายในงานมีผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษาจากทั่วประเทศ อาทิ ดร.นิโคลลัส เบอร์เน็ตต์ นักเศรษฐศาสตร์การศึกษารางวัลโนเบล ดร.กวาง โจ คิม ผู้อำนวยการยูเนสโก กรุงเทพฯ รศ.ดร.วรากรณ์ สาโกเศศ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นต้น