มหาอุทกภัย ได้เวลาฟื้น “วิสาหกิจชุมชน” ให้เศรษฐกิจรากหญ้าเข้มแข็ง
สิงหาคม 2554 ถ้ามีใครสักคนพูดว่าคนกรุงเทพจะอดข้าวอดน้ำ ต้องร้องขอความช่วยเหลือจากชนบทอย่างแน่นอน ทุกคนคงขำกลิ้ง แต่เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นจริงในอีกสองเดือนถัดมา
…………..
มหาอุทกภัยครั้งนี้ให้บทเรียนสำคัญมากมายหลายประการ โดยเฉพาะเรื่องความมั่นคงด้านอาหารและปัจจัยยังชีพอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำดื่ม ยารักษาโรค ยานพาหนะ อย่างเรือ ซึ่งเป็นที่ต้องการสูงสุดของคนกรุงเทพเมื่อเดือนที่ผ่านมา
ภัยธรรมชาติขนาดใหญ่คือตัวทดสอบระบบต่างๆของประเทศทุกระบบ ไม่จะเป็นการผลิตอาหาร การขนส่ง การสื่อสาร ฯลฯว่ามีความมั่นคง ยืดหยุ่น มีความสามารถรับมือภัยพิบัติมากน้อยขนาดไหน บทเรียนน้ำท่วมเมืองหลวงครั้งนี้พบว่า ระบบเศรษฐกิจมีความเปราะบางและต้องพึ่งพิงระบบโรงงานมาก เมื่อโรงงานปิด และเส้นทางคมนาคมถูกตัดขาด ผู้คนในกรุงเทพและทั่วประเทศก็ไม่มีข้าวสารกรอกหม้อ ไม่มีน้ำดื่ม ไม่มีส้วม ไม่มีข้าวของเครื่องใช้จำเป็น ต้องร้องขอเครื่องอุปโภคบริโภคเหล่านั้นจากคนต่างจังหวัด
สิ่งที่หลายฝ่ายพยายามคิดออกแบบระบบเพื่อรับมือกับภัยพิบัติครั้งต่อไปคือ จะทำอย่างไรให้ระบบมีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น ทางเลือกในการเดินทางจะเป็นอย่างไร จุดรับส่งสินค้าสำรองจะเป็นอย่างไร ระบบการสื่อสารสำรองอยู่ที่ไหน ฯลฯ ปัญหาคือ ความแข็งแกร่งที่ว่านั้นเป็นความแข็งแกร่งที่อยู่บนการพึ่งพิงคนอื่นหรือแข็งแกร่งบนรากฐานของตนเองอยู่บนพื้นฐานของการพึ่งโรงงานหรือพึ่งชุมชน
เมื่อเราไม่มีข้าวสาร น้ำปลา น้ำดื่ม มาช่วยผู้ประสบภัย เราจะไปที่ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ชื่อภาษาอังกฤษ แต่ที่นั่นไม่มีสินค้า เพราะโรงงานโดนน้ำท่วม หรือแม้ว่าโรงงานจะผลิตสินค้าได้ แต่ไม่มีหีบห่อที่จะบรรจุเพราะโรงงานทำหีบห่อน้ำท่วม แม้ผลิตสินค้าได้ มีหีบห่อบรรจุ แต่ขนส่งไมได้เพราะถนนถูกตัดขาด ฯลฯ เรื่องราวเหล่านี้จะเกิดขึ้นอีกในอุทกภัยครั้งต่อไป (อีกไม่นานเกินรอ)
หน่วยจัดหาข้าวของทั้งหลาย ไม่เคยนึกถึงเลยว่าจะจัดหาอาหาร น้ำดื่มและเครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆจากธุรกิจชุมชนของชาวบ้าน
กรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งเป็นหน่วยงานรับจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนรายงานว่าปี 2554 มีวิสาหกิจชุมชนทั่วประเทศที่จดทะเบียนกว่า 77,000 แห่ง เป็นวิสาหกิจเกี่ยวกับการผลิตและแปรรูปอาหารถึงกว่า 9,400 แห่ง เสื้อผ้ากว่า 8,700 แห่ง สมุนไพรกว่า 1,600 แห่ง การผลิตพืชกว่า 18,000 แห่ง
วิสาหกิจชุมชนมีมากมายเกินพอไหมที่จะช่วยจัดส่งอาหารและน้ำดื่มให้ผู้ประสบภัย ทำไมเราจึงนึกถึงร้านค้าปลีกชื่อภาษาอังกฤษ แทนที่จะนึกถึงวิสาหกิจชุมชนในการจัดการข้าวของช่วยเหลือผู้ประสบภัย
คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน ระบุว่าวิสาหกิจชุมชนมีลักษณะสำคัญ 7 ประการคือ ชุมชนเป็นเจ้าของและดำเนินการ ผลิตมาจากกระบวนการในชุมชน โดยใช้วัตถุดิบ ทรัพยากร ทุนและแรงงานในชุมชนเป็นหลัก ริเริ่มสร้างสรรค์เป็นนวตกรรมชุมชน เป็นฐานภูมิปัญญาท้องถิ่น ผสมผสานภูมิปัญญาสากล มีการบูรณษการ เชื่อมโยงกิจกรรมต่างๆเป็นระบบ มีกระบวนการเรียนรู้เป็นหัวใจและพึ่งพาตนเองของครอบครัวและชุมชนเป็นเป้าหมาย
แทนที่จะวางแผนแค่โรงงานผลิตอาหาร น้ำดื่มอยู่ที่ไหนบ้าง กำลังการผลิตเท่าไหร่ จะขนส่งอย่างไร เพื่อที่จะรับมือภัยพิบัติ หน่วยงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยและขบวนองค์กรชุมชนเองต้องทำแผนที่ว่ามีวิสหากิจชุมชนด้านอาหาร น้ำดื่ม ยารักษาโรค ฯลฯ ทีไหนบ้างในประเทศนี้ เมื่อยามเกิดเหตุก็ติดต่อกับวิสาหกิจนั้นโดยตรง เพื่อจัดหาของไปช่วยผู้ประสบภัย ซึ่งจะทำให้เราได้ประโยชน์หลายทางคือ ได้ช่วยผู้ประสบภัยด้วย ทำให้วิสาหกิจของชุมชนมีรายได้ มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้นด้วย
ขบวนองค์กรชุมชนก็ต้องหันมาคิดอย่างจริงจังว่าต่อแต่นี้ การจัดหาสิ่งของช่วยผู้ประสบภัยจะต้องติดต่อวิสาหกิจชุมชนในท้องถิ่นและเครือข่ายองค์กรชุมชนก่อน ติดต่อโรงสีชุมชนเพื่อหาข้าวสาร ติดต่อโรงน้ำดื่มชุมชน ร้านสมุนไพรชุมชน แหล่งต่อเรือของชุมชน ฯลฯ เมื่อหาไมได้แล้วค่อยไปซื้อจากร้านค้า
แน่นอนว่าการติดต่อร้านค้าชุมชนเหล่านี้มีความยุ่งยากกว่าซื้อจากร้านค้าชื่อภาษาอังกฤษ คุณภาพอาจไม่สม่ำเสมอ ต้นทุนอาจแพงกว่านิดหน่อย กำลังการผลิตก็ไม่เพียงพอ นั่นเป็นเพราะว่าสังคมเราทอดทิ้งเศรษฐกิจชุมชนมายาวนานและสร้างระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพิงโรงงานมายาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ ภัยพิบัติครั้งนี้ควรทำให้เรานึกได้ว่า ข้าวปลาอาหารและเครื่องยังชีพที่จำเป็นทุกอย่างอยู่ในชนบท ผลิตมาจากชนบทและเราสามารถติดต่อกับผู้ผลิตที่เป็นองค์กรชุมชนในชนบทโดยตรง
ถ้าทำได้อย่างกว้างวขวาง นี่จะเป็นจุดเปลี่ยนเรื่องระบบเศรษฐกิจของชุมชนที่สำคัญยิ่ง
อย่างไรก็ตามการจัดหาข้าวของจากภายนอกช่วยผู้ประสบภัย ไม่ควรเน้นหนักอันดับแรกในแผนจัดการภัยพิบัติแบบพึ่งตนเอง กิจกรรมลำดับแรกคือการทำให้ทุกครัวเรือนสามารถพึ่งตนเองมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ก่อนน้ำมาทุกครัวเรือนต้องเตรียมข้าวสาร อาหารแห้ง เชื้อเพลิง ปลูกผัก เตรียมการเรื่องส้วม หาที่พักพิงสำรอง เตรียมเรือ สร้างสะพาน ฯลฯ ที่เหลือจากนั้นก็ให้องค์กรชุมชนในหมู่บ้านตำบล/ช่วยกันจัดแจง ซึ่งอาจหมายถึงที่พักรวม ที่พักสัตว์เลี้ยง โรงครัวรวม ธนาคารข้าวกลางของชุมชน ระบบน้ำดื่มสำรอง ฯลฯ
ถ้าทุกครัวเรือนเตรียมการ ทุกหมู่บ้าน ตำบลเตรียมการเสริม การช่วยเหลือจากภายนอกที่ต้องการจะมีน้อยมาก การจัดหาข้าวของจากโรงงานก็แทบไม่มี แต่อย่าลืมว่าการเตรียมการระดับครอบครัวและชุมชนที่ว่านั้น ควรจัดหาข้าวของจากวิสาหกิจชุมชน ขาดเหลืออย่างไรจึงหาจากโรงงานและร้านค้า
………....……
การจัดการภัยพิบัติของชุมชนแบบพึ่งตนเอง พึ่งวิสาหกิจชุมชนที่ว่านี้ คนส่วนใหญ่คงเห็นด้วยในหลักการ แต่น้อยคนนักที่จะนำไปปฏิบัติ เพราะรู้สึกว่ายุ่งยากและไม่เคยชิน
และน่าเสียดายหากจะยังจมอยู่กับโลกทัศน์ที่ว่า “การพัฒนาแบบพึ่งตนเองของชุมชนนั้นฉันเห็นด้วย ตราบใดที่ไม่กระทบกับผลประโยชน์ของฉันและพวกพ้อง”!
ที่มาภาพ : http://www.alro.go.th/alro/project/visahakit/difinition.htm