ม. 50 ร่างรธน.ใหม่ เอื้ออาชีวะ สอศ.แนะดีกว่านี้ต้องเขียนให้ชัด 'ปวช.เรียนฟรี'
สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เสนอเพิ่มบทบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ยันมาตรา 50 เอื้อต่ออาชีวะมาก แต่ควรระบุให้ชัดแทนการต้องไปตีความ
เมื่อเร็วๆ นี้ ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวในการประชุมสัมมนาผู้บริหารสถานศึกษาอาชีวศึกษาภาครัฐและภาคเอกชน “การบริหารจัดการรวมสถานศึกษาอาชีวศึกษาภาครัฐและภาคเอกชน” ณ วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี ถึงการที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้เสนอเพิ่มบทบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยเห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เอื้อต่ออาชีวะมากกว่าการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ดร.ชัยพฤกษ์ กล่าวว่า แม้ร่างรัฐธรรมนูญจะเอื้อต่ออาชีวะ แต่ก็อยากให้เขียนชัดๆแทนการต้องไปตีความภายหลัง จึงเสนอไปแล้ว ใช้ใน 7 ช่องทางที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) รับฟังความคิดเห็น
สาระสำคัญ ที่เสนอไป ดังนี้
1.ให้เขียนว่า รัฐต้องดำเนินการจัดการอาชีวศึกษาที่มีคุณภาพ อย่างทั่วถึง เพื่อตอบสนองความต้องการกำลังคนของประเทศอย่างเพียงพอ
2. ให้นักเรียนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ได้รับการศึกษาโดยไม่เรียกเก็บค่าใช้จ่าย
3. ให้ผู้ด้อยโอกาสได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเรียนสายอาชีวศึกษาตามความถนัดของตน
“ในร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา 50 บอกว่า เรียนฟรีแค่การศึกษาภาคบังคับ หรือแค่ม.3 ดังนั้น สอศ.เสนอว่า หากรัฐสนับสนุนอาชีวะจริงๆ ให้เขียนไปเลยว่า ปวช.เรียนฟรี”ดร.ชัยพฤกษ์ กล่าว และว่า ทราบมาว่า ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ที่กำลังร่างกันอยู่นั้น กำลังมีการนิยามการศึกษาภาคบังคับ คือ แค่การศึกษาระดับประถมศึกษา หรือ ป.6
ขณะเดียวกัน ในร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 50 แม้จะเขียนระบุ “สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการศึกษาตามความถนัดของตน” แต่ก็ต้องไปตีความ จึงเสนอเพื่อความมั่นใจ ให้เติมคำว่า “อาชีวศึกษา” เข้าไปด้วย
สำหรับร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หมวด 5 มาตรา 50 ระบุ "รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาภาคบังคับที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงโดยไม่เรียกเก็บค่าใช้จ่าย
รัฐต้องดำเนินการหรือจัดให้มีการศึกษาก่อนวัยเรียนที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง
รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับการศึกษาตามความต้องการในระบบต่าง ๆ รวมทั้งการศึกษาตลอดชีวิต และจัดให้มีการร่วมมือกันระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเอกชนในการจัดการศึกษาทุกระดับ โดยรัฐมีหน้าที่ดำเนินการ กำกับ ส่งเสริม และสนับสนุนให้การจัดการศึกษาดังกล่าวมีคุณภาพได้มาตรฐานสากล และดำเนินการให้ผู้ด้อยโอกาสได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการศึกษาตามความถนัดของตน ทั้งนี้ ตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งอย่างน้อยต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติและการดำเนินการและตรวจสอบการดำเนินการให้เป็นไปตามแผนการศึกษาแห่งชาติด้วย
การศึกษาทั้งปวงต้องมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ สามารถเชี่ยวชาญได้ตามความถนัดของตน และมีความรับผิดชอบต่อครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ"