เมื่อ 'องคมนตรี' วิพากษ์ร่างรธน.ฉบับมีชัย ว่าด้วยการแทรกแซงศาลยุติธรรม
"..การให้บุคคลที่มิใช่ผู้พิพากษามาปกครองผู้พิพากษา เปรียบเหมือนให้ผู้ที่มิใช่แพทย์มาตรวจรักษาคนไข้ ซึ่งผมเห็นว่า ย่อมไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างใดในการทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของศาลยุติธรรม และจะเป็นการแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่โดยอิสระของศาลและผู้พิพากษาด้วย .."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2559 ศาสตราจารย์พิเศษธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี และอดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 14 ของประเทศไทย ได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึงพี่น้องประชาชนชาวไทย เพื่อเสนอความเห็นเกี่ยวกับปัญหาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในเรื่องการกำหนดให้ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งไม่เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการตลุาการเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ที่อาจส่งผลทำให้บุคคลภายนอกสามารถเข้ามาแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของศาลได้
-----------------------------------
เรียน พี่น้องประชาชนชาวไทยที่รักและเคารพ
ตามที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญ และเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อปรับปรุงแก้ไขให้สมบูรณ์ต่อไปนั้น ผมในฐานะประชาชนชาวไทยคนหนึ่งซึ่งติดตามการร่างรัฐธรรมนูญมาโดยตลอด มีข้อคิดเห็นบางประการเกี่ยวกับบทบัญญัติว่าด้วยคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ดังต่อไปนี้
ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรก ที่มีอาจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญนั้น ได้กำหนดให้มีผู้ทรงคุณวุติซึ่งเป็นบุคคลภายนอกร่วมอยู่ในคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมด้วย ไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของกรรมการทั้งหมด (ร่างรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 225) เท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอก ซึ่งมิใช่ผู้พิพากษาศาลยุติธรรมเข้ามาแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่โดยอิสระของศาลได้ อีกทั้งไม่มีการกำหนดจำนวนที่แน่นอนแต่อย่างใด
และแม้ต่อมาจะมีการปรับปรุงแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฯ ฉบับดังกล่าว โดยบัญญัติให้องค์ประกอบ อำนาจหน้าที่ และวิธีการดำเนินการของคณะกรรมการบริหารงานบุคคลของผู้พิพากษาศาลยุติธรรมเป็นไปตามกฎหมายบัญญัติ (ร่างรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 207) เท่ากับเป็นการนำเรื่องนี้ไปบัญญัติอยู่ในกฎหมายลูก ซึ่งไม่มีหลักประกันใดเลยว่าจะไม่มีบุคคลภายนอกร่วมเป็นกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม
ส่วนร่างรัฐธรรมนูญฉบับหลัง ที่มีอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานนั้น เรื่องของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมปรากฎอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 191 ซึ่งบัญญัติว่า "การบริหารงานบุคคลเกี่ยวกับผู้พิพากษาศาลยุติธรรมต้องมีความเป็นอิสระ และดำเนินการโดยคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ซึ่งประกอบด้วยประธานศาลฎีกาเป็นประธาน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นข้าราชการตุลาการในแต่ละชั้นศาล และผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งไม่เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการตุลาการ บรรดาที่ได้รับเลือกจากข้าราชการตุลาการ ทั้งนี้ ตามกฎหมายบัญญัติ"
จะเห็นได้ว่าร่างรัฐธรรมนูฐฉบับนี้ กำหนดให้ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งไม่เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการตลุาการเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมได้ด้วย เท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกสามารถเข้ามาแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของศาลได้ อันจะกระทบต่อหลักประกันความเป็นอิสระของศาลและผู้พิพากษา และเป็นการขัดกับหลักยุติธรรม (THE RUIE OF LAW) ซึ่งเป็นเจตนารมณ์สำคัญที่ได้รับการรับรองไว้ในมาตรา 3 ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เอง
แม้ว่าในหลายประเทศจะมีระบบการตรวจสอบการทำหน้าที่ของศาลยุติธรรม แต่ก็มิได้หมายความว่าประเทศไทยจะต้องนำระบบประเทศอื่นมาใช้ทั้งหมด เนื่องด้วยในแต่ละประเทศย่อมมีแนวความคิดหรือพัฒนาการที่เป็นลักษณะเฉพาะของตนเองซึ่งเป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้ว
การจะเลือกรูปแบบหรือแนวความคิดของต่างประเทศมาใช้เพียงส่วนใดส่วนหนึ่ง โดยไม่ได้พิจารณาถึงบริบทหรือความเหมาะสม ย่อมไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใด
อีกทั้งระบบการบริหารงานศาลยุติธรรมโดยคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมของประเทศไทยนั้นเป็นระบบที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ ผ่านการคิดค้นและพัฒนาขึ้นโดยบรรพตุลาการของประเทศไทย เพื่อที่จะหาแนวทางในการอำนวยความยุติธรรมที่สุด
มิได้ลอกหรือนำแบบอย่างมาจากประเทศใด และการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมนั้นก็ยึดมั่นในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรมและมีความมุ่งมั่นตั้งใจมาโดยตลอด ไม่ปรากฎข้อบกพร่องผิดพลาดอันใด
เมื่อระบบของประเทศเรานั้นดีอยู่แล้วก็ควรจะรักษาไว้และพัฒนาให้เจริญก้าวหน้าต่อไป และเชื่อได้ว่าหากมีข้อร้องเรียนเรื่องการปฏิบัติหน้าที่แล้ว ศาลยุติธรรมหรือคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมย่อมจะต้องดำเนินการแก้ไขโดยเร็วที่สุด เพราะต่างก็มีอุดมการณ์ที่ยึดมั่นในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม ย่อมต้องรักษาไว้ซึ่งความบริสุทธิ์และยุติธรรมอยู่แล้ว ดังที่เคยได้ปฏิบัติตลอดมา
อีกทั้งคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมนั้นเป็นผู้ลิขิตชะตาชีวิตของผู้พิพากษาแต่ละคนโดยแท้ การที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ บัญญัติให้มีบุคคลภายนอกซึ่งไม่เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการตุลาการเข้าร่วมเป็นกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมนั้น เป็นการให้บุคคลที่มิใช่ผู้พิพากษามาปกครองผู้พิพากษา
เปรียบเหมือนให้ผู้ที่มิใช่แพทย์มาตรวจรักษาคนไข้ ซึ่งผมเห็นว่า ย่อมไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างใดในการทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของศาลยุติธรรม และจะเป็นการแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่โดยอิสระของศาลและผู้พิพากษาด้วย
ท้ายที่สุดนี้ เมื่อรัฐธรรมนูญต้องการที่จะปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนจากการใช้อำนาจรัฐในการบริหารราชการแผ่นดินแล้ว หากพิจารณาความเห็นของประชาชนคนไทยโดยทั่วไปที่ไม่มีอคติใดๆ ต่อวงการศาลยุติธรรมคงจะเห็นพ้องต้องกันว่า หลักประกันความเป็นอิศระของศาลที่เป็นอยู่ปัจจุบันโดยคณะกรรมการตลุาการศาลยุติธรรมซึ่งเป็นผู้พิพากษาทั้งหมดที่มีอุดมการณ์ยึดมั่นในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม และมีการฝึกฝนอบรมตลอดเวลาปฏิบัติหน้าที่ ย่อมเป็นผู้ที่น่าเชื่อถือและศรัทธามากกว่าบุคคลภายนอกซึ่งไม่มีจุดเกาะเกี่ยวใดๆ กับวงการศาลยุติธรรม
และหากกำหนดให้มีบุคคลภายนอกเข้ามาร่วมด้วยแล้ว ย่อมน่าคิดว่าบุคคลภายนอกนั้นเองอาจจะตกอยู่ภายใต้อิทธิพลทางการเมืองไม่มากก็น้อย เป็นที่น่าหวั่นเกรงจะนำไปสู่การแทรกแซงศาลยุติธรรมในที่สุด
ผมจึงยืนยันในความเห็นเดิมที่ว่า การบริหารงานของศาลยุติธรรมเป็นเรื่องภายในศาลยุติธรรม ควรจะเป็นหน้าที่ของข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมเท่านั้น ไม่สมควรที่จะกำหนดให้มีบุคคลภายนอกเข้าร่วมเป็นกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมแม้แต่เพียงคนเดียว
ด้วยความเคารพ
ศาสตราจารย์พิเศษธานินทร์ กรัยวิเชียร