ทนายชาวบ้าน แนะรัฐสร้างความเท่าเทียมดึงสิทธิในรธน. 50 กลับมา
ส รัตนมณี ย้ำ ไม่ใช่แค่เรื่องสิทธิชุมชนที่หายไปใน ร่างรธน. ฉบับมีชัย แต่ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ยังหายไปด้วย แนะรัฐหากจะสร้างความเท่าเทียมจริง ต้องนำหลักการ รธน.ปี 50 มาใช้
เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล ชั้น 3 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศ จัดเปิดเวที ราชดำเนินเสวนา หัวข้อ "เมื่อสิทธิชุมชนในรัฐธรรมนูญหายไป ชาวบ้านจะพึ่งพาใคร” โดย ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อมและสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
ในช่วงหนึ่งของการเสวนา นางสาว ส รัตนมณี พลกล้า ทนายความและ ผู้ประสานงานมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน กล่าวถึงประเด็นเรื่องสิทธิชุมชนในร่างรธน. ฉบับนี้ว่า สิทธิที่หายไปอย่าง ม. 66 ที่กำหนดว่า ชุมชนมีสิทธิที่จะกำหนด เจตจำนงค์ของตนในการรวมกลุ่ม เพื่อปกป้องทรัพยากร ในการดูเเลท้องถิ่น บำรุงรักษาและส่งเสริมวัฒนธรรมชุมชน และใน ม. 67 กำหนดว่า ชุมชนมีสิทธิที่จะเข้าไปมีส่วนในการในการแสดงความเห็น ฟ้องร้องหน่วยรัฐกับโครงการต่างๆ ที่จะเข้ามาในชุมชน ปรากฏว่ามาตราเหล่านี้ไม่ได้ถูกกำหนดขึ้นใน ร่างรธน.ฉบับนี้เลย
"สิทธิในการอนุรักษ์ ปกป้องคุ้มครองชุมชน ต่อให้มีข้อโต้แย้งบ้างจากทาง กรธ. ว่าสิทธิเหล่านี้ถูกบรรจุใน ม. 44 ที่กำหนดว่า ชุมชนมีสิทธิที่เข้าร่วมกับองค์ปกครองส่วนท้องถิ่นในการ อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและชุมชน คำถามคือว่า ชุมชนสามารถเข้าร่วมกับองค์กรส่วนท้องถิ่นได้แค่ไหน เพราะที่ผ่านอย่างกรณี โรงไฟฟ้าขยะที่เชียงรากใหญ่ หรือโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ชุมชนได้มีส่วนร่วมจริงๆ แค่ไหน"
"ในขณะที่ รธน.ปี 40และ 50 ได้ยอมรับในสิทธิของประชาชน และสิทธิชุมชนในการ มีส่วนร่วมกับรัฐในการดูเเลปกป้อง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และชุมชนของตนโดยไม่ต้องพึ่งพาใคร แต่รัฐมีหน้าที่ ที่จะต้องเข้ามาส่งเสริม ซึ่งรธน.ที่สองฉบับกำหนดไว้ชัดเจนในเรื่องของบทบาทและหน้าที่ "
นางสาว ส รัตนมณี กล่าวถึงกระบวนการที่ส่งเสริมชุมชนให้มีส่วนร่วมได้หายไปโดยเฉพาะ ม.56-57-58 ตามรธน.ปี 50 ว่าด้วยเรื่องสิทธิในการรับข้อมูลข่าวสาร ที่จะส่งผลกระทบกับตัวเองและชุมชน เรื่องสิทธิในการแสดงความคิดเห็นต่อรัฐ เรื่องเหล่านี้หายไป กลายเป็นหน้าที่ของรัฐ รัฐเท่านั้นจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะให้ข้อมูลหรือไม่ รัฐเท่านั้นมีหน้าที่จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เท่าที่ผ่านมาแม้ว่าจะมีการกำหนดสิทธิเรื่องนี้ชัดเจนอยู่เเล้วก็ยังพบความลำบากในการเข้าถึง
"ที่ผ่านมารัฐโต้แย้งมาตลอดว่าได้มีการให้ข้อมูลตามระเบียบทุกอย่าง ที่ในความเป็นจริง สิ่งที่รัฐทำคือ นำข้อมูลไปแขวนไว้ในเว็ปไซด์ ถามว่า ประชาชนที่ไม่มีความรู้ ไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตจะเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้อย่างไร เพราะขนาดนักวิชาการ นักกฎหมายเองยังต้องใช้เวลาในการเข้าถึง มิหนำซ้ำเอกสารเหล่านั้นยังถูกกำหนดว่าห้ามนำไปอ้างอิง" คุณ ส รัตนมณีกล่าวและว่า นี่คือปัญหา เพราะเมื่อสิทธิเหล่านี้กลายเป็นหน้าที่ของรัฐ อะไรจะเป็นสิ่งที่ประชาชนสามารถขึ้นมาเรียกร้องสิทธิได้ ยกตัวอย่างการดำเนินคดี สิ่งที่จะต้องมีการพิจารณาคือ เรามีสิทธิอะไร และเมื่อมีสิทธินั้นแล้ว สิทธิของเราถูกกระทบหรือไม่ แต่เมื่อเรื่องเหล่านี้กลายเป็นหน้าที่ของรัฐ ประชาชนจะเอาเรื่องอะไรมาฟ้อง เพราะหลักกฎหมายบ้านเรา จะเลือกพิจารณาตามสิ่งที่เขียนไว้เท่านั้น หากไม่มีการะบุเอาไว้ ก็ไม่สามารถนำมาใช้ได้ เพราะฉะนั้นหากไม่เขียนไว้เท่ากับว่าไม่มีสิทธิ
ปัจจุบันกับสถานการณ์หลายพื้นที่ที่มีการปะทะกับระหว่างกลุ่มคนของรัฐ กับประชาชนที่คัดค้านโครงการต่างๆ ประชาชน ชุมชนจะสามารถพึ่งพาอะไรได้บ้าง นางสาว ส รัตนมณี กล่าวว่าในรธน.ฉบับชั่วคราวปี 57 มีการพูดถึงเรื่องของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนไว้ใน มาตรา 4 ซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพโดยทั่วไป และสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ
แต่ในร่างรธน.ฉบับนี้ คำว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” หายออกไป ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ากลัว เพราะต่อไปประชาชนจะสามารถเอาอะไรเป็นหลักประกัน หลักประกันที่ว่าคือ ในร่างฯ กำหนดว่า สิทธิเสรีภาพของประชาชนได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ นั้นหมายความว่าถ้าไม่เขียนก็ไม่คุ้มครองหรือเปล่า และ ถึงแม้ว่าจะมีเขียนเอาไว้ว่า หากสิทธิต่างๆ ไม่มีถูกกำหนดใน รธน.นี้ สามารถอ้างสิทธิเสรีภาพได้ แต่ ในมาตรา 25ของร่างฉบับนี้เขียนไว้ว่า สิทธิเสรีภาพนั้นจะต้องไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นภัยอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ
"ถามว่าแล้วใครจะเป็นคนนิยามความมั่นคงของรัฐ ยกตัวอย่างเรื่องของพลังงานที่รัฐบอกว่าจำเป็นสำหรับประเทศ เป็นเรื่องของความั่นคงต้องเร่งสร้าง ดังนั้นการที่ประชาชนลุกขึ้นมาคัดค้านโครงการที่เป็นความมั่นคงของรัฐ จะถือว่าเป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพ ที่กระทบกระเทือน ความมั่นคงของรัฐหรือไม่" ทนายความด้านสิทธิชุมชน กล่าวและว่า ตอนนี้สิ่งที่เรากำลังพูดว่า สิทธิชุมชนหายไป จะไม่ใช่แค่เท่านั้น แต่จะรวมไปถึงการกำหนดว่าหากจะใช้สิทธิต้องไม่กกระทบความมั่นคงของรัฐ และทุกวันนี้รัฐจะทำอะไรก็อ้างแต่เรื่องความมั่นคงเท่านั้น หากเปรียบกับ รธน.ปี 50 และ 40 เรื่องเหล่านี้ไม่ได้ถูกกำหนดไว้ หากจะมีเพียงแค่เรื่องที่บอกว่า หากจะใช้สิทธิ สิทธินั้นต้องไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น
นางสาว ส รัตนมณี เผยว่าสิ่งที่น่ากังวลอีกเรื่อง คือใน ม. 270 ในร่างฉบับนี้ กำหนดว่า คำสั่ง คสช.ทั้งหมดที่ออกไป และที่จะมีขึ้นหลังจากนี้จนกว่าจะมีการเลือกตั้ง ให้มีผลบังคับใช้ตลอดไป เทียบเท่า รธน.
"หมายความว่าหากจะแก้ต้องไปแก้หลังจากนั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมากในการแก้ไข เพราะขั้นตอนเงื่อนไขที่ซับซ้อนมาก หากจะบอกว่าให้โหวตรับไปก่อนแล้วค่อยกลับมาแก้ไข จึงแทบเป็นไปไม่ได้"
สำหรับกรณีรัฐบาลออกมาชี้แจงว่า จะมีการพิจารณาเพิ่มในส่วนของสิทธิชุมชนนั้น คุณส รัตนมณี แนะว่า หากจะทำให้เกิดความเท่าเทียมอย่างแท้จริง ต้องนำเอาสิทธิทั้งหมดที่เคยเขียนไว้ใน รธน.ฉบับปี 50 กลับมา แบบนั้นถึงจะเท่ากับว่าเป็นการรับฟังความเห็นอย่างแท้จริง และไม่ใช่ว่าเมื่อมีเรื่องสิทธิกลับมาได้เเล้ว ร่างฉบับนี้จะผ่านได้ เพราะยังมีอีกหลายเรื่องที่จะเป็นปัญหา เช่นเรื่องรูปแบบการสรรหา การเลือกตั้ง เป็นต้น ฉะนั้น การเปิดเวทีรับฟังความเห็นจึงควรใช้เวลาให้มากกว่านี้ เพื่อให้สังคมได้มีข้อถกเถียง และนำไปสู่การเปลี่ยนในทางที่ดีตามเจตนารมณ์เดิมของ คสช.