จงรัก วัชรินทร์รัตน์:จะทำ มก.ให้เป็นมหาวิทยาลัยที่มีคุณธรรม มีความสุข
"...นโยบายการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยจะอาศัยหลักธรรมาภิบาล ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อกลายเป็นมหาวิทยาลัยแห่งความสุข มหาวิทยาลัยแห่งการวิจัย มหาวิทยาลัยระดับโลก มหาวิทยาลัยที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม มหาวิทยาลัยที่มีคุณธรรม ซึ่งการนำศาสตร์ข้างต้นจะช่วยให้คนในชาติอยู่ดีกินดี..."
ภายหลัง ‘ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์’ อดีตคณบดีคณะวนศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ (มก.) วัย 47 ปี ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้รักษาการอธิการบดี ม.เกษตรศาสตร์ คนที่ 3 สืบต่อจากรศ.ดร.บัญชา ขวัญยืน และดร.อนามัย ดำเนตร เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2559 ซึ่งจะดำรงตำแหน่งไปจนกว่าจะมีการสรรหาอธิการบดีตัวจริง!!! (อ่านประกอบ: :สภามก.เลือก ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดี)
โดยถือฤกษ์ดีวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2559 เข้าทำงานในวันแรก พร้อมกับเปิดห้องประชุม 9 ชั้น 2 อาคารสารนิเทศ 50 ปี จัดแถลงแนวทางการบริหารและพัฒนา ท่ามกลางสื่อมวลชนจากหลายแขนง ซึ่งมีนโยบายหลักมุ่งมั่นนำพามหาวิทยาลัยสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการ ชั้นนำของโลก ภายใต้การสร้างสรรค์ศาสตร์แห่งแผ่นดิน เพื่อการกินดีอยู่ดีและพัฒนาประเทศ (อ่านประกอบ:รักษาการอธิการบดี มก. โชว์ยุทธศาสตร์ ดันมหาวิทยาลัยเป็นเลิศด้านเกษตรโลก)
มีรายละเอียดพอสังเขป ดังต่อไปนี้ 1.งาน จัดทำยุทธศาสตร์และแผนการพัฒนามหาวิทยาลัย ระยะสั้น 4 ปี (พ.ศ.2559-62) ระยะกลาง 8 ปี (พ.ศ.2559-66) และระยะยาว 12 ปี (พ.ศ.2559-70), จัดทำร่างประกาศ ระเบียบ และข้อบังคับ เพื่อรองรับการบริหารและพัฒนามหาวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ.2558 และการปรับโครงสร้างองค์กร
2.เงิน จัดทำงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560 แบ่งเป็น จัดทำงบประมาณแผ่นดิน และจัดทำงบประมาณรายได้, ดำเนินงานเร่งรัดแก้ไขปัญหาด้านบัญชีและการเงิน ตามข้อคิดเห็นของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)
3.คน การเตรียมสรรหาอธิการบดี, การเตรียมการสรรหานายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยทุกประเภท, การเตรียมการได้มาซึ่งคณะกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัย และการเตรียมการได้มาซึ่งสภาพพนักงาน
4.ความเจริญงอกงามของ มก. การเตรียมการเปิดภาคเรียนภาคต้น ปีการศึกษา 2559 และภารกิจอื่น ๆ ที่สภามหาวิทยาลัยมอบหมาย อาทิ ศูนย์ยุทธศาสตร์อาเซียน ม.เกษตรศาสตร์, ศูนย์เกษตร อาหาร ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ม.เกษตรศาสตร์ เพื่อประเทศไทยและอาเซียน, ศูนย์ศึกษา วิจัย และพัฒนาด้านพลังงานทดแทน ม.เกษตรศาสตร์ และโครงการเกษตรศาสตร์อาศรม 2558
ดร.จงรัก เปิดเผยว่า นโยบายการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยจะอาศัยหลักธรรมาภิบาล ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อกลายเป็นมหาวิทยาลัยแห่งความสุข มหาวิทยาลัยแห่งการวิจัย มหาวิทยาลัยระดับโลก มหาวิทยาลัยที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม มหาวิทยาลัยที่มีคุณธรรม ซึ่งการนำศาสตร์ข้างต้นจะช่วยให้คนในชาติอยู่ดีกินดี ภายใต้พลังของนิสิต 7 หมื่นคน และบุคลากร สายวิชาการ และสายสนับสนุน 1 หมื่นคน สร้างสรรค์ผลงานผ่านการเรียนการสอน การวิจัย เพื่อเป็นมหาวิทยาลัยที่มีความน่าเชื่อถือของประเทศและเกิดการยอมรับในทั่วโลก โดยเฉพาะด้านการเกษตร
ทั้งนี้ การศึกษาไทยในปัจจุบันจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอนใหม่ เขาบอกว่า จากเดิมผู้สอนเป็นฝ่ายถ่ายทอด ต้องเปลี่ยนให้นิสิตศึกษาค้นคว้าเอง เพื่อจะมีความสนุกในการเรียนมากขึ้น เกิดความกระตือรือร้น และต้องสนับสนุนให้ใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ โดยอาศัยหลักการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ดังเช่น ภาวะโลกร้อน ฉะนั้นทำอย่างไรให้กระบวนการเรียนการสอนมีส่วนเชื่อมโยงกับเรื่องดังกล่าว เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า มีผลกระทบต่อมนุษย์และทรัพยากรธรรมชาติ
ดร.จงรัก ระบุต่อไปว่า นอกจากนี้จะทำอย่างไรให้มหาวิทยาลัยสามารถชี้นำสังคมได้ ยกตัวอย่าง อนาคตไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะเป็นผู้นำในเรื่องอาหารสุขภาพ สิ่งเหล่านี้ต้องปฏิบัติ ซึ่งมหาวิทยาลัยต้องปรับตัว โดยการน้อมนำศาสตร์แห่งพระราชา ผนวกกับศาสตร์แห่งแผ่นดิน ซึ่งมีโครงการในพระราชดำริฯ มากมาย ตลอดจนภูมิปัญญาท้องถิ่น ไม่ควรละทิ้ง
เมื่อถามว่า ขณะนี้ ม.เกษตรศาสตร์ได้รับผลกระทบจากจำนวนนิสิตลดลงเหมือนมหาวิทยาลัยอื่นหรือไม่ ผู้รักษาการอธิการบดี ตอบว่า หากถามถึงจำนวนนิสิตที่ลดลงยังไม่ชัดเจน เพราะมหาวิทยาลัยมีชื่อเสียง ดังนั้นผลกระทบจึงไม่เกิดขึ้นมากนัก แต่ในเรื่องคุณภาพของนิสิตลดลง โดยเฉพาะในวิทยาเขต เพราะนิสิตปัจจุบันไม่นิยมศึกษาในด้านเกษตรเท่ากับด้านอื่น ๆ เช่น บริหารธุรกิจ นิเทศศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ซึ่งสบายมากกว่า อย่างไรก็ตาม รากเหง้าของคนไทยมาจากภาคเกษตร ฉะนั้นจำเป็นต้องหาวิธีทำให้ศาสตร์เหล่านี้อยู่ในหัวใจของนิสิตให้ได้
“หากอนาคตมีจำนวนนิสิตลดลงจริง เพราะมหาวิทยาลัยเกิดขึ้นมาก มก.ต้องเน้นให้มีการวิจัยมากขึ้น และสามารถนำองค์ความรู้จากการวิจัยเหล่านั้นไปบริการสังคมได้ หรืออาจมีการตั้งบริษัทขึ้นมา ภายใต้ความร่วมมือกับภาคเอกชน พัฒนาเป็นสวนนวัตกรรม ผลิตสินค้าต่าง ๆ ยกตัวอย่าง ผลิตภัณฑ์จากจระเข้”
ดร.จงรัก กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อมหาวิทยาลัยออกนอกระบบจำเป็นต้องพัฒนาทรัพย์สินที่มีอยู่หารายได้เข้ามหาวิทยาลัย เพื่อไม่ให้กระทบต่อการขึ้นค่าเทอมของนิสิต ซึ่งไร่สุวรรณ เป็นหนึ่งในแนวทางการพัฒนาที่มีอยู่ ปัจจุบันมีคณะเกษตรดูแล เห็นการพัฒนาเปลี่ยนแปลงมากขึ้น โดยเฉพาะนมข้าวโพด ที่เป็นผลิตภัณฑ์หลัก ซึ่งจะหารือกับผู้รักษาการรองอธิการบดีอีกครั้งหนึ่ง เพื่อเสริมศักยภาพให้มีรายได้มากขึ้น อาจเพิ่มสาขาที่วังน้ำเขียวหรือไม่
“ในขณะที่มหาวิทยาลัยยังไม่มีอธิการบดีอย่างเป็นทางการ ซึ่งไม่ทราบว่าจะเมื่อไหร่ เพราะคงไม่ก้าวล่วงอำนาจศาล แต่จะพยายามทำงาน ทั้งนี้ ไม่อยากให้ยึดติดตัวบุคคล แต่ให้ยึดติดองค์กรแทน แม้ระหว่างนี้จะมีผลกระทบบ้างก็ตาม” คำกล่าวทิ้งท้ายของผู้รักษาการอธิการบดี คนที่ 3 ของ มก.
อ่านประกอบ:นายกสภา มก.หวั่นไร้อธิการบดีตัวจริง ทำองค์กรขาดการยอมรับภายนอก
จากศึกชิงเก้าอี้อธิการฯ ถึงเจ็ตสกี! ย้อนเส้นทาง 'บดินทร์ รัศมีเทศ' 1 ปีแห่งการต่อสู้