เครือข่ายภาค ปชช.จี้ ‘มีชัย’ บัญญัติหลักสิทธิชุมชนในร่าง รธน. สร้างความเป็นประชาธิปไตย
เครือข่ายภาค ปชช.ยื่นหนังสือถึง ‘มีชัย ฤชุพันธุ์’ จี้บัญญัติหลักสิทธิชุมชนใน ร่าง รธน. ให้ชัดเจน เหมือนฉบับปี 50 ชี้ที่ผ่านมาไม่ได้รับการคุ้มครอง เหตุระบบรวมศูนย์อำนาจรัฐมากเกิน หวังรื้อโครงสร้างใหม่ กระจายอำนาจ เกิดการมีส่วนร่วม
วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559 เครือข่ายฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (คฟส.) ประกอบด้วย องค์กรภาคประชาชน องค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ และข้าราชการ 100 องค์กร นำโดย นายกฤษฎา บุญชัย สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา เข้ายื่นหนังสือต่อ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เรื่อง ข้อเสนอการบัญญัติสิทธิประชาชนและชุมชนในด้านทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และสุขภาพในร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีนายชาติชาย ณ เชียงใหม่ กรรมการในคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เป็นผู้รับมอบ ณ อาคารรัฐสภา
นายกฤษฎา กล่าวว่า เครือข่ายฯ ต้องการให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญบัญญัติหลักการสิทธิชุมชนไว้ในร่างรัฐธรรมนูญเหมือนเดิมอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมารับทราบดีว่า ได้บัญญัติไว้ในหมวดหน้าที่ของรัฐ แต่มองว่ายังไม่เพียงพอ เพราะคำว่า หน้าที่ของรัฐ อาจเป็นการดูแลสิ่งแวดล้อม หน้าที่การพัฒนา ซึ่งอาจละเมิดสิทธิชุมชนได้ ซึ่งสิ่งที่อยากเห็น คือ ชุมชนมีสิทธิในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน พร้อมมีส่วนร่วมในการกำหนดโครงการนโยบายต่าง ๆ ดังที่ปรากฎในรัฐธรรมนูญ ปี 2550
โดยยกตัวอย่าง เช่น การประเมินสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Environmental Health Impact Assessment:EHIA) โดยอยากให้มีการจัดประชาพิจารณ์ผู้ได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึง ก่อนดำเนินโครงการ กิจกรรม หรือนโยบายต่าง ๆ และสิทธิที่ประชาชนฟ้องร้อง กรณีรัฐไม่ดำเนินการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมหรือละเมิดสิทธิของประชาชนและชุมชน เป็นต้น
นายกฤษฎา กล่าวต่อว่า ไม่เฉพาะสิทธิชุมชนเท่านั้น แต่เห็นว่าเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญยังเอื้อต่อการรวมศูนย์ของราชการค่อนข้างมาก จึงอยากเห็นการปรับแก้รัฐธรรมนูญในการรับรองสิทธิชุมชนทั้งระบบ ซึ่งต้องมีโครงสร้างรองรับ โดยการบัญญัติเรื่องสิทธิชุมชน มีองค์กรอิสระหรือกลไกคุ้มครองสิทธิของประชาชนและชุมชน ซึ่งที่มีอยู่แล้ว เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติ (กสม.) หรือคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) และเกิดองค์กรใหม่ ๆ
อีกทั้ง การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังไม่เห็นความชัดเจน เรื่องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นในหลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่จะมีบทบาทหน้าที่ดูแลด้านทรัพยากรสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือรูปแบบอื่น ๆ เช่น จังหวัดจัดการตนเอง และคาดหวังต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงออก ให้ข้อคิดเห็น หรือร่วมตัดสินใจ และโครงสร้างพรรคการเมือง ที่มานายกรัฐมนตรี และอื่น ๆ ต้องยึดโยงกับประชาชน เพื่อถ่วงดุลและประชาชนเข้าถึงได้
“เหตุที่สิทธิชุมชนและประชาชนไม่ได้รับการคุ้มครอง ไม่ใช่เพราะการไม่บัญญัติหน้าที่ของรัฐ แต่เป็นเพราะระบบรวมศูนย์อำนาจของรัฐ ที่ทำให้สิทธิเหล่านี้ไม่ได้รับการคุ้มครอง จึงอยากเห็นการปรับทั้งระบบ กระจายอำนาจ เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม และสร้างความเป็นประชาธิปไตย ทั้งนี้ ไม่อยากเห็นการปรับปรุงเพียงเล็กน้อย โดยแปะไว้บางมาตราว่า สิทธิชุมชนรับรองแล้ว แต่อยากเห็นการปรับโครงสร้างมากกว่า” นายกฤษฎา กล่าว
ด้านนางภารนี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการผังเมืองอิสระ กล่าวเพิ่มเติมว่า การผังเมืองเป็นเรื่องสำคัญ แต่ขาดไปทั้งในหมวดสิทธิประชาชน สิทธิชุมชน หรือแม้แต่นโยบายของรัฐ หรือการปกครองท้องถิ่น แต่กลับเพิ่มให้คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดังนั้นนำเรื่องนี้กลับมาในรัฐธรรมนูญให้ประชาชนมีสิทธิในการกำหนดการใช้ที่ดิน ให้สามารถจัดการตนเองที่มีรูปธรรมที่สุด
ขณะที่นายดิเรก เหมนคร เครือข่ายประชาชนชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ กล่าวว่า ต้องการให้ร่างรัฐธรรมนูญบัญญัติหลักการสิทธิชุมชนเหมือนเดิม เพราะเห็นบทเรียนจากโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในไทย มีการบรรจุให้มีการรับฟังความคิดเห็น แต่กลับจัดแบบฉ้อฉล ไม่ชอบธรรม และขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน
ด้านนายชาติชาย กล่าวว่า จะรับข้อเสนอและนำไปให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญทบทวนอีกครั้งหนึ่งในส่วนที่ให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น สิทธิชุมชน ปรับโครงสร้างกระจายอำนาจ เพื่อให้ครอบคลุมและเป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดหวังทำให้รัฐธรรมนูญตอบโจทย์ความคิดเห็นแตกต่างหลากหลายให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขได้อย่างไร เพื่อประเทศจะได้เจริญก้าวหน้า .