9 ข้อเสนอแนะอดีต สปช. 60 คน ชง กรธ.แก้ไขร่าง รธน.
“…ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีด้านดีอยู่ไม่น้อย และการร่างรัฐธรรมนูญไม่อาจทำให้ถูกใจทุกฝ่ายได้ อย่างไรก็ตามหวังว่าข้อเสนอเหล่านี้จะช่วยอุดจุดอ่อนของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ช่วยให้ร่างรัฐธรรมนูญมีความสมบูรณ์มากขึ้นก่อนที่จะนำไปเสนอสู่กระบวนการลงประชามติของประชาชน…”
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : เป็นข้อเสนอแนะแก้ไขและปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเป็นผู้ร่าง จากอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จำนวน 60 คน ดังนี้
----
เรื่อง ข้อเสนอแนะแก้ไขและปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. (ฉบับร่างเบื้องต้น)
กราบเรียน ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ
สิ่งที่ส่งมาด้วย ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างรัฐธรรมนูญฯ
ตามที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช... (ร่างเบื้องต้น) เสร็จเรียบร้อยและเปิดรับฟังความคิดเห็นโดยทั่วไปนั้น ทางอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติดังรายชื่อแนบท้ายซึ่งสนใจและติดตามศึกษาร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีข้อคิดเห็นและร่วมจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อเป็นประโยชน์กับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญและประเทศชาติโดยรวม จึงใคร่ขอเสนอข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะมาเพื่อการปรับปรุงให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ดังนี้
1. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มุ่งเน้นเพิ่มอำนาจรัฐ ให้รัฐเป็นใหญ่ เป็นผู้ดูแลประชาชนในทุกมิติ ดังปรากฏในหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ประชาชนมีหน้าที่ร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินการของรัฐ ซึ่งจะมีผลเป็นการลดทอนอำนาจ การมีส่วนร่วม และความกระตือรือร้นของประชาชน ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ขณะเดียวกับที่ร่างรัฐธรรมนูญเพิ่มอำนาจและบทบาทให้กับรัฐ เป็นที่น่ากังวลอย่างยิ่งที่มาตรา 60 ในหมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ กลับไประบุว่าบทบัญญัติในหมวดนี้ไม่ก่อให้เกิดสิทธิในการฟ้องร้องรัฐ
2. ร่างรัฐธรรมนูญไม่ปรากฏมาตราใดที่บัญญัติว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง” ซึ่งเคยปรากฏในรัฐธรรมนูญของไทยตลอดมา อันเป็นอุดมการณ์ของรัฐและหลักการที่สำคัญยิ่ง ซึ่งจะส่งผลต่อการใช้และการตีความสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากองค์กรตุลาการหากขาดฐานของหลักการดังกล่าว
3. สิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทยถูกทำให้ถดถอยลงไปมาก ไม่ว่าจะเป็นสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน สิทธิผู้บริโภค สิทธิสวัสดิการพื้นฐานของมนุษย์ หรือสิทธิชุมชน ทั้งนี้ การที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญระบุว่า สิ่งใดที่ไม่ได้ห้ามหรือจำกัดไว้ ถือเป็นสิทธิเสรีภาพตามธรรมชาติ ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพเต็มร้อย ประเด็นนี้จะนำมาสู่การถกเถียงกันในทางวิชาการอย่างมาก และจะเป็นประเด็นปัญหาซึ่งถึงที่สุดจะไม่เป็นไปตามที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญกล่าวอ้าง นอกจากนั้น ข้อบัญญัติเกี่ยวกับข้อจำกัดในการใช้สิทธิเสรีภาพตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะนำไปสู่ปัญหาการใช้สิทธิและเสรีภาพโดยรวมทั้งหมด
4. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังลดทอนความเข้มข้นในการปกป้องดูแลทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และสุขภาวะของประชาชน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ อาทิ ตัดข้อกำหนดเรื่อง “การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ” และ “องค์กรอิสระสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ” ออกไป ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการสร้างกระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะที่มีธรรมาภิบาล และลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ สุขภาพ และชุมชน
5. การย้ายเรื่องคลื่นความถี่ฯ จากหมวดสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทยไปอยู่หมวดหน้าที่ของรัฐ ไม่ว่าจะด้วยเจตนาใด อาจส่งผลให้คลื่นความถี่ฯกลับไปเป็นของรัฐ แทนที่จะเป็นทรัพยากรของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ และส่งผลกระทบต่อความเป็นอิสระขององค์กรกำกับดูแลฯ ขณะเดียวกันการขาดหายไปของมาตราที่เกี่ยวกับโครงข่ายขั้นพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคพื้นฐานของรัฐ (มาตรา 84 วงเล็บ 11 รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550) ก็น่าเป็นห่วงว่าจะเป็นการเปิดทางให้กับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ
6. เรื่องการกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่น ร่างรัฐธรรมนูญได้บัญญัติหลักการพื้นฐานการปกครองท้องถิ่นเอาไว้ แต่ยังขาดสาระสำคัญอันเป็นหัวใจในการวางหลักการเพื่อพัฒนาการปกครองท้องถิ่นไทย อาทิ ไม่กล่าวถึงการกระจายอำนาจเอาไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ การเติมเต็มกลไกการปกครองท้องถิ่นทั้งระดับชาติ ระดับจังหวัด และระดับต่ำกว่าจังหวัด ให้มีความเข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ
7. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ความสำคัญกับการบริหารกิจการที่ดีและหลักธรรมาภิบาล พอสมควร อย่างไรก็ตามเพื่อให้มั่นใจว่า หลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีจะสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง ควรที่จะได้พิจารณาย้ายสาระสำคัญของมาตรา 72 ที่ว่าด้วยการบริหารราชการแผ่นดินและงานของรัฐอื่น ๆ จากหมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ ไปอยู่ที่หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ เพราะจะมีสภาพบังคับและความหนักแน่นมากกว่า
8. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มุ่งขจัดปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้ตั้งฉายาว่าเป็นฉบับปราบโกง อย่างไรก็ตามเพื่อให้มาตรการและกลไกในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เห็นควรเพิ่มเรื่องการแสดงสำเนาแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ย้อนหลังเป็นเวลา 3 ปีของผู้ที่จะเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองและองค์กรอิสระเข้าไปด้วย ที่สำคัญจะต้องให้ความสำคัญกับบทบาทของประชาชนในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ รวมถึงการสร้างสังคมที่โปร่งใส
9. สำหรับเรื่องวัฒนธรรม ขอให้เพิ่มเข้าไปในหมวดหน้าที่ของรัฐด้วย นอกเหนือจากที่ปรากฏในหมวดสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย
อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติตามรายชื่อแนบท้ายนี้ตระหนักดีว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีด้านดีอยู่ไม่น้อย และการร่างรัฐธรรมนูญไม่อาจทำให้ถูกใจทุกฝ่ายได้ อย่างไรก็ตามหวังว่าข้อเสนอเหล่านี้จะช่วยอุดจุดอ่อนของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ช่วยให้ร่างรัฐธรรมนูญมีความสมบูรณ์มากขึ้นก่อนที่จะนำไปเสนอสู่กระบวนการลงประชามติของประชาชน
ขอแสดงความนับถือ
นายธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์
ตัวแทนอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ
รายนามผู้ลงชื่อท้ายจดหมาย
1. นายธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์
2. นายอุดม ทุมโฆษิต
3. นางสีลาภรณ์ บัวสาย
4. นางถวิลวดี บุรีกุล
5. นายวสันต์ ภัยหลีกลี้
6. นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์
7. นายธรรมรักษ์ การพิศิษฎ์
8. นายสิระ เจนจาคะ
9. นางสาวสารี อ๋องสมหวัง
10. นายประชา เตรัตน์
11. นายเขมทัต สุคนธสิงห์
12. นายจุมพล รอดคำดี
13. นางเบญจวรรณ สร่างนิทร
14. นางสาวรสนา โตสิตระกูล
15. นายบุญเลิศ คชายุทธเดช
16. นางอุบล หลิมสกุล
17. นางสาวอรพินท์ สพโชคชัย
18. นายประสาร มฤคพิทักษ์
19. นางสาวสุภัทรา นาคะผิว
20. นายสุธรรม ลิ้มสุวรรณเกษม
21. นายสุวัฒน์ วิริยพงษ์สุกิจ
22. นายเดชฤทธิ์ ปัญจะมูล
23. นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
24. นายฐิติ วุฑฒิโกวิทย์
25. นายทนงศักดิ์ ทวีทอง
26. นายอำพล จินดาวัฒนะ
27. นางสาวอ่อนอุษา ลำเลียงพล
28. นายชูชัย ศุภวงศ์
29. นายพงศ์โพยม วาศภูติ
30. นายกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์
31. นายศักดา ศรีวิริยะไพบูลย์
32. นายจิรวัฒน์ เวียงด้าน
33. นายชูชาติ อินสว่าง
34. นางสุกัญญา สุดบรรทัด
35. นายสุชาติ นวกวงษ์
36. นายธวัช สุวุฒิกุล
37. นายสืบพงศ์ ธรรมชาติ
38. นายโกวิทย์ ทรงคุณ
39. นายเทียนชัย ปิ่นวิเศษ
40. นายปรีชา เถาทอง
41. นายทรงชัย วงศ์สวัสดิ์
42. นายนิคม มากรุ่งแจ้ง
43. นายสายัณห์ จันทร์วิภาสวงศ์
44. นายชิตชัย จิวะตุวินันท์
45. นายวิทยา กุลสมบูรณ์
46. นายอดิศักดิ์ ภาณุพงศ์
47. นายณรงค์ พุทธิชีวิน
48. นายสุพร สุวรรณโชติ
49. นายโกวิท ศรีไพโรจน์
50. นายจรัส สุทธิกุลบุตร
51. นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ
52. นางสาวสมสุข บุญญะบัญชา
53. นายเชื้อ ฮั่นจินดา
54. นายนำชัย กฤษณาสกุล
55. นางกัญญ์ฐญาณ์ ภู่สวาสดิ์
56. นางสาวทัศนา บุญทอง
57. นายนิมิต สิทธิไตรย์
58. นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์
58. นายเฉลิมศักดิ์ อบสุวรรณ
59. นายสังศิต พิริยะรังสรรค์
60. นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์