กสม.หนุน 'สิทธิชุมชน' ตามเดิม ในร่าง รธน.ใหม่ หลักการไม่ต่ำกว่าฉบับปี 50
คณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนฯ เผยร่าง รธน.ต้องนำหลัก 'สิทธิชุมชน' กลับมาไว้ในหมวดสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ระบุหลักการสาระสำคัญต้องไม่ต่ำกว่า มาตรา 66 เเละ 67 ของ รธน.ปี 2550
สืบเนื่องจากการที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเบื้องต้นต่อสาธารณชนและเปิดรับฟังความคิดเห็น ตามที่ทราบกันโดยทั่วไปนั้น
นางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร กล่าวว่า คณะอนุกรรมการฯ ได้มีการประชุมพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวในประเด็นที่เกี่ยวกับสิทธิชุมชน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งที่ประชุมมีความเห็นและข้อเสนอแนะต่อการแก้ไขปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีข้อเสนอแนะที่สำคัญ คือ ขอให้นำหลักการของบทบัญญัติมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาบัญญัติแทนมาตรา 4 ในร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะเป็นการประกาศเจตจำนงของรัฐไทยในการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาค รวมทั้งรับรองหลักสิทธิมนุษยชนตามพันธกรณีระหว่างประเทศ
นอกจากนั้นควรรับรองสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยในเรื่องต่างๆ โดยยังคงหลักการไม่ต่ำไปกว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และ 2550 ควบคู่ไปกับการกำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐ ซึ่งจะทำให้การใช้สิทธิของประชาชนและการทำหน้าที่ของรัฐมีความสอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งได้รับการยอมรับจากประชาชนและประชาคมโลกยิ่งขึ้น
สำหรับเรื่องสิทธิชุมชน ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญได้ตัดบทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิชุมชนที่เกี่ยวข้องกับสิทธิการมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน รวมทั้งสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองรักษาและส่งเสริมให้ชุมชนอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีไปกำหนดเป็นหน้าที่รัฐ คณะอนุกรรมการฯ เห็นว่า ควรยืนยันกำหนดสิทธิชุมชนไว้ในหมวดสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยตามเดิม โดยมีหลักการและสาระสำคัญไม่ต่ำไปกว่าที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 66 และมาตรา 67 เคยรับรองไว้
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากขอบเขตของสิทธิชุมชนเกี่ยวข้องกับสิทธิในเรื่องอื่นๆ ด้วย ดังนั้น นางเตือนใจ กล่าวว่า เพื่อให้การใช้สิทธิชุมชนมีความสมบูรณ์ขึ้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ร่างรัฐธรรมนูญจะต้องรับรองสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยที่เกี่ยวเนื่องกับสิทธิชุมชน เช่น สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของราชการที่เกี่ยวข้องกับชุมชน สิทธิที่จะได้รับข้อมูล คำชี้แจงเหตุผลก่อนการอนุญาตโครงการก่อนการอนุญาตหรือการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใดที่อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมสุขภาพอนามัยคุณภาพชีวิตหรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดที่เกี่ยวกับชุมชน การมีส่วนร่วมในการวางแผนพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม ที่อาจมีผลกระทบต่อส่วนได้เสียสำคัญของประชาชน สิทธิการมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจของรัฐอันอาจมีผลกระทบต่อชุมชน เป็นต้น
สุดท้าย ในประเด็นเรื่องการปฏิรูปทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การสร้างความปรองดอง ฯลฯ ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของรัฐบาลและเป็นความคาดหวังของภาคส่วนต่างๆ คณะอนุกรรมการฯ มีข้อเสนอแนะว่า ควรกำหนดเป็นหมวดการปฏิรูปแทนการกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาล เพื่อให้เกิดกลไกรวมทั้งวางกรอบการปฏิรูปให้ชัดเจนยิ่งขึ้นและนำไปสู่การขับเคลื่อนได้อย่างแท้จริง .
ภาพประกอบ:เตือนใจ ดีเทศน์-เว็บไซต์นิตยสาร way