สพฉ. ห่วงผู้ป่วยโรคหัวใจ พบปีที่ผ่านมามีผู้ป่วยกว่าแสนคน
สพฉ. ห่วงผู้ป่วยโรคหัวใจ พบปีที่ผ่านมามีผู้ป่วยกว่าแสนคน ย้ำผู้ป่วยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ต้องได้รับการรักษาภายใน 3 ชั่วโมง พร้อมเปิดผลวิจัยผู้ป่วยส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 72 มีอาการที่บ้าน และกว่าครึ่งหยุดพักรออาการก่อนมารักษา ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงทำให้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น
นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวถึงสถานการณ์ของโรคหัวใจในประเทศไทยว่า ค่อนข้างน่าเป็นห่วง เพราะปัจจุบันมีสถิติของผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยในปีที่ผ่านมา มีผู้ป่วยฉุกเฉินที่เข้ารับการรักษาด้วยอาการทางโรคหัวใจรวม 130,942 คน แบ่งเป็น อาการหายใจลำบากติดขัด มากที่สุด 99,052 คน รองลงมา เจ็บแน่นทรวกอก 31,035 คน และหัวใจหยุดเต้น 855 คน
นอกจากนี้ยังมีอาการของโรคหัวใจที่น่าเป็นห่วงอีกประเภท คือ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ซึ่งเป็นภาวะที่หัวใจไม่สามารถส่งเลือดไปเลี้ยงสมองหรืออวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ทัน โดยผู้ป่วยฉุกเฉินดังกล่าว จำเป็นต้องได้รับยาละลายลิ่มเลือด หรือถ่างขยายหลอดเลือดหัวใจ เพื่อให้เลือดไหลกลับไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจให้เร็วที่สุดภายใน 6 ชั่วโมง ซึ่งจะช่วยลดเนื้อที่กล้ามเนื้อหัวใจตายและภาวะหัวใจล้มเหลว ทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสรอดชีวิตมากขึ้น และหากมาถึงภายใน 3 ชั่วโมงจะยิ่งมีโอกาสรอดมากกว่า 80%
นพ.อนุชา กล่าวอีกว่า ผ่านมาพบว่า ผู้ป่วยส่วนมากจะมาถึงช้ากว่า 3 ชั่วโมง ดังนั้น สพฉ. ร่วมกับ พ.ต.หญิงพัชราภรณ์ อุ่นเตจ๊ะ วิทยาลัยพยาบาลกองทัพบก และ รศ.ดร.ศิริอร สินธุ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยามหิดล จึงได้จัดทำวิจัย เพื่อพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน โดยสำรวจการให้บริการผู้ป่วยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน จากผู้ป่วย 540 คน 18 โรงพยาบาล ใน 5 ภูมิภาค พบว่า 72% ผู้ป่วยจะมีอาการที่บ้าน และเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิงถึง 3 เท่า นอกจากนี้ยังมีโรคประจำตัวเป็นโรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง อ้วนและเบาหวาน
“ส่วนใหญ่ผู้ที่พบเห็นมักจะเป็นคนในครอบครัว และขณะเกิดเหตุ ผู้ป่วยกว่า 50% จะหยุดพักเพื่อรอดูอาการก่อน ขณะที่อีก 23% จะรีบไปโรงพยาบาลหากอาการไม่ทุเลาใน 5 นาที โดยในจำนวนนี้มีเพียง 4% ที่มาโดยระบบการแพทย์ฉุกเฉิน หรือ โทรแจ้งสายด่วน 1669 เนื่องจากคิดว่าไปโรงพยาบาลเองจะเร็วกว่า แต่ความจริง ผู้ป่วยโรคดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาลเฉพาะ ที่มียาละลายลิ่มเลือด หรือโรงพยาบาลศูนย์ตติยภูมิโรคหัวใจ ดังนั้นหากไปผิด ก็จะยิ่งทำให้เสียเวลาเพิ่มขึ้น ซึ่งนั่นหมายถึงโอกาสรอดชีวิตก็ลดลงด้วย"
เลขาธิการ สพฉ. กล่าวว่า จากสถิติ พบว่า ผู้ป่วยที่มีญาติหรือมีผู้พบเหตุอยู่ด้วยใช้เวลาเฉลี่ยมาโรงพยาบาล 4 ชั่วโมง 38 นาที ส่วนผู้ป่วยที่อยู่คนเดียว จะใช้เวลามาโรงพยาบาลเฉลี่ย 5 ชั่วโมง 25 นาที สาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาไม่ทันใน 3 ชั่วโมง เป็นเพราะขณะเกิดอาการจุกแน่นหน้าอก ชาที่แขนซ้าย ก็มักจะปล่อยให้อาการรุนแรงมากขึ้น โดยจะรอพักให้หายเองหรือเป็นเพราะการช่วยเหลือของผู้พบเหตุไม่เหมาะสม คือมักแนะนำให้ผู้ป่วยหยุดพัก บีบนวด ให้กินยาแก้ปวด โดยไม่แจ้งสายด่วน 1669 ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีอาการหนักขึ้น ซึ่งตามหลักแล้วหากพบเห็นผู้ป่วยโรคหัวใจ จะต้องรีบโทรแจ้งสายด่วน 1669 ทันที และบอกอาการให้ชัดเจนซึ่งจะส่งทีมมาช่วยเหลือได้อย่างเหมาะสม
ดังนั้นเนื่องวันแห่งความรักนี้อย่าลืมดูแล “หัวใจ” ของคุณให้แข็งแรง โดยวิธีง่ายๆ คือ 1.ออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง 2.หลีกเลี่ยงอาหารรสหวาน มัน เค็ม เกินไป เพราะจะทำให้มีเกิดการสะสมไขมันในหลอดเลือด โดยควรรับประทานอาหารที่มีไขมันน้อย เช่น ผัก ปลา ผลไม้ และอาหารที่มีกากมาก ๆ 3. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพราะในบุหรี่มีสารนิโคตินและสารอื่น ๆ ที่จะทำอันตรายต่อผนังบุด้านในหลอดเลือด และยังทำให้หลอดเลือดหัวใจหดตัว 4. นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียดกับงาน 5.ควบคุมน้ำหนักไม่ให้อ้วนเกินไป และ 6. ตรวจเช็คสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง แต่ถ้ามีอาการเจ็บแน่นหน้าอกเป็น ๆ หาย ๆ ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที