ผอ.UddC ชี้คนกรุงเทพฯ รุ่นใหม่นิยมอยู่ห้องเล็ก มีพื้นที่สาธารณะพบปะ มากกว่าบ้าน
กรุงเทพฯ เเนวไหน ผอ.UddC ชี้เมืองหลวงไทยกำลังก้าวสู่ศตวรรษที่ 3 มุ่งสู่ระบบสัญจรทางราง ระบุคนรุ่นใหม่ค่านิยมเปลี่ยนชอบอยู่ห้องเล็ก ๆ มีพื้นที่สาธารณะพบปะ มากกว่าบ้านหลังใหญ่ ‘สฤณี’ หนุนขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ใช้จุดความคิดแตกต่างร่วมแก้ปัญหา
วันที่ 13-14 กุมภาพันธ์ 2559 กรุงเทพมหานคร ร่วมกับมิวเซียมสยาม, จักรพงษ์วิลล่า, โรงเรียนราชินี และ River Books จัดกิจกรรมเทศกาลแห่งความคิด BANGKOK EDGE บางกอกแหวกแนว ณ มิวเซียมสยาม, จักรพงษ์วิลล่า และโรงเรียนราชินี
โดยภายในงานมีกิจกรรมมากมาย หนึ่งในนั้น คือ การเสวนา เรื่อง กรุงเทพฯ แนวไหน มี ผศ.ดร.นิรมล กุลศรีสมบัติ ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC), น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการ นักเขียนอิสระ และนายศิระ ลีปิพัฒนวิทย์ นักกิจกรรมทางสังคม
น.ส.สฤณี กล่าวถึงปัญหาของกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน โดยเฉพาะการจราจร ว่ามีถนน 5,400 กิโลเมตร มีรถยนต์จดทะเบียน 8.6 ล้านคัน วิ่งได้ด้วยความเร็วเฉลี่ย 15-17 กิโลเมตร/ชั่วโมง นั่นหมายความว่า ประชากร 10 ล้านคน ในกรุงเทพฯ มีรถยนต์ขับเกือบทุกคน
ส่วนพื้นที่สีเขียว มีประมาณ 5 ตร.ม./ประชากร แต่จากการศึกษาของสถาบันอนาคตไทยศึกษา กลับพบว่า หากตัดต้นไม้ริมทาง เกาะกลางถนน หรือกำแพง ซึ่งไม่ถูกใช้งานออกไป คนกรุงเทพฯ จะเหลือพื้นที่สีเขียวใช้สอยเพียง 2.2 ตร.ม./ประชากรเท่านั้น
อีกปัญหาหนึ่ง คือ การจ้างข้าราชการและลูกจ้างจำนวนมาก น.ส.สฤณี กล่าวว่า ปัจจุบัน กทม.จ้างสูงถึง 9.7 หมื่นคน มากกว่ากรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ 2 เท่า และกรุงจาการ์ต้า ประเทศอินโดนีเซีย 1.5 เท่า ทั้งที่เมืองหลวงในสองประเทศดังกล่าวมีประชากรสูงเช่นกัน
ทั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า คนมักเข้ามาอาศัยอยู่ในเมือง เพราะเป็นฐานที่สร้างโอกาสทางรายได้ และพัฒนาทักษะสูงกว่าชนบท ฉะนั้น เศรษฐกิจสมัยใหม่ของกรุงเทพฯ ต้องขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม คือ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของผู้คนที่แตกต่างกันมาอยู่รวมกัน และใช้มุมมองที่แตกต่างกันนั้นแก้ปัญหาเดียวกัน ซึ่งจะกลายเป็นเมืองที่มีความเจริญได้
ด้าน ผศ.ดร.นิรมล กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2552 กรุงเทพฯ มีจำนวนสร้างอาคารชุดสูงกว่าบ้านจัดสรร เพราะคนทนต่อไปไม่ไหวแล้ว ในการมีชีวิต 1 เดือน 3 วัน ต้องนั่งอยู่ในรถของแต่ละปี ประกอบกับคนรุ่นใหม่มีค่านิยมเปลี่ยนแปลงไป ไม่ต้องมีบ้านหลังใหญ่ แต่อยากอยู่ในห้องเล็ก ๆ ที่สามารถออกมาพบปะสังสรรค์ในพื้นที่สาธารณะได้ เเละเวลานี้ยังเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ศตวรรษที่ 3 ของกรุงเทพฯ จากในอดีตสัญจรทางน้ำ สัญจรทางถนน และกำลังเข้าสู่สัญจรทางรางในอนาคต
ขณะที่นายศิระ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีโอกาสทำงานขับเคลื่อนรณรงค์เรื่องจักรยาน เพราะอยากให้เมืองเป็นมิตรกับจักรยานมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่ทุกคนขี่ได้ แต่ต้องหายใจสะดวก เพื่อสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ จะอยู่ร่วมกันได้ ทั้งนี้ ปัจจุบันมีสื่อสังคมออนไลน์หลายช่องทาง สามารถใช้สื่อสารให้คนร่วมกิจกรรม ดังเช่น การรณรงค์ให้เปลี่ยนตะแกรงฝาท่อ ป้องกันไม่ให้ล้อจักรยานติด โดยได้รับการแก้ไขจากหน่วยงานภาครัฐทันที
ทั้งนี้ ปัจจุบันทำแอปพลิเคชั่น ชื่อว่า ปั่นเมือง เพื่อให้ทุกคนนำเสนอข้อมูลต่าง ๆ ทั้งในเรื่องอำนวยความสะดวกในการใช้จักรยาน หรืออุปสรรคในการใช้จักรยาน ซึ่งนวัตกรรมนี้จะช่วยให้มีพลังข้อมูลมากขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เทศกาลแห่งความคิด BANGKOK EDGE บางกอกแหวกแนว จัดขึ้นตั้งแต่เวลา 12.00-24.00 น. มีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย อาทิ รวมหนังสั้น เรื่องเล่าจากหัวลำโพง มินิคอนเสิร์ต ฮิวโก้, อรอรีย์, กรีสซี่ คาเฟ่, ปาล์มมี่ เวิร์คช็อปการแกะสลักผักและผลไม้ สาธิตปรุงอาหารพม่า นวดแผนโบราณไทย หรือ พูดคุยกับ วีรพร นิติประภา นักเขียนซีไรต์ ปี 2558 เรื่อง ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต ความรักกับมายาคติ สามารถคลิกดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.bangkokedge.com .