“พนม บุตะเขียว” ใช้กฎหมายคุ้มครองปกป้องสิทธิชุมชน
การคุกคามสิทธิชุมชน วังวนการพัฒนาที่ปฏิเสธการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นมะเร็งร้ายสังคมไทยมาชั่วนาตาปี นักกฎหมายสิทธิฯใช้ตำรานิติศาสตร์ช่วยชาวบ้านผู้ถูกกระทำอย่างไร ติดตามได้จากสัมภาษณ์พิเศษชิ้นนี้
กลุ่มปกป้องสิทธิมนุษยชนหรือฮิวแมนไรท์วอช ระบุ หลายปีที่ผ่านมาการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคเอเชียนับวันจะทวีความรุนแรงขึ้น ไทยก็ติดอันดับความน่าเชื่อถือด้านนี้ที่ลดลงเช่นเดียวกัน เมืองสยามจึงกลายเป็นเมืองน่าเที่ยวแต่ไม่น่าอยู่ เส้นกราฟแสดงถึงการคุกคามสิทธิพุ่งสูงขึ้นทุกปี โดยเฉพาะการละเมิดสิทธิชุมชนที่ซ่อนเร้นมาในรูปแบบการพัฒนาโครงการต่างๆชาวบ้านผู้อยู่อาศัยในพื้นที่เดิมมาหลายชั่วอายุคนถูกฟ้องร้องดำเนินคดีมากมายหลายร้อยหลายพันคดี
ท่ามกลางความหวังที่เหลือเพียงน้อยนิด แสงสว่างอันริบหรี่ที่ปลายอุโมงค์ "เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน" จึงเป็นองค์กรอีกองค์กรหนึ่งที่เป็นที่พึ่งด้านกฎหมายของชาวบ้าน "ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา" สัมภาษณ์ “พนม บุตะเขียว” ผู้ประสานงานฝ่ายคดีเครือข่ายฯ ถึงที่มาที่ไปของการทำงาน
เครือข่ายนักกฎฏหมายสิทธิ์ฯเป้าหมายเพื่อความเป็นธรรมในสังคม
เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เกิดขึ้นจากการรวมตัวของนักกฎหมายและทนายความ ทำงานด้านสิทธิมนุญชนเพื่อส่งเสริมหลักนิติธรรม เพื่อความเป็นธรรมในสังคม ก่อตั้งขึ้นเมื่อประมาณปีพ.ศ. 2551 อาศัยงานด้านวิชาการและนำกฎหมายมาใช้เป็นเครื่องมือในการทำงาน ยึดหลักการทำงานใน 3 ประเด็น คือ เรื่องสิทธิชุมชน การต่อต้านซ้อมทรมาน และเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งในบริบทที่เกี่ยวเนื่องกับสิทธิชุมชนมีเรื่องราวมากมายที่ชาวบ้านเป็นผู้ถูกกระทำ เครือข่ายฯมีอาสาสมัครลงทำงานกับชาวบ้าน ให้คำปรึกษา ทำกฎหมายที่เป็นเรื่องยากให้เข้าใจง่าย
“ชาวบ้านมักมองว่ากฎหมายเป็นเรื่องยาก ทนายชอบพูดอะไรยากๆฟังแล้วเข้าใจยาก ภาพของเครือข่ายฯอาจจะเป็นนักกฎหมาย แต่การทำให้กฎหมายเป็นเรื่องง่ายสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ โดยการทำกิจกรรมในพื้นที่เป็นที่ปรึกษาชาวบ้าน อธิบายเรื่องกฎหมายผ่านกรณีตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นในพื้นที่อื่นๆเพื่อให้เขาเห็นภาพชัดเจนขึ้น”
ศาลปกครองคุ้มครองสิทธิกรณีเชียงราย ดอกผลจากการต่อสู้ของชาวบ้าน
การผลักดันเรื่องสิทธิมนุษยชนเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลเพื่อประกอบคดีความ เครือข่ายฯพยายามเสนอเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง ผลักดันผ่านงานวิชาการ ร่วมมือกับองค์กรภาคี จัดอบรมทักษะเพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้คนทำงานให้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องสิทธิมนุษยชน เครือข่ายฯไม่ได้ทำงานด้านคดีอย่างเดียว แต่มีการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน ถามชุมชนว่าเขาต้องการอะไร เช่นที่จังหวัดเชียงราย คัดค้านโรงไฟฟ้าชีวะมวล มีสภาทนายความเข้าไปร่วมด้วย เรื่องนี้นอกจากช่วยคดีที่ชาวบ้านโดนโรงงานฯฟ้องทั้งทางแพ่งและอาญายังมีการทำงานความคิด เพื่อให้วันข้างหน้าชุมชนสามารถจัดการตนเองได้
“เรื่องโรงไฟฟ้าชีวะมวลที่เชียงราย ถือเป็นกรณีตัวอย่างที่ชัดเจน เครือข่ายฯพาชาวบ้านร้องศาลปกครองให้เพิกถอนใบอนุญาตและระงับการก่อสร้าง เนื่องจากกระบวนการมันผิดขั้นตอนตั้งแต่เริ่มต้น ชาวบ้านไม่มีส่วนร่วม และเมื่อประมาณเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้ามไม่ให้โรงไฟฟ้าก่อสร้าง ส่วนคดีเพิกถอนยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาล ซึ่งในเชิงกฎหมายถือว่าเป็นความก้าวหน้าอย่างหนึ่ง ในเรื่องสิทธิชุมชน ศาลปกครองจะสั่งคุ้มครองชั่วคราวเรื่องการสร้างโรงไฟฟ้ายังไม่มีให้เห็น แต่คดีที่เชียงรายเราเอาเรื่องสิทธิชุมชนเข้าไปศาลก็เห็นด้วยกับทางเครือข่ายฯซึ่งถือเป็นกรณีตัวอย่างที่ชัดเจน”
เคารพความแตกต่างและให้ปชช.มีส่วนร่วมในการพัฒนา
“การคัดค้านการพัฒนาจากภาครัฐ ไม่ใช่ค้านแบบหัวชนฝา แต่ทีมนักกฎหมายของเครือข่ายฯมองว่า ชาวบ้านต้องอธิบายให้ได้ว่าโครงการไม่ดียังไง มันควรจะเป็นยังไง โดยเฉพาะฝ่ายรัฐต้องให้ชุมชนมีส่วนร่วม ไม่ใช่ว่ารัฐบาลจะจับโครงการอะไรมาวางก็ทำเลยโดยไม่สนใจว่าชาวบ้านจะคิดยังไง เรื่องแบบนี้ต้องมาคุยกัน ถ้าชาวบ้านไม่มีส่วนร่วมก็เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง โรงงานๆหนึ่งตั้งขึ้นมา โรงงานนี้ต้องอยู่ในชุมชนไปอีกนาน ชาวบ้านเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง เขาควรจะมีส่วนร่วมว่ามันควรจะอยู่ในขอบเขตแค่ไหน ซึ่งเมืองไทยมิติแบบนี้ยังไม่เกิด ถ้าเป็นการคุยจากภาครัฐก็คุยเพียงให้ผ่านขั้นตอน การประชาพิจารณ์ก็เป็นไปเพียงรูปแบบ ไม่มีการคุยในเนื้อหาที่แท้จริง”
เช่นเดียวกับกรณีจังหวัดตาก ชาวกะเหรี่ยงถูกฟ้องร้องเรื่องบุกรุกที่ดิน ศาลชั้นต้นสั่งจำคุก แต่ในกระบวนพิจารณาเครือข่ายฯพยายามชี้ให้ศาลเห็นว่า การทำมาหากินของชาวกะเหรี่ยงเป็นเรื่องวิถีชีวิตที่เขาอยู่กับป่ามานาน เขามีภูมิปัญญาการรักษาป่า ไม่ได้ทำลายป่าอย่างที่สังคมเข้าใจ อีกทั้งกระบวนการพิจารณาเบื้องต้นก็เป็นไปโดยมิชอบ ชาวกะเหรี่ยงพูดภาษาไทยภาคกลางไม่ได้ แต่ศาลไม่จัดล่ามให้ ซึ่งเป็นการผิดขั้นตอนกฎหมาย ชาวบ้านก็ยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์สั่งให้ไต่สวนใหม่ สุดท้ายก็สั่งยกฟ้องเพราะถือว่าชาวบ้านทำไปโดยไม่มีเจตนา
“เข้าใจว่ากรณีแบบนี้มีเยอะ การคุ้มครองด้านกฎหมายเป็นสิ่งที่ชาวบ้านควรได้รับ เมื่อเขาสื่อสารไม่เข้าใจในสิ่งที่ศาลพูดหรือทนายพูดแล้วเขาไม่เข้าใจจะต้องมีล่ามอธิบายให้เขาเข้าใจในกระบวนการต่างทางกฎหมาย เพื่อที่เขาจะได้ตอบข้อสงสัยตามที่เขาเข้าใจจริงๆ”
ความคาดหวังต่อการทำงานด้านสิทธิชุมชน
“จากการทำงานมาต่อเนื่องของเครือข่ายฯ กรณีตัวอย่างที่เชียงรายเห็นได้ชัดเจนว่าชาวบ้านเข้าใจกฎหมายมากขึ้น เมื่อก่อนไปศาลเขาไม่รู้ว่าต้องเตรียมอะไร เดี๋ยวนี้ไม่ต้องบอก เขารู้ด้วยตัวเขาเองว่าควรทำอย่างไร บทบัญญัติต่างๆเขาก็เข้าใจ สามารถพูดคุยกันเองได้ในชุมชน”
การทำงานกฎหมายอย่างเดียวไม่ประสบผลสำเร็จ การทำงานต้องพัฒนาความคิด ต้องสร้างองค์ความรู้ไปด้วย เพราะนักกฎหมายหรือทนายความไม่ได้อยู่กับชาวบ้านตลอดเวลา สุดท้ายเขาต้องคิดเองทำเอง หากเครือข่ายฯทำแทนทุกอย่างเขาก็ไม่ได้อะไร การทำงานแบบนี้อาจต้องใช้เวลานานแต่ได้ผลยั่งยืน
“การทำงานกับชาวบ้านเป็นเรื่องที่สนุก สิ่งที่อยากเห็น คือ การเปลี่ยนแปลงในอนาคต อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย ชุมชนสามารถนำไปต่อยอดกับชุมชนข้างเคียงได้ ซึ่งอาจต้องใช้เวลาแต่มันคุ้มค่าที่จะทำ” พนม บุตะเขียว ผู้ประสานงานฝ่ายคดี เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน กล่าว
ขณะที่ “อิสระพงษ์ เวียงวงศ์” อาสาสมัครนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน รุ่นที่6 ที่ถือเป็นคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาทำงานด้านกฎหมายกับชาวบ้าน มองว่า เมื่อก่อนไม่เชื่อว่ากฎหมายจะช่วยชาวบ้านได้แต่เมื่อได้มาทำงานด้านนี้ มุมมองทัศนคติเปลี่ยนไป เชื่อว่ากฎหมายสามารถเป็นเกราะคุ้มครองชาวบ้านได้
“อยากเห็นสังคมดีขึ้น ชาวบ้านในชุมชนสามารถลุกขึ้นมาปกป้องตนเองหรือสิทธิชุมชนที่กำลังถูกคุกคามถูกละเมิดได้ ความคาดหวังอาจไม่ใช่สังคมอุดมคติ แต่ก็อยากให้มันดีกว่าที่ผ่านมาเท่านั้นเอง” อิสระพงษ์ กล่าว
....................................
ยอมรับความแตกต่างเป็นแนวทางประชาธิปไตย แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์อาจยังไม่ฉายแสงเจิดจ้าอย่างที่หลายคนคาดหวัง เพราะการหยุดละเมิดสิทธิชุมชน ผู้ละเมิดต้องเป็นผู้หยุดด้วยตัวเอง การคุกคามชุมชนที่มีวิถีวัฒนธรรม มีรากเหง้าภูมิปัญญาทรงคุณค่า มีอัตลักษณ์งดงาม ถือเป็นเรื่องที่ต้องทำให้หมดไปจากบริบทสังคมไทย
“เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน” แม้เป็นเพียงองค์กรเล็กๆแต่ก็เปี่ยมไปด้วยพลังแห่งการสร้างสรรค์สิ่งดีงาม สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือหรือคำปรึกษาด้านกฎหมายได้ที่ เลขที่ 111 ซ.สิทธิชน ถ.สุทธสารวินิจฉัย สามเสนนอก ห้วยขวาง กทม. 10310 โทรศัพท์ 02-6930682,02-6934939 โทรสาร 02-6930682.