เรื่องเล่าจากคำพิพากษา...เพราะ "รัก" จึงเบี้ยวใช้ทุนได้ไม่ครบ
สืบค้นพบผู้หนีทุนเพิ่ม คราวนี้อ้างความรักเป็นเหตุแต่งงานกับชาวต่างชาติ ต้องย้ายถิ่นฐานไปเมืองนอก ขอศาลเห็นใจ ยันขืนอยู่ใช้ทุนในไทยต่อ มีหวังชีวิตคู่ร้าวฉาน
กรณีทันตแพทย์หนีใช้ทุนการศึกษา จนส่งผลให้ผู้ค้ำประกันเดือดร้อน ต้องชดใช้หนี้ที่ไม่ได้ก่อแทนนั้น ได้กลายเป็นปฐมบทปลุกกระแสให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรื้อระบบบริหารจัดการการให้ทุนใหม่ทั้งหมด
จากปัญหาดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มิได้นิ่งนอนใจ สั่งให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ฯ เสนอรายงานภาพรวมการให้ทุนการศึกษาและทุนวิจัยของประเทศทั้งหมด ในทุกระดับ (อ่านประกอบ:เผยคำสั่ง 'บิ๊กตู่' กลางวงประชุมครม. เรียกดูข้อมูลทุนเรียน-วิจัย ทั้งปท.)
ทั้งนี้ มีข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ระบุ ผู้รับทุนของรัฐบาลส่วนใหญ่ ศึกษาอยู่ในสหรัฐอเมริกา 1,053 คน หรือร้อยละ 32.64 รองลงมา สหราชอาณาจักร 964 คน หรือร้อยละ 29.88
แต่เมื่อดูในภาพรวมผู้รับทุนไปศึกษายังต่างประเทศจะศึกษาอยู่ในทวีปยุโรปมากกว่า โดยมีจำนวนถึง 1,514 คน หรือร้อยละ 56.85
"ผู้ทำผิดสัญญาชดใช้ทุน" ที่พบบ่อยๆ 1.ไม่เดินทางกลับประเทศ 2.เปลี่ยนสายอาชีพ 3.ลาออกหลังจากปฎิบัติราชการไปสักระยะหนึ่ง และ 4.เหตุผลส่วนตัว
สอดคล้องกับหลายๆ คดีที่ผู้รับทุนเป็นผู้หญิงทำผิดสัญญาชดใช้ทุนนั้น ก็พบมีทั้งไม่เดินทางกลับมาประเทศไทยเลย หายสาบสูญ แต่งงานกับชาวต่างชาติต้องการไปอยู่กับครอบครัว บ้างเดินทางกลับมารับราชการในประเทศไทยไปสักระยะหนึ่ง ตัดสินใจลาออกเดินทางไปอยู่ต่างประเทศ เรียกว่า ชดใช้ทุนยังไม่ครบตามสัญญา จนหน่วยงานผู้ให้ทุนต้องนำเรื่องขึ้นสู่ศาลปกครองมีการฟ้องร้องเป็นคดีความกันขึ้น
มีตัวอย่างกรณีของอาจารย์สาวรายหนึ่ง รับทุนจาก สกอ.ให้ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก สาขาวิชาการพยาบาลจิตเวชศาสตร์ ณ สหรัฐอเมริกา (ประเทศที่รัฐบาลส่งคนไทยไปศึกษาต่อมากที่สุด) ด้วยทุนโครงการพัฒนาอาจารย์ สาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ ซึ่งในสัญญาเธอต้องกลับมารับราชการชดใช้ทุนติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 เท่าของระยะเวลาที่รับทุนรัฐบาล
เมื่อสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตร เธอได้กลับเข้ารับราชการในหน่วยงานตามสัญญาเมื่อปี 2544 แต่ 6 ปี หลังจากนั้นได้ลาออกจากราชการก่อน ปฏิบัติงานยังไม่ครบกำหนดตามสัญญา ดังนั้นหน่วยงานผู้ให้ทุน จึงฟ้องร้อง
สาเหตุที่เธอกระทำผิดสัญญาปฏิบัติราชการไม่ครบนั้น คำให้การในคำพิพากษาอาจารย์สาวท่านนี้ชี้ให้เห็นว่า เพราะรัก (คำเดียว) จึงทำให้ตัดสินใจบินไปใช้ชีวิตในต่างแดน
เธออ้างว่า ขณะที่ได้รับทุนรัฐบาลไทยให้ไปศึกษาต่อที่สหรัฐฯ เธอตั้งใจศึกษาจนสำเร็จลุล่วงอันรวดเร็ว อีกทั้งยังได้ปฏิบัติตามระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งของ ก.พ.ตามสัญญาอย่างเคร่งครัด
แต่ระหว่างนั้นได้พบรักกับหนุ่มชาวตุรกี ซึ่งสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาชีวภาพการแพทย์ และเธอตัดสินใจสมรสกันในเวลาต่อมา
แต่เมื่อเธอต้องกลับมารับราชการในหน่วยงานผู้ให้ทุนตามสัญญา ภาระหน้าที่เเละความรับผิดชอบในการงานทำให้เธอเหินห่างจากคนรักไป
"การไม่ได้พบเจอเป็นระยะเวลานาน จะทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวมีปัญหา แม้สามีจะพยายามสมัครงานในหน่วยงานราชการและบริษัทเอกชนในประเทศไทย เพื่อให้ได้อยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์ก็ตาม แต่ในขณะนั้นวิชาชีพวิศวกร สาขาชีวภาพทางการแพทย์ ยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายในประเทศไทย จึงไม่มีองค์กรใดต้องการบุคลากรในสาขาดังกล่าว" อาจารย์สาวรายนี้ระบุถึงความพยายามของสามีบินมาสมัครงานในเมืองไทยแล้ว เพื่อให้ได้ใช้ชีวิตคู่อยู่ด้วยกัน
ในที่สุด เธอจึงตัดสินใจย้ายภูมิลำเนาไปใช้ชีวิตร่วมกันกับสามีในต่างประเทศ ขณะที่ระยะเวลาปฏิบัติราชการยังไม่ครบตามสัญญาชดใช้ทุน
คำให้การอาจารย์สาวรายนี้ เห็นว่า เธอได้รับราชการชดใช้ทุนตามสัญญามาแล้วเทียบเท่ากับระยะเวลาที่ได้รับทุน ที่สำคัญ คณาจารย์ภายในองค์กรที่เธอปรึกษาต่างเห็นใจในชีวิตครอบครัวทั้งสิ้น เธอจึงลาออกจากราชการ ไปใช้ชีวิตกับสามีในต่างประเทศ อีกทั้งตลอดระยะเวลาที่ปฏิบัติงานในประเทศไทย ได้ทุ่มเทเเรงกายเเรงใจในฐานะอาจารย์ประจำ นักวิจัย เเละผู้ทรงคุณวุฒิ ตลอดจนวิทยากรในงานวิชาการของสถาบันการศึกษาต่าง ๆ จนมีผลงานเป็นที่ประจักษ์เเก่สายตาประชาชน ทั้งในระดับมหาวิทยาลัยเเละระดับชาติ
ความทุ่มเทกับการทำงานนี้เอง ทำให้เธอได้รับการเสนอชื่อเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ระดับ 8 ภายในระยะเวลา 4 ปี
คำให้การทั้งหมดที่อาจารย์สาวรายนี้นำมาอ้างในกระบวนการต่อสู้คดี เพื่อวิงวอนขอให้ศาลเห็นใจถึงเหตุผลทั้งหมดของการเบี้ยวหนี้ฟังไม่ขึ้น ท้ายที่สุด ศาลปกครองมีคำพิพากษาให้ต้องชดใช้เป็นเงินบาท และดอลล่าร์สหรัฐ พร้อมเบี้ยปรับ
เเต่เเล้วเธอจะยังตัดสินใจใช้ชีวิตคู่ในต่างประเทศ ไม่กลับมาปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล หรือปล่อยให้ผู้ค้ำประกัน ซึ่งเป็นพ่อของเธอต้องชดใช้ทุนดังกล่าวเเทน
...ความรักเป็นสิ่งสวยงาม...หากมิใช่ข้ออ้างที่จะใช้เเก้ตัวให้พ้นผิด...เพื่อหวังหลบเลี่ยงการชดใช้ทุน...คุณว่าจริงไหม? .
อ่านประกอบ:ยอดหนีทุน รบ. 23 ราย! ก.พ.รับลูกนายกฯปฏิรูประบบใหม่-หาช่องฟ้องอาญา
เลวร้ายต่อระบบคุณธรรมปท.!สตง.สั่งหาช่องกม.เล่นงานอดีตอ.มหิดลหนีทุน
เรตติ้งตก! รีวิวเฟซบุ๊ก Harvard หล่นฮวบ หลังคนไทยถล่ม "ดลฤดีหนีทุน"
ค้นคดีพบอีกราย “หมอฟันมหิดล” สาบสูญ ไม่เดินทางกลับไทยใช้ทุน
ทพ.เผด็จ โพสต์FB อ้างแหล่งข่าววงใน 'ฮาร์วาร์ด' สั่งสอบสวน 'ดลฤดี'
เปิดคำฟ้องคดีล้มละลาย 'หมอฟันหนีทุน' พบยอดหนี้พุ่ง 48 ล้าน!
คำสอนสุดท้ายจาก'อ.อารยา' ถึงศิษย์ชื่อ 'ดลฤดี'-ผู้ค้ำราย4 ใช้หนี้แทน2แสน
สกอ.สรุปภาพรวม 10 โครงการ 'ทุน' พัฒนาอาจารย์ พบ 'ผิดสัญญา' อื้อ
ทุนพัฒนาอาจารย์ 16 สาขาขาดแคลน สกอ.พบผิดสัญญา 23 คน- 'ดลฤดี' รายเดียวเบี้ยวใช้เงิน
ลึกสุดใจ 'ภัทรวดี' เหยื่อค้ำราย3 กับความหวังในตัว 'ดลฤดี' ก่อน-หลังหนีทุนมหิดล
'ผู้ค้ำ'อดีตอ.มหิดลราย3เดือดร้อนหนัก!เพื่อนเตรียมอุดมฯ ลงขันให้ยืมเงินใช้หนี้ 2ล.
"อิศรา" ค้นคำพิพากษาคดี 'ทันตแพทย์ มหิดล' เบี้ยวทุน ไฉนต้องชดใช้ 30 ล.
ภาพประกอบ:เว็บไซต์ pixabay.com-เว็บไซต์ gotoknow.org-เว็บไซต์ sanook.com