นพ.ประกิต แนะรื้อโครงสร้างภาษีบุหรี่ สร้างประสิทธิภาพลดสิงห์อมควัน
เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ระบุชัดมาตรการขึ้นภาษีลดคนสูบบุหรี่ได้จริง ชี้หากไทยอยากทำให้มีประสิทธิภาพต้องปรับโครงสร้างภาษีสรรพาสามิตยาสูบร่วมด้วย เทียบมาเลเซีย กำหนดราคาบุหรี่ขั้นต่ำซองละ 70 บาท
ภายหลังกระทรวงการคลังเสนอที่ประชุมและคณะรัฐมนตรี(ครม.) ไฟเขียวให้มีการขึ้นภาษีบุหรี่ 90% ส่งผลให้ราคาบุหรี่ขยับขึ้นซองละ 5-10 บาท โดยหวังจะลดอัตราการสูบบุหรี่ของสิงห์อมควันโดยมีผลตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่านมานั้น
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา ว่า จากพ.ศ.2536-2559 ประเทศไทยมีการขึ้นภาษีบุหรี่ 11 ครั้ง ครั้งล่าสุด คือ ครั้งที่ 11 ซึ่งผลการขึ้นภาษีในช่วงปี 2536-2549 ทำให้จำนวนผู้สูบบุหรี่ลดลง 4 ล้านคน 60% ของการลดลงเป็นผลจากการขึ้นภาษีบุหรี่ อย่างไรก็ตามจากการขึ้นภาษีแต่ละครั้งพบว่า อัตราการสูบบุหรี่ลดลง เช่น คนที่เคยสูบวันละซอง ก็จะกลายเป็นสูบไม่กี่มวนแทน หรือในบางรายก็หักดิบเลิกไปเลยด้วยซ้ำ ส่วนข้อกังวลว่าผู้สูบจะไม่ลดลงเนื่องจากจะหันไปซื้อในรูปแบบการแบ่งขายนั้น อัตราของราคาที่ขายในแต่ละมวนก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน ดังนั้นจึงคิดว่า ไม่ใช่ทางเลือกของนักสูบ แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดทุกครั้งที่มีการขึ้นภาษีนั่นคือ คนที่เคยสูบยี่ห้อแพง ก็จะเปลี่ยนมาสูบยี่ห้อที่ถูกลงแทน
นพ.ประกิต กล่าวว่า หากประเทศไทยจะทำให้การขึ้นภาษีมีประสิทธิภาพสำหรับการลดนักสูบหน้าใหม่และหวังให้นักสูบหน้าเก่าเลิกราจากบุหรี่ไปนั้น จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภาษีของบุหรี่ โดยยกตัวอย่างประเทศมาเลเซีย ที่กำหนดราคาขั้นต่ำของบุหรี่อยู่ที่ซองละ 70 บาท ดังนั้นหากเมื่อใดก็ตามที่มีการขึ้นภาษีของบุหรี่ก็จะส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคทันที
เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวอีกว่า การขึ้นภาษีบุหรี่เป็นมาตรการที่ดีที่สุดในการลดจำนวนคนสูบบุหรี่ เนื่องจากรายงานการติดตามผลกระทบของการขึ้นภาษีสรรพสามิตยาสูบต่อพฤติกรรมการบริโภคยาสูบของผู้บริโภคยาสูบ ในช่วงพ.ศ. 2555 ซึ่งเป็นการขึ้นภาษีก่อนหน้านี้ พบว่า หลังการขึ้นภาษีสรรพสามิตยาสูบครั้งนี้ มีผลให้ผู้สูบบุหรี่ปัจจุบันเลิกสูบบุหรี่ด้วยเหตุผลของการขึ้นภาษีและราคาบุหรี่ 2% โดยมีผู้สูบบุหรี่เป็นประจำทุกวันลดลง ขณะเดียวกันมีการเปลี่ยนแปลงการบริโภคยาสูบจากการสูบทั้งสองชนิด คือบุหรี่โรงงานและบุหรี่มวนเอง มาเป็นการสูบอย่างเดียวมากขึ้น พบการเปลี่ยนยี่ห้อบุหรี่ 15.3% และเปลี่ยนประเภทผลิตภัณฑ์ 7.7% มีการสูบบุหรี่โรงงานราคาถูกที่ผลิตในประเทศเพิ่มขึ้นประมาณ 7 %
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา รายงานเพิ่มเติมว่า ในงานวิจัยดังกล่าว ยังระบุว่า ถึงเหตุผลของผู้เลิกสูบโดยรวมที่ตัดสินใจเลิกบุหรี่คือปัญหาสุขภาพและครอบครัวขอร้อง
สำหรับความตั้งใจที่จะเลิกบุหรี่ในช่วงก่อนขึ้นภาษี พบว่า กลุ่มที่ไม่เคยคิดว่าจะเลิก 40.5% มีแนวโน้มลดลงเป็นลำดับจาก 28.% ในรอบการติดตามที่ 1 เป็น 26% และ 17% ในรอบการติดตามที่ 2 และ 3 ตามลำดับ
อีกทั้งพบว่า 10% ของผู้สูบบุหรี่ปัจจุบัน มีความเชื่อว่าบุหรี่ที่วางจำหน่ายในท้องตลาดเป็นบุหรี่ผิดกฎหมาย