10 องค์กรฝ่าวิกฤตน้ำ ชู “ลาดกระบังโมเดล” ตัวอย่างชุมชนจัดการอุทกภัย
วิศวกรรมสถานฯ ร่วมกับ 10 องค์กรฝ่าวิกฤติน้ำท่วม ถกความจริงเรื่องน้ำไทย-ระดมวิธีการจัดการอุทกภัยอนาคต ชี้ข้อผิดพลาดหลักจากการบริหารงานรัฐ-การเมืองแทรก แนะเพิ่มอำนาจชุมชนจัดการตนเอง
เร็วๆนี้ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) ร่วมกับ 10 องค์กรฝ่าวิกฤตน้ำท่วม จัดเสวนา “บทเรียนจากน้ำท่วม...ประเทศไทยควรบริหารจัดการน้ำอย่างไร” โดย รศ.ดร.สุวัฒนา จิตตลดากร ประธานคณะอนุกรรมการวิศวกรรมแหล่งน้ำ สำนักวิจัยและบริการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวท.) กล่าวว่า การเสวนาครั้งนี้เป็นการระดมข้อมูลและความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการ และเครือข่ายต่างๆ เพื่อให้เห็นภาพรวมปัญหาน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ ก่อนจะร่วมกันหาวิธิจัดการน้ำในการประชุมครั้งต่อๆไป
รศ.ดร.สุวัฒนา กล่าวต่อว่า จากบทเรียนปัญหาน้ำท่วมครั้งนี้ ควรแก้ไขด้านการบริหารจัดการเป็นหลัก โดยสร้างความเป็นเอกภาพของหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคประชาชน ซึ่งการบริหารควรปลอดจากการแทรกแซงทางการเมือง รวมทั้งเพิ่มอำนาจให้ชุมชนจัดการตนเอง ถ้าบริหารจัดการดี ความเสียหายที่เกิดจากภัยธรรมชาติจะบรรเทาลง
ดร.วัฒนา กันบัว ผอ.ศูนย์อุตุนิยมวิทยาทะเล กรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่าไทยประสบพายุดีเปรสชั่นไหหม่าเดือน มิ.ย. พายุดีเปรสชั่นนกเตนเดือน ก.ค. ร่องมรสุมพาดผ่านไทยตอนบนช่วง ส.ค. พายุโซนร้อนไห่ถางช่วง ก.ย. ไต้ฝุ่นเนสาด และพายุโซนร้อนนาลแก ช่วง ต.ค. ส่งผลให้ปริมาณฝนเฉลี่ยภาคเหนือและภาคกลางปีนี้สูงกว่าปี 53 ปี 49 และปี 38 โดยเฉพาะเดือน มิ.ย. และ ก.ย. ยกเว้น ก.ค.ที่ต่ำกว่าปี 38 เล็กน้อย และ ส.ค. ต่ำกว่าปี 38 และ 53 อย่างชัดเจน ขณะที่ ต.ค. ปริมาณฝนต่ำกว่าปี 49 และ 53 จึงก่อให้เกิดน้ำท่วมหนักในปัจจุบัน
ผศ.ดร.คมสัน มาลีสี รองคณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่าการบริหารจัดการน้ำที่ผ่านมาล้มเหลว เพราะภาครัฐบิดเบือนข้อมูล ทำให้ประชาชนสับสนและไม่สามารถรับมือภัยพิบัติได้ ทั้งนี้ขอชูลาดกระบังโมเดลเป็นตัวอย่างชุมชนจัดการน้ำทั่วประเทศ โดยมีการลงพื้นที่สำรวจภูมิประเทศ ได้แก่ แม่น้ำ ลำคลอง ป่าไม้ สภาพบ้านเรือน มีการขุดลอกคูคลอง ตั้งมาตรวัดน้ำ วางระบบระบายน้ำ ตลอดจนถึงการส่งเสริมความรู้แก่ชุมชน เพื่อป้องกันตนเองได้ .