คนแก่ยังมีไฟ! พม.ชงขยายเวลาเกษียณขรก.-รัฐวิสาหกิจ แก้วิกฤตสังคมผู้สูงอายุ
เปิดมติครม. รับทราบสถานการณ์สังคมผู้สูงอายุไทยล่าสุด พบกำลังเข้าสู่ภาววิกฤตหนัก ยอดพุ่งสูงหลายเท่า เหตุคนไทยเกิดน้อย อยู่ตามลำพังมากขึ้น รายได้จากบุตรลดลง เผยแนวทางแก้ปัญหา พม.ชงขยายอายุเกษียณ ขรก.-รัฐวิสาหกิจ สร้างมโนทัศน์ใหม่ คนแก่ยังมีไฟ-ความสามารถทำงานได้
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ในช่วงกลางเดือนม.ค.2559 ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติรับทราบรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ.2557 และข้อเสนอเชิงนโยบาย ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นำเสนอ
โดยรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ.2557 ระบุว่า ในช่วง 40-50 ปีที่ผ่านมา ประชากรไทยเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงมากกว่าร้อยละ 3 ต่อปี ปัจจุบันประชากรไทยเพิ่มด้วยอัตราเพียงร้อยละ 0.5 ต่อปี และมีแนวโน้มว่าอัตราการเพิ่มของประชากรจะลดต่ำลงไปอีก โครงสร้างอายุประชากรไทยได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก จากที่เคยเป็นประชากรเยาว์วัยในอดีต กลายเป็นประชากรสูงวัยในปัจจุบัน และกำลังสูงวัยยิ่งขึ้นอย่างรวดเร็วในอนาคต
สาเหตุที่ทำให้ประชากรไทยสูงวัยขึ้น ได้แก่ อัตราเกิดที่ลดลงอย่างรวดเร็วในเวลา 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมาและอายุคนไทยยืนยาวขึ้น ซึ่งจะทำให้อัตราส่วนประชากรวัยแรงงานต่อผู้สูงอายุลดลง โดยในปี 2513 อัตราส่วนประชากรวันแรงงานประมาณ 10 คนต่อผู้สูงอายุ 1 คน ปี 2557 จะเหลือคนวัยแรงงานประมาณ 4 คน ต่อผู้สูงอายุ 1 คน และอัตราส่วนนี้จะลดลงเหลือเพียง 2 คน ในอีก 25 ปีข้างหน้า
รายงานดังกล่าว ยังระบุว่า ประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นรวดเร็วมาก โดยในปี 2557 ประเทศไทย มีผู้สูงอายุวัยต้น จำนวน 5.6 ล้านคน ผู้สูงอายุวัยกลาง จำนวน 3 ล้านคน และผู้สูงอายุวัยปลายจำนวน 1.4 ล้านคน และในปี 2583 ประมาณว่าจะมีประชากรสูงอายุวัยปลายหรือผู้มีอายุ 80 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้นอีกเกือบเท่าตัว เพิ่มขึ้นเร็วกว่าผู้สูงอายุกลุ่มอื่น โอกาสเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย ความพิการ หรือช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เพิ่มมากขึ้น
ขณะที่รูปแบบการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุในลักษณะการอยู่ตามลำพังคนเดียว หรืออยู่ตามลำพังกับคู่สมรสมีสัดส่วนที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในเขตเมืองหรือเทศบาลจะมีผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังคิดเป็นร้อยละมากกว่านอกเขตเทศบาล หากสัดส่วนผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังมากขึ้นไปอีก ย่อมจะมีผลต่อการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว
ทั้งนี้ ข้อมูลการสำรวจประชากรสูงอายุปี 2557 พบว่า มีผู้สูงอายุมากถึงหนึ่งในสามของผู้สูงอายุทั้งหมดมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน บุตรยังคงเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของผู้สูงอายุ รองลงมาได้มาจากการทำงาน อย่างไรก็ตามแหล่งรายได้หลักของผู้สูงอายุจากบุตรมีแนวโน้มลดลง ผู้สูงอายุมีแนวโน้มจะทำงานมากขึ้น
กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้มีข้อเสนอต่อรัฐบาลให้รีบเร่งวางนโยบายและหามาตรการต่างๆ เพื่อรองรับสังคมสูงอายุ ทั้งเรื่องการดำรงชีวิตอย่างมั่นคงและมีศักดิ์ศรี เสริมสร้างสุขภาพอนามัย มีหลักประกันรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน รวมถึงการจัดทำแผนช่วยเหลือเมื่อเกิดภัยพิบัติ ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับควรรวมผู้สูงอายุไว้เป็นกลุ่มเป้ามายในการช่วยเหลือ
สำหรับเรื่องการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีหลักประกันรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน ให้มีการจ้างงานผู้สูงอายุ สร้างมโนทัศน์ใหม่เกี่ยวกับนิยามผู้สูงอายุเพื่อให้สังเคมเห็นว่าผู้สูงอายุยังมีพลังและมีศักยภาพเป็นผู้ผลิตในตลาดแรงงาน การปรับแก้ระเบียบ กฎเกณฑ์ กฎหมาย ที่เป็นอุปสรรค์ต่อการจ้างงานผู้สูงอายุ การขยายอายุเกษียณข้าราชการรัฐวิสาหกิจ การส่งเสริม ให้ประชาชนมีคามรู้และวางแผนการออมเงินเพื่อไว้ใช้จ่ายยามชราภาพ การสนับสนุนให้กองทุนการออมแห่งชาติ มีความเข้มแข็งและมีการบริหารจัดการที่ดี มุ่งพัฒนาระบบบำนาญให้ครอบคลุมผู้สูงอายุอย่างถ้วนหน้า รวมทั้งการปรับปรุงระเบียบบังคับให้เหมาะสมกับค่าครองชีพและภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้น
เบื้องต้น ที่ประชุม ครม.ได้มีมติรับทราบข้อเสนอการแก้ไขปัญหาเชิงนโยบายและมอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแนวทางการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดให้ตรงตามกำหนดเวลาและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
หมายเหตุ : ภาพประกอบข่าวจาก Google