ผลประชุมคณะกก.นโยบายประมง ไม่ยกเลิก ม.34 เหตุกระทบภาพรวม กม.ทั้งฉบับ
คกก.นโยบายการประมงฯ มติไม่เเก้ ม.34 พ.ร.ก.การประมง 2558 ชี้ส่งผลกระทบภาพรวมกฎหมายทั้งฉบับ ให้ยกเลิกประกาศกรมประมงเเทน กำหนดอนุญาตเครื่องมือประมงพื้นบ้าน ให้สิทธิจับสัตว์น้ำนอกเขต 3 ไมล์ทะเลปกติ สั่งตั้งคณะอนุกรรมการ 1 ชุด พิจารณา
วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2559 โดยมี พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมว.กษ.) พลเอก วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี พลเรือเอก ณะ อารีนิจ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) พลเรือเอก พัลลภ ตมิศานนท์ เสนาธิการทหารเรือ และผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม
ภายหลังการประชุม นายวิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมง ให้สัมภาษณ์ถึงผลการประชุม สรุปสาระสำคัญว่า เป็นการประชุมครั้งแรกของคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ ที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.)การประมง พ.ศ. 2558 ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รมว.กษ.เป็นรองประธาน อธิบดีกรมประมง เป็นกรรรมการและเลขานุการ และมีผู้ทรงคุณวุฒิที่คัดเลือกจากภาคเอกชน จำนวน 10 คน รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นคณะกรรมการ
ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติรับทราบอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ ที่จะทำหน้าที่กำหนดปริมาณการจับสัตว์น้ำสูงสุดในปี 2559 เนื่องจาก พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 กำหนดการจัดสรรในเรื่องการจับสัตว์น้ำที่จะมีการควบคุมการจับสัตว์น้ำให้อยู่ในระดับที่ยั่งยืน ซึ่งแตกต่างจากเดิมที่สามารถจับสัตว์น้ำได้อย่างเสรี
“ที่ประชุมเห็นชอบตัวเลขปริมาณสัตว์น้ำสูงสุดที่จับได้ในฝั่งอ่าวไทยกับฝั่งอันดามัน โดยให้สัตว์น้ำหน้าดินในอ่าวไทย 715,294 ตัน ฝั่งอันดามัน 216,467 ตัน ปลาผิวน้ำในอ่าวไทย 230,803 ตัน ฝั่งอันดามัน 110,156 ตัน ปลากระตักในอ่าวไทย 172,607 ตัน และฝั่งอันดามัน 29,650 ตัน”
อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า เมื่อคณะกรรมการได้เห็นชอบหลักเกณฑ์เบื้องต้นแล้ว ได้วางเกณฑ์การจัดสรรปริมาณสัตว์น้ำไว้ 3 แนวทาง คือ
1) เรือที่ถูกต้องตามกฎหมายที่มีอาชญาบัตร มีใบอนุญาตทำการประมงในปีที่ผ่านมาจะได้สิทธิเข้าไปรับการจัดสรรเป็นอันดับแรก
2) เรือประมงที่ถูกต้องตามกฎหมายแต่เครื่องมืออาจจะยังไม่เหมาะสมกับสัตว์น้ำประเภทนั้น ก็ต้องไปปรับเปลี่ยนเครื่องมือแล้วเข้าสู่ระบบ
3) เรือประมงที่ยังไม่เคยเข้าสู่ระบบ ถ้ามีสัตว์น้ำเหลืออยู่ก็ให้มาเข้าสู่ระบบ โดยการจัดสรรในลักษณะแบบนี้จะเป็นการจัดสรรวันทำการประมง และปริมาณโดยภาพรวมหลังจากที่จัดสรรแล้วปริมาณสัตว์น้ำโดยรวมที่จับไป จะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปริมาณสัตว์น้ำสูงสุดที่จะจับได้ ซึ่งการจัดสรรลักษณะดังกล่าวจะมีเหมือนกันทุกปี ที่เมื่อครบ 1 ปีก็จะมีการคำนวณแล้วจัดสรร อันจะทำให้เกิดความยั่งยืนของทะเลไทย
พร้อมกันนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องความเดือดร้อนของชาวประมงพื้นบ้าน ที่พยายามเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 34 ใน พ,ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 ซึ่งได้ระบุว่า
“ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้าน ทำการประมงในเขตทะเลนอกชายฝั่ง” ที่หมายความว่าพี่น้องชาวประมงพื้นบ้านไม่สามารถจะออกไปทำการประมงนอกเขต 3 ไมล์ทะเลได้"
นายวิมล ระบุว่า ที่ประชุมได้พิจารณาว่าการที่จะยกเลิกมาตรา 34 เพียงมาตราเดียวในขณะนี้อาจจะส่งผลกระทบในภาพรวมของ พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 ทั้งฉบับ
ฉะนั้นทางออกในวันนี้ คือ การผ่อนคลายปัญหา โดยให้กรมประมง ไปยกเลิกประกาศของกรมประมง 1 ฉบับที่กำหนดการอนุญาตเครื่องมือประมงที่ต้องใช้สำหรับประมงพื้นบ้าน ซึ่งเมื่อยกเลิกประกาศกรมประมงฉบับดังกล่าวแล้ว ก็หมายความว่าไม่มีการอนุญาต
เมื่อไม่มีการอนุญาต โดยนัยแล้วมาตรา 34 ก็ไม่ได้ใช้ ชาวประมงพื้นบ้านก็จะสามารถทำการประมงนอกเขต 3 ไมล์ทะเลได้โดยปกติ ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบให้ตั้งคณะอนุกรรมการ 1 ชุด เพื่อดูเรื่องการแก้ไขมาตรา 34 ว่าจะส่งผลกระทบอย่างไรหรือไม่
อธิบดีกรมประมง กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังได้พิจารณาเรื่องความเดือดร้อนของพี่น้องชาวประมงขนาดเล็ก ตามที่ รมว.กษ.ได้เดินทางลงพื้นที่พบว่า มีเกษตรกรชาวประมงขนาดเล็กที่ใช้เรือหางยาวไปทำการท่องเที่ยวและทำการประมงด้วย ซึ่งที่ถูกต้องแล้วไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากกฎหมายกรมเจ้าท่าในเรื่องการจดทะเบียนเรือ สามารถจดทะเบียนเรือได้ 1 ประเภท แต่จากวิถีประจำวันของพี่น้องประมงพื้นบ้าน จะมีบางช่วงที่ว่างจากการทำเรือท่องเที่ยวก็จะมาทำการประมง หรือเป็นเรือท่องเที่ยวที่พานักท่องเที่ยวออกไปตกปลาที่จะถือเป็นการทำประมง ถ้าไม่มีการจดทะเบียนเป็นเรือประมงก็จะผิดกฎหมาย
โดยเรื่องนี้ที่ประชุมมอบหมายให้กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ไปศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหา ทั้งนี้ เรือหางยาวเป็นเรือขนาดเล็กกว่า 5 ตันกรอส ซึ่งถือเป็นเรือขนาดเล็กไม่ต้องขอใบอนุญาตทำการประมงจากกรมประมง ดังนั้นสามารถทำการประมงได้โดยอิสระ เพียงแต่เรือจะต้องมีทะเบียนเรือตามกฎหมายของกรมเจ้าท่าว่าเป็นเรือประเภทใด จึงจะต้องหาทางออกว่าจะทำอย่างไรให้เรือประมงพื้นบ้านสามารถทำการประมงได้อย่างสอดคล้องกับวิถีประจำวันของเรือประมงพื้นบ้าน
นายกรัฐมนตรีเป็นห่วงพี่น้องชาวประมงพื้นบ้าน และพยายามที่จะแก้ปัญหาให้กับพี่น้องชาวประมงพื้นบ้านในเรื่องต่าง ๆ ที่เป็นประเด็นปัญหาอยู่ โดยเฉพาะมาตรา 34 ของ พ.ร.ก. การประมง พ.ศ. 2558 ที่ระบุว่าประมงพื้นบ้านไม่สามารถจะออกไปทำการประมงนอกเขต 3 ไมล์ทะเลได้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีและ รมว.กษ.ได้พยายามหาทางเรื่องนี้ให้
อย่างไรก็ตาม การออกไปทำการประมงนอกเขต จะต้องไม่ทำให้เกิดการทำประมงเกินควรได้ ดังนั้น เมื่อมีการยกเลิกประกาศกรมประมงในการออกประเภทของเครื่องมือ ซึ่งใช้กับประมงพื้นบ้านแล้ว อาจจะต้องมีการออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามมาตรา 71 (1) ซึ่งประกาศว่าเครื่องมือประเภทใดห้ามใช้ในเขตประมงพื้นบ้าน ซึ่งจะเป็นการควบคุมเครื่องมือบางประเภทที่เป็นเครื่องมือทำลายล้าง
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังพิจารณากรอบเบื้องต้นของนโยบายการพัฒนาการประมงของประเทศ ฉบับที่ 1 รวม 4 ด้าน และกำหนดระยะเวลาของนโยบายตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559-2562 ประกอบด้วย 1) นโยบายการพัฒนาการประมงในน่านน้ำไทย 2) นโยบายการส่งเสริม พัฒนา และแก้ไขปัญหาการประมงนอกน่านน้ำไทย 3) นโยบายการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของประเทศ 4) นโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องด้านการประมงประเทศ
ซึ่งในที่ประชุมได้มีการเสนอกรอบกว้าง ๆ ว่าจะมีหัวข้อในการกำหนดนโยบายอย่างไร ซึ่งเมื่อคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติพิจารณาเห็นชอบแล้ว จะให้ไปจัดตั้งคณะอนุกรรมการในแต่ละด้านเพื่อไปดำเนินการยกร่างนโยบายทั้ง 4 ด้านให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน แล้วนำมาเสนอให้คณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติให้ความเห็นชอบ ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อวางเป็นกรอบนโยบายของประเทศต่อไป .
อ่านประกอบ:นายกฯ เตรียมประชุม คกก.นโยบายการประมงฯ แก้ ม.34 จำกัดเขตจับสัตว์น้ำ 3 ไมล์ทะเล
ภาพประกอบ:ประมงพื้นบ้าน-เว็บไซต์ยูทูป, พล.อ.ประยุทธ์-เว็บไซต์เสียงใต้รายวัน