ชงแก้ รธน.ชั่วคราวปมประชามติ เคาะวัน 31 ก.ค. 59-ใช้งบ 3.4 พัน ล.
วงประชุม 'วิษณุ' ชงแก้ รธน.ชั่วคราว แก้ไขปมประชามติให้ชัด คาดเสร็จภายใน 1 เดือน เคาะวัน 31 ก.ค. 59 คัดค้านได้แต่ห้ามบิดเบือน ให้ กกต. วางกติกา 'สมชัย' ยันใช้งบไม่เกิน 3.4 พันล้าน
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 10 ก.พ.2559 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหารือถึงภาพรวมการทำประชามติ อาทิ ตัวแทนสำนักกฤษฎีกา ตัวแทนสำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตัวแทนคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ตัวแทนกระทรวงมหาดไทย (มท.) และตัวแทนการสื่อสารไปรษณีย์
ภายหลังการประชุมนานกว่า 3 ชั่วโมง นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการ กกต. เปิดเผยว่า มีการกำหนดวันทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ วันที่ 31 ก.ค.2559 คาดว่าจะใช้งบประมาณประมาณไม่เกิน 3,400 ล้านบาท
ล่าสุด นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวสรุปถึงผลการประชุมว่า ที่ประชุมมีความเห็นสี่ประเด็น ประเด็นแรก จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ในประเด็นเรื่องการทำประชามติ และประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะถ้อยคำในมาตรา 37 และ 37/1 ที่แย้งกันในเรื่องผู้มีสิทธิ์มาลงคะแนน และผู้มาใช้สิทธิ์ลงคะแนน ตรงนี้จะปรับแก้ให้ตรงกัน ซึ่งใน 1-2 วันนี้จะเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ก่อนจะส่งให้กับคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นผู้ร่างแก้ไข และเสนอต่อที่ประชุมร่วมคณะรัฐมนตรี และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก่อนจะส่งให้กับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นผู้พิจารณา ซึ่งในส่วนนี้คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือนจึงแล้วเสร็จ ส่วนวันในการทำประชามตินั้น ที่ประชุมพูดคุยกันคร่าว ๆ โดย กกต. คาดว่าจะใช้วันที่ 31 ก.ค. 2559 แต่อาจบวกลบได้ไม่เกิน 7 วัน ต้องรอดูสถานการณ์
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า ประเด็นที่สอง ให้คณะกรรมการ กกต. เป็นผู้วางกติกาเรื่องการทำประชามติ และกำหนดบทลงโทษ หลังจากนั้นจึงส่งมายังรัฐบาล เพื่อหาวิธีประกาศใช้ โดยอาจจะประกาศตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 หรือทำเป็น พ.ร.ก. หรือ พ.ร.บ. หรืออาจออกเป็นประกาศ ซึ่งหากออกเป็นประกาศจะไม่มีบทลงโทษ ก็ทำได้ ต้องรอดูว่า กกต. จะกำหนดกติกาอย่างไร
นายวิษณุ กล่าวว่า ประเด็นที่สาม เรื่องการใช้งบประมาณ โดยในส่วนการทำประชามติคาดว่าจะใช้งบประมาณทั้งสิ้นประมาณ 4.2 พันล้านบาท แบ่งเป็นค่าใช้จ่ายทั่วไป 9 ร้อยล้านบาท ค่าพิมพ์บัตร 8-9 ร้อยล้านบาท และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น การจัดเวที งานธุรการ ตกประมาณ 2.4 พันล้านบาท ทำให้มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ที่ประชุม โดยเฉพาะสำนักงบประมาณ ต้องการให้ลดค่าใช้จ่ายลงเหลือประมาณ 3 พันล้านบาท โดยยกเอาเรื่องพิมพ์แจกร่างรัฐธรรมนูญ จากเดิม 80% อาจลดลงน้อยกว่านั้น และใช้ช่องทางอื่นประชาสัมพันธ์แทน เนื่องจากก่อนหน้านี้พบว่า แม้จะแจกร่างรัฐธรรมนูญให้กับประชาชน แต่ก็พบว่าบางส่วนไม่อ่าน หรือไม่ศึกษา และก็นำมาช่างกิโลขาย ดังนั้นจึงต้องหาวิธีทำความเข้าใจกับประชาชน โดยใช้ช่องทางต่าง ๆ มากขึ้น ตรงนี้ได้สั่งการให้ กกต. พิจารณาปรับลดงบประมาณด้วย
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า ประเด็นสุดท้าย คือการรณรงค์รับหรือไม่ร่างรัฐธรรมนูญ ในส่วนนี้สามารถแสดงความคิดเห็นคัดค้าน หรือไม่เห็นด้วยได้ แต่ห้ามบิดเบือน หลอกลวง หรือขู่เข็ญ และต้องอยู่ในกรอบความสงบเรียบร้อย และอาจมีการจัดเวทีเสวนาให้ผู้ไม่เห็นด้วยเข้าร่วม โดยอาจมีตัวแทนคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ไปนั่งฟังด้วย ส่วนบทลงโทษผู้ที่บิดเบือนนั้น ให้ กกต. เป็นผู้ดำเนินการร่างกติกาอย่างที่กล่าวไปแล้ว ทั้งนี้ไม่ได้หารือว่า หากประชามติไม่ผ่านจะต้องทำอย่างไร เพราะที่ประชุมวันนี้เป็นส่วนราชการ หากจะหารือเรื่องดังกล่าวต้องเป็นที่ประชุมอื่น ซึ่งมีอำนาจหน้าที่สูงกว่า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการทำประชามตินั้น จะใช้บัตรใบเดียว มีสองช่องคือ เห็นด้วย กับไม่เห็นด้วย อย่างไรก็ดีหาก สนช. ทำความเห็นเพิ่มเติมเรื่องประชามติ อาจเพิ่มบัตรเป็น 2 ใบ ก็ได้ แต่จะทำให้การใช้งบประมาณเพิ่มสูงขึ้น ต้องรอดูก่อน