ยอดหนีทุน รบ. 23 ราย! ก.พ.รับลูกนายกฯปฏิรูประบบใหม่-หาช่องฟ้องอาญา
ยอดหนีทุนรัฐบาลทั้งหมด 23 ราย! ก.พ. รับลูกนายกฯปฏิรูประบบให้ทุนใหม่ ลั่นไม่ใช่รับแต่คนเก่ง แต่ต้องดีด้วย รับฟังความเห็นหน่วยงานเกี่ยวข้องใน 2-3 สัปดาห์ แก้ปัญหาคนค้ำประกันต้องรับผิดชอบฝ่ายเดียว หาช่องฟ้องอาญาคนทำผิดด้วย
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 10 ก.พ.2559 สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เปิดแถลงข่าวกรณีปรากฏเป็นข่าวทางสื่อมวลชนว่า มีนักเรียนทุนรัฐบาล กระทำความผิดทางกฎหมาย โดยการหลบหนีไม่ชดใช้หนี้ทุนเรียนต่อต่างประเทศของหน่วยงานต้นสังกัด ทำให้ส่งผลกระทบถึงผู้ค้ำประกัน
ม.ล.พัชรภากร เทวกุล รองเลขาธิการ ก.พ. กล่าวว่า ปัจจุบันทุนเรียนต่อต่างประเทศของสำนักงาน ก.พ. มีทั้งหมด 547 ราย โดยแต่ละปีมีการจัดสรรให้กับข้าราชการ ร้อยละ 60 และบุคคลทั่วไป หรือนักเรียนนักศึกษาที่มีผลการเรียนดี ร้อยละ 40 โดยเงื่อนไขผูกพันในการเข้ารับทุนนั้น แต่ละแห่งมีความแตกต่างกัน สำหรับทุนของสำนักงาน ก.พ. ผู้รับทุนต้องกลับมาปฏิบัติราชการ เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 2 เท่าของระยะเวลาที่ได้รับทุน ส่วนกรณีผู้ที่ได้รับทุนไม่เข้าปฏิบัติราชการเพื่อชดใช้ทุน จะต้องชดใช้เงินทุนที่ได้จ่ายไป บวกเบี้ยปรับอีก 2 เท่า หรือรวมเป็นทั้งหมดเป็น 3 เท่า ของจำนวนเงินทุนดังกล่าว
“คำถามว่าทำไมมันเยอะ 3 เท่า จะแฟร์กว่าหรือไม่ ถ้าเผื่อจะเป็นเท่าเดียวหรือสองเท่า ประเด็นแรก มองในข้อเท็จจริง ให้ทุนใครไปคนหนึ่ง เท่ากับคนอีกคนหนึ่งจะเสียโอกาสของการรับทุน ดังนั้นคุณค่าหรือความหมายของการรับทุน มันมีด้วยตัวของมันเองอยู่ตรงนี้ คุณก้าวเข้ามารับทุน เหมือนอาสาเข้ามาทำงานราชการ ทำให้คนอื่นเสียโอกาส ประเด็นที่สอง ค่อนข้างคาดหวังว่า คนที่ส่งไป ไม่ใช่สำเร็จการศึกษาแล้วกลับมาจะได้ตัวคน แต่องค์ความรู้ที่เก็บเกี่ยวมันมีค่า และรู้ว่าราชการมีความจำเป็นที่ต้องปรับปรุงพัฒนา เงื่อนไขความสำเร็จพัฒนา ก็คือคนที่มีความรู้ ความสามารถ ช่วยกันสร้างราชการให้มีประสิทธิภาพแก่ประเทศชาติ นี่เป็นหลักวิธีคิดว่าทำอย่างไรถึงต้องขอให้มีเงื่อนไข” ม.ล.พัชรภากร กล่าว
ม.ล.พัชรภากร กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ประเด็นปัญหาดังกล่าว รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ และอยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไขปัญหา ซึ่งการดูแลทุนเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของรัฐบาลนายกรัฐมนตรี คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรีให้ความสำคัญ และได้ให้ข้อสั่งการถึงสำนักงาน ก.พ. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อหารือเรื่องปฏิรูป หรือปรับปรุงประสิทธิภาพระบบทุนรัฐบาลให้ดียิ่งขึ้น แต่คงไม่ใช่แค่ประเด็นเรื่องสัญญาค้ำประกันเพียงอย่างเดียว แต่ประกอบด้วยระบบใหญ่ ๆ 4 อย่าง ได้แก่
1.ระบบการจัดสรรกรอบของทุนรัฐบาล เช่น ที่มีผู้ทรงคุณวุฒิหลายฝ่ายเสนอแนะว่า มีปัญหาความซ้ำซ้อนของปัญหาการให้ทุน ความจำเป็นต้องบูรณาการการทำงาน ตรงนี้รัฐบาลได้เห็น และมอบหมายให้ สำนักงาน ก.พ. สภาพัฒน์ฯ หน่วยงานเจ้าของทุนต่าง ๆ ร่วมกันหารือเพื่อลดปัญหา และบูรณาการการทำงานเพื่อให้ตอบโจทย์ทิศทางการพัฒนาประเทศ และปรับปรุงระบบบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ
2.การสรรหาคนที่ใช่เพื่อเข้ามาในราชการ ถ้าดูจากผลวิจัยหรือความเห็นจากหลายฝ่าย คงมีข้อคำถามว่า ได้คนที่ใช่เข้ามารับราชการหรือไม่ เพราะปัจจุบันต้องการคนเก่งและคนดี ไม่ใช่คนเก่งอย่างเดียว ดังนั้นคนที่เข้ามารับราชการต้องเป็นคนที่มีจิตสาธารณะ
3.ว่าด้วยการดูแลจัดการศึกษา ซึ่งสำนักงาน ก.พ. ควรปรับปรุงระบบการดูแลนักเรียน ซึ่งขณะนี้ขอน้อมรับทุกความเห็น ทุกข้อเสนอแนะ จะนำไปปรับปรุงการดูแลจัดการศึกษาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
4.เมื่อนักเรียนเรียนจบแล้วกลับมาทำงาน จะทำให้เห็นได้อย่างไรว่า นักเรียนที่จบมาและเข้ารับปฏิบัติราชการ ได้ทำงานอย่างเต็มที่ เต็มประสิทธิภาพ และได้รับการพัฒนาเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้สำนักงาน ก.พ. กำลังดำเนินการอยู่
“สิ่งที่สำนักงาน ก.พ. เตรียมปรับปรุงต่อจากนี้คือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยจะคุ้มครองผู้ค้ำประกันให้มากขึ้น ไม่ให้ฟ้องผู้ค้ำประกันจนกว่าจะทวงหนี้จากลูกหนี้ได้ แต่ท้ายสุดหากฟ้องไม่ได้ ถึงมาฟ้องผู้ค้ำประกัน นอกจากนี้ในการเซ็นสัญญาค้ำประกันจะต้องกำหนดวงเงินสูงสุดในการชดใช้หนี้ไว้ และมีระยะเวลาชัดเจน ซึ่งทั้งสองฝ่ายต้องรับทราบ และยินยอมก่อน คาดว่าจะมีการปรับปรุงภายในเดือนนี้ ส่วนในข้อคิดเห็นต่าง ๆ นั้นจะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใน 2-3 สัปดาห์” ม.ล.พัชรภากร กล่าว
ส่วนกรณีทันตแพทย์ที่ปรากฏเป็นข่าวทางสื่อนั้น ปัจจุบันจะสำนักงาน ก.พ. จะเข้าไปดำเนินการแก้ไขอย่างไร ม.ล.พัชรภากร กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวต้องอยู่กับหน่วยงานต้นสังกัด สำนักงาน ก.พ. มีหน้าที่กำกับนักเรียนทุนในต่างประเทศ ซึ่งต้องรอดูฝ่ายหน่วยงานต้นสังกัดว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
เมื่อถามว่า ในส่วนของทุน ก.พ. คนที่ไม่ชดใช้หนี้มีการฟ้องต่อศาลปกครอง และศาลล้มละลายไปบ้างแล้วหรือไม่ นายอรรถพร รูปงาม นิติกรชำนาญการพิเศษ สำนักงาน ก.พ. กล่าวว่า กรณีผู้ผิดสัญญา เมื่อทวงถามแล้ว ไม่นำเงินมาชำระตามที่ทวงถามระยะหนึ่ง หากลูกหนี้ไม่มีปฏิกิริยาในการนำเงินมาชำระหนี้ จะดำเนินการฟ้องคดีที่ศาลปกครองทุกราย กระทั่งมีการบังคับคดีในอายุความ 10 ปี เมื่อครบ 10 ปีแล้ว จะสามารถดำเนินการฟ้องล้มละลายต่อไปนี้ ซึ่งปัจจุบันมีกรณีที่อยู่ระหว่างบังคับคดีของคำพิพากษาศาลปกครอง และกรณีฟ้องล้มละลาย
ส่วนกรณีหนีทุนจะเอาผิดทางอาญาได้หรือไม่นั้น นายอรรถพร กล่าวว่า หากว่ากันตามข้อกฎหมาย ประเด็นมีการหยิบยกมาครบองค์ประกอบความผิด จึงอยากรับฟังข้อเสนอแนะส่วนนี้ให้ครบถ้วนก่อน เป็นเรื่องที่น่าสนใจ กรณีนี้เหล่านี้ เกิดจากความผิดพลาดของตัวบุคคลหรือระบบ สำนักงาน ก.พ. ได้ข้อสรุปจะแก้ระบบการให้ทุนอย่างเป็นรูปธรรมได้อย่างไร ม.ล.พัชรภากร กล่าวว่า มีทั้งสองส่วน หากมองในมุมส่วนบุคคล ถือว่าเป็นส่วนน้อย ทั้งนี้อยากให้มองนักเรียนทุนรัฐบาลในแง่ดี พวกเขาคือกำลังสำคัญและอนาคตของราชการไทย มาตรการต้องมีทั้งเชิงรุกและเชิงบวก ไม่ใช่แค่เชิงรุกหรือควบคุมอย่างเดียว แต่ต้องสร้างแรงเสริมเพื่อให้เขาได้ใช้คุณค่าให้เกิดประโยชน์ได้อย่างเต็มที่
ส่วนในแง่ระบบนั้น ต้องมาทบทวน ไม่เอาคนเก่งมาอย่างเดียว ตรงนี้อยากให้ทุกฝ่ายเสนอแนะการทำงานของสำนักงาน ก.พ. เพื่อรับไปปรับปรุง ทาง ก.พ. ไม่ปฏิเสธความรับผิดชอบ นี่คือการแก้ไขในเชิงระบบ สัญญาว่าจะทำระบบการติดต่อประสานงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทำฐานข้อมูลในเชิงบูรณาการ เพื่อให้เกิดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จำนวนผู้รับทุนรัฐบาล (ทุน ก.พ.) พบว่า นับตั้งแต่ปี 2539-ปัจจุบัน มีผู้ผิดสัญญาชดใช้ทุน ซึ่งต้องมีการดำเนินการทางกฎหมาย ทั้งหมด 23 ราย โดยมีสาเหตุเนื่องจากไม่เดินทางกลับประเทศไทย เปลี่ยนสายอาชีพ ลาออกภายหลังปฏิบัติราชการชดใช้ทุนไปได้สักระยะหนึ่ง และเหตุผลส่วนตัว แบ่งเป็น
1.ผู้ทำสัญญาก่อนปี 2539 (เงื่อนไขสัญญาค้ำประกันกำหนดให้ผู้ค้ำประกันเป็นบุคคลภายนอก หากหาไม่ได้ให้ข้าราชการ 3 คนค้ำประกันได้ ซึ่ง ทพ.หญิง ดลฤดี จำลองราษฎร์ ขอทุนตามเงื่อนไขนี้เมื่อปี 2537) มีจำนวน 14 ราย
2.ผู้ทำสัญญาช่วงปี 2539-2551 (เงื่อนไขเป็นบิดามารดาหรือพี่น้องในสายเลือดค้ำประกัน) มีจำนวน 8 ราย
3.ช่วงปี 2552-ปัจจุบัน (เงื่อนไขชดใช้ทุนยืดหยุ่นขึ้น โดยให้ไปชดใช้ทุนในหน่วยงานของรัฐ) มีจำนวน 1 ราย
กรณีนี้เมื่อถามว่า ตัวเลขผู้ไม่ชดใช้ทุนส่วนนี้เฉพาะของสำนักงาน ก.พ. หรือไม่ และมีตัวเลขการไม่ชดใช้ทุนของหน่วยงานอื่นหรือไม่ ม.ล.พัชรภากร กล่าวว่า ตรงนี้เป็นแค่ตัวเลขผู้ไม่ชดใช้ทุนของ ก.พ. ส่วนตัวเลขหน่วยงานอื่น ๆ ไม่สามารถทราบได้ ต้องไปดูรายละเอียดตามหน่วยงานนั้น ๆ เนื่องจากปัจจุบันไม่ได้มีการรวมข้อมูลในส่วนนี้แต่อย่างใด