นักวิชาการชำแหละร่าง พ.ร.บ.เสนอกฎหมาย อัดสภาฯบิดเบือนประชาชน
ทีดีอาร์ไอระดมนักวิชาการแนะปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.เข้าชื่อเสนอกฎหมาย ชี้ต้องไม่บิดเบือนเจตนารมย์ประชาชน โวยกว่าจะผ่าน 2 สภาฯหืดขึ้นคอรอเลือกตั้งใหม่ ยกตัวอย่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน 4 ปีคลอด
เนื่องการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมไม่สอดคล้องกับสังคมปัจจุบันก่อเกิดความเหลื่อมล้ำทำให้ภาคประชาชนลุกขึ้นมาใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญร่วมลงชื่อเสนอกฎหมายเพื่อเป็นแม่บทให้หน่วยงานหรือองค์กรรัฐปฏิบัติเป็นแบบแผนเดียวกันโดยยึดผลประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง เช่น พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ร.บ.ผู้เสียหายทางการแพทย์ แต่ที่ผ่านมาการลงชื่อเสนอกฎหมายโดยประชาชนมักถูกบิดเบือนข้อเท็จจริง ต้องผ่านขั้นตอนซับซ้อนใช้เวลานาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) จึงจัดเสวนา “ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย”
รศ.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าเดิมอำนาจกำหนดกฏหมายจำกัดอยู่เฉพาะที่ฝ่ายนิติบัญญัติ แต่บางเรื่องประชาชนควรมีอำนาจตัดสินใจตามระบอบประชาธิปไตย ทั้งนี้การพิจารณากฎหมายต้องทำด้วยเหตุด้วยผล โปร่งใส มีข้อมูลรอบด้านที่ประชาชนควรรู้ แต่ที่ผ่านมาทำกันในวงแคบ การปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเพื่อให้มีประสิทธิภาพทำได้จริงและรวดเร็ว เช่น ต้องมีผู้ริเริ่ม ขั้นตอนระยะเวลาชัดเจน ลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชน กระบวนการในรัฐสภาต้องสั้นลง เปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วม ที่สำคัญต้องไม่บิดเบือนเจตนาเดิมที่ประชาชนเสนอเข้ามา ล่าสุดมีการเสนอกฎหมายโดยชนกลุ่มน้อยให้สามารถใช้สิทธิพลเมืองไทยบางด้าน ซึ่งเป็นเรื่องดีที่จะเปิดพื้นที่ให้คนชายขอบมีปากมีเสียงได้ ต้องติดตามกันต่อว่าจะผ่านหรือไม่
“ที่ผ่านมาการเสนอร่างกฎหมายประชาชนที่เข้าไปสู่สภามีการบิดเบือนเจตนารมณ์ ระยะเวลาพิจารณามากเกินไป การเสนอร่างต้องมีผู้ริเริ่มให้ชัดเจน รวมทั้งประเด็นและการติดตามผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งร่าง กม.ที่มาจากท้องถิ่นยิ่งต้องละเอียดอ่อนเพราะเป็นผลประโยชน์ประชาชนโดยตรง” รศ.สิริพรรณ กล่าว
ดร.ลัดดาวัลลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ รองประธานสภาพัฒนาการเมือง กล่าวว่าไม่ใช่ว่ารัฐสภาหรือผู้แทนราษฏรไม่มีศักยภาพที่จะตอบสนองความต้องการประชาชน แต่ระบบตัวแทนเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการพัฒนาประชาธิปไตย ซึ่งต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมโดยตรงด้วย ดังนั้นจึงต้องผลักดัน พ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอกฎหมายให้เป็นจริง โดยเฉพาะกฎหมายท้องถิ่นมีความสำคัญมาก ซึ่งหลายพื้นที่กำลังพูดคุยกันเรื่องการออกข้อบัญญัติท้องถิ่นเอง ซึ่งการที่ประชาชนตื่นตัวที่จะออกกติกาของตัวเอง รับผิดชอบสังคมของตัวเอง คือกระบวนการเรียนรู้ประชาธิปไตยโดยตรง
“ไม่ใช่เพียงให้ประชาชนเสนอกฏหมายและสภาเป็นคนทำ เพราะเมื่อเข้าสู่สภาฯก็เปลี่ยนเจตนาไปได้ เช่น พ.ร.บ.ป่าชุมชนที่ออกมาแม้จะสร้างความตื่นตัวรักษาป่าของทุกภาคส่วน แต่ก็ผิดเพี้ยนไปจากเจตนารมณ์เดิมของภาคประชาชนที่เข้าชื่อเสนอกฎหมายนี้ ถ้าประชาชนตื่นตัวที่จะออกกติกาเขาเอง เป็นการฝึกประชาธิปไตยโดยตรง การเรียนรู้ด้วยตัวเขาเองจะทำให้ชาวบ้านเข้มแข็ง” ดร.ลัดดาวัลย์ กล่าว
ด้าน นายปกป้อง จันวิทย์ คณะเศรษฐศาตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จากการวิจัยเรื่องการเสนอกฎหมายโดยภาคประชาชนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีการเสนอกฎหมายภาคประชาชน 37 ฉบับ เป็นร่างพระราชบัญญัติ 36 ฉบับ ร่างรัฐธรรมนูญ 1 ฉบับ เฉลี่ยแล้วประมาณปีละ 4 ฉบับ ซึ่งใน 37 ฉบับเป็นการเสนอกฎหมายภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 จำนวน 16 ฉบับ รัฐธรรมนูญ 2550 จำนวน 21 ฉบับโดยมีกระบวนการนำเสนอจากประชาชนโดยตรง 31 ฉบับ นำเสนอผ่าน กกต. 6 ฉบับ กฎหมายที่ถูกนำเสนอมากที่สุดเป็นกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการแผ่นดิน เช่น กฎหมายจัดตั้งจังหวัด กฎหมายสภาตำบล ร่างพ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนตำบล รวมทั้งสิทธิทั่วไปของประชาชน ชุมชน แรงงาน แพทย์แผนไทย
นายปกป้อง กล่าวถึงกระบวนการพิจารณากฏหมายที่เสนอโดยภาคประชาชน 3 ขั้นตอน ได้แก่ 1.ตรวจสอบรายชื่อและหลักเกณฑ์ 2.กระบวนการพิจารณากฎหมายโดยสภาผู้แทนราษฎร 3.กระบวนการพิจารณาโดยวุฒิสภา ซึ่งที่ผ่านมาพบว่ากฎหมายภาคประชาชนไม่ผ่านขั้นตอนที่ 1 มากที่สุด 17 ฉบับ โดยจำแนกระยะเวลาที่ใช้ในการพิจารณาต่อ 1 ฉบับ คือขั้นตอนที่ 1 ใช้เวลาเฉลี่ย 333 วัน ขั้นตอนที่ 2 การพิจารณาของสภาประมาณ 359 วัน ขณะที่ชั้นวุฒิสภาใช้เวลา 468 วันรวมแล้วกฎหมายภาคประชาชนทั้งฉบับใช้เวลาพิจารณากว่า 1,100 วัน หรือเกือบเท่าอายุของรัฐสภาไทย
เช่น พ.ร.บ.ป่าชุมชนที่ประชาชนลงชื่อเสนอเมื่อวันที่ 28 ก.พ. 42 มีผู้ลงชื่อสนับสนุน 52,698 คนใช้เวลาตรวจสอบรายชื่อและหลักเกณฑ์ขั้นต้น 493 วัน เข้าสภาผู้แทนราษฎรวาระ 1 ใช้เวลา 303 วัน วาระ 2 ใช้เวลา 161 วัน ขั้นตอนของวุฒิสภาใช้เวลา 1,777 วัน .