นายกฯ เตรียมประชุม คกก.นโยบายการประมงฯ แก้ ม.34 จำกัดเขตจับสัตว์น้ำ 3 ไมล์ทะเล
‘ประยุทธ์’ เตรียมประชุม คกก.นโยบายประมงฯ ถกปมยกเลิก ม.34 พ.ร.ก.ประมง 2558 นายกสมาคมสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านฯ ขอผู้นำฟังข้อมูลรอบด้าน ด้าน ‘บรรจง นะแส’ ปูดมีการหาผลประโยชน์ใน ศปมผ.-กรมประมง นำงบฯ แจกเรืออวนลาก อ้างชดเชย แต่ปล่อยให้เดินเรือเหมือนเดิม จี้นายกฯ ตั้ง กก.สอบเร่งด่วน
วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2559 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2559 เพื่อพิจารณากรณียกเลิกมาตรา 34 ของพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การประมง พ.ศ.2558 ซึ่งรัฐบาลประกาศใช้แทนพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)การประมง พ.ศ.2558 เวลา 13.30 น. ณ ทำเนียบรัฐบาล
นายสะมะแอ เจะมูดอ นายกสมาคมสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้แทนภาคประชาชน เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีความกังวลเรื่องวิกฤติทรัพยากรทางทะเล จึงเข้าร่วมประชุมด้วย ในฐานะประธาน ซึ่งหวังให้ท่านรับฟังข้อมูลอย่างรอบด้าน และเห็นว่าเขตทรัพยากรชายฝั่งไม่ใช่เขตสำหรับจับสัตว์น้ำอย่างเดียว แต่ยังเป็นเขตอนุรักษ์ ฟื้นฟู อนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน ที่ต้องดูแลรักษาเป็นพิเศษ
ทั้งนี้ นายวิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมง ได้หารือกับผู้แทนชาวประมงพื้นบ้าน โดยกล่าวในเชิงยืนยันจะคงมาตรา 34 ของพ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 เหมือนเดิม แต่จะขยายห้ามชาวประมงพื้นบ้านจับสัตว์น้ำทะเลนอก จากเดิม 3 ไมล์ทะเล เป็น 12 ไมล์ทะเล แทน ซึ่งไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่ควรยกเลิกมาตราดังกล่าวเลย
“อธิบดีกรมประมงกังวลว่า หากชาวประมงพื้นบ้านเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 34 สำเร็จ อนาคตอาจทำให้ชาวประมงพาณิชย์รวมตัวกันเรียกร้องให้ยกเลิกมาตราอื่นได้ ทำให้ปัญหาไม่สิ้นสุด” นายกสมาคมสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย กล่าว และว่า ทางที่ดีต้องออกกฎหมายให้ทุกฝ่ายปฏิบัติได้ ใครกระทำความผิดให้ลงโทษ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ไม่เคยปรากฎประเทศใดกำหนดเขตจับสัตว์น้ำสำหรับประมงพื้นบ้าน เพราะไม่มีเครื่องมือทำลายล้าง แต่ถ้าเป็นเครื่องมือทำลายล้าง จับสัตว์น้ำตรงไหนก็ถือว่าทำลายล้าง
ขณะที่นายบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘บรรจง นะแส’ ตอนหนึ่งระบุถึงปัญหาวิกฤตทะเลไทยที่ยืดเยื้อมานาน ว่าเกิดจากการปล่อยให้มีการทำประมงด้วยเครื่องมือทำลายล้างพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อนที่ฉกาจฉกรรจ์ คือ อวนรุน อวนลาก และเรือปั่นไฟ ซึ่งที่ผ่านมาแก้ไขไม่ได้ เพราะเครื่องมือทำการประมงเหล่านี้เชื่อมโยงกับผลประโยชน์ของนักการเมือง นักธุรกิจที่มีธุรกิจต่อเนื่อง ตั้งแต่ แพปลา โรงงานปลาป่น ธุรกิจอาหารสัตว์
การนำวัตถุดิบจากทะเล คือ สัตว์ตัวเล็กตัวน้อย โดยไม่คำนึงถึงพี่น้องประมงชายฝั่ง 4 แสนกว่าครอบครัว ใน 22 จังหวัด ล้มละลายไปทีละชุมชน เรื้อรังมานานแสนนาน ลงไปดูด้วยตาได้เลยในทุกจังหวัดที่ติดชายฝั่งทะเล เรื่องนี้จึงสำคัญที่จะฟื้นฟูทะเลไทย โอกาสของนายกรัฐมนตรีมาถึงแล้วที่จะทำเรื่องดี ๆ
นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย ระบุต่อว่า นอกจากนี้ยังมีการหาผลประโยชน์ในศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) และข้าราชการบางส่วนในกรมประมง เอางบประมาณแผ่นดินไปแจกให้กับเหล่าเรืออวนลาก อ้างว่าเพื่อชดเชย แต่ยังปล่อยให้ทำอวนลากอยู่เช่นเดิม ตอนแรกตกลงจ่าย 20% ของราคาเรือ แต่เมื่อรัฐมนตรีเพิ่มให้เป็น 50% ลองคิดดูว่า เรือลำละ 10 ล้านบาท 15 ล้านบาท 20 ล้านบาท ตกลำลำเท่าไหร่ และจ่ายให้ใครบ้าง
“ขอให้นายกรัฐมนตรีตั้งกรรมการตรวจสอบเร่งด่วน ก่อนที่จะทำให้รัฐสูญเสียงบประมาณไปมากกว่านี้ ที่สำคัญการทำลายล้างทรัพยากรยังคงดำเนินต่อไปปกติ”
นายบรรจง ยังกล่าวอ้างว่า มีการจัดฉากนำกลุ่มผู้ประกอบการประมงด้วยอวนรุนออกมาประท้วงเรียกร้องให้กลับมาทำการประมงอวนรุนได้ดังเดิม ด้วยข้ออ้างสารพัด และจบลงด้วยขอค่าชดเชย (ถ้าชดเชยแล้วเครื่องมือนั้นต้องหมดไปผมคิดว่าท่านควรพิจารณา) ตอนรื้อโพงพางชาวบ้านจน ๆ ไม่มีการชดเชยสักบาทหมายความว่าอย่างไร รบกวนท่านถามอธิบดีกรมประมงและ ศปมผ.ให้ด้วย (เพราะเขาจนใช่ไหม/ไม่มีปากเสียงใช่ไหม)
ทั้งนี้ ยืนยันกับนายกรัฐมนตรี ว่าวิกฤติทะเลไทยแก้ได้ งานแรกต้องหยุดเครื่องมือทำลายล้างทุกชนิดให้หมดไป หลังจากนั้นให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และฟื้นฟู กุ้งหอยปูปลาในทะเลไทยมีพอสำหรับคนไทยทุก ๆ คน .