วิโรจน์ ณ ระนอง : ‘ยางพารา’ กับ ข้อมูลและข้อเท็จจริงที่สำคัญบางประการ
"เมื่อยางราคาตก เรื่องนี้กลายเป็นแพะ และกลายเป็นข้อเรียกร้องลม ๆ แล้ง ๆ (เพราะถ้ามีความรู้ด้านเศรษฐกิจ ยาง และ เศรษฐศาสตร์ ก็จะรู้ว่ายังไงก็ทำไม่ได้ในระยะเวลาอันสั้น และถึงทำได้ก็ไม่สามารถแก้ ปัญหาราคา) ในทุกครั้งไป (และเรียกร้องแบบเดียวกันในแทบทุกพืชที่ราคาตกหรือราคาไม่เป็นที่พอใจด้วย)"
เมื่อเร็ว ๆ นี้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เผยแพร่บทความเรื่อง ข้อมูล/ข้อเท็จจริงที่สำคัญบางประการประกอบการอภิปราย เรื่อง การแก้ปัญหายางพาราโดยเพิ่มการแปรรูปและใช้ยางในประเทศ เขียนโดย ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัย ด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร ทีดีอาร์ไอ
ดร.วิโรจน์ ระบุว่า เมื่อซักสิบปีที่แล้ว ยางพาราเป็นพืชที่ปลูกกันในแค่ 3 ประเทศ สำหรับใช้ทั้งโลก และส่วนใหญ่่ใช้ผลิตล้อยาง ซึ่งองค์ประกอบหลักของล้อยางส่วนใหญ่คือยางสังเคราะห์ (ล้อรถใช้ยางพาราแค่ประมาณ 25-35%) ผลิตสำหรับใช้ในประเทศนั้น ๆ (ยางติดรถ+ยางอะไหล่)
บริษัทใหญ่ทุกรายอย่างมิชลิน บริดจสโตน เลือกที่จะไปตั้งโรงงานในแต่ละประเทศ แล้วนำเข้ายางสังเคราะห์และยางพารามาผลิต จะมีส่งออกบ้างก็ไปประเทศเพื่อนบ้านใกล้ ๆ ซึ่งคงเป็นเพราะการรวมศูนย์ผลิตในประเทศที่เป็นแหล่งยางพาราหรือแหล่งยางสังเคราะห์ แล้วนำเข้าวัตถุดิบยางอีกประเภทมาผลิต แล้วขนส่งล้อยาง (ซึ่งมีปริมาตรส่วนที่กลวงในสัดส่วนที่สูง) ส่งออกไปทั่วโลกนั้น เป็นวิธีที่ไม่คุ้มทาง เศรษฐกิจ
นักวิจัย ทีดีอาร์ไอ กล่าวต่อว่า ผลิตภัณท์ที่ใช้ยางธรรมชาติเกือบล้วนๆ ได้ เช่น ถุงมือยาง ถุงยาง ยางวง พื้นรองเท้ายาง มักผลิตในประเทศต้นทาง ซึ่งไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกรายใหญ่ แต่พวกนี้มักใช้ยางไม่มาก ยกตัวอย่าง ถุงยางในไทยใช้ยางไม่ถึง 10,000 ตัน ถุงมือยาง 50,000-60,000 ตัน
ด้วยโครงสร้างลักษณะนี้ ประเทศไทยและอินโดนีเซียจึงส่งออกยางส่วนใหญ่ที่ผลิตได้ ส่วนมาเลเซียเป็นประเทศที่เริ่มทิ้งยาง มาปลูกปาล์มแทน ตั้งแต่ 40 ปีก่อน พร้อมกับพัฒนาอุตสาหกรรมยาง ด้วย 2 เหตุผลนี้ มาเลเซียจึงกลายเป็นประเทศเดียวใน 3 ประเทศนี้ที่ใช้ยางมากกว่าครึ่งของที่ผลิตได้ แต่ก็ไม่ได้ทำให้กำหนดราคายางได้ ราคายางในมาเลเซียก็เหมือนกับในประเทศอื่น
ดร.วิโรจน์ กล่าวด้วยว่า ไทยก็พยายามหันมาแปรรูปยางส่งออกมากขึ้น ซึ่งกล่าวได้ว่าประสบความสำเร็จพอสมควรในช่วง 14-15 ปีมานี้ ซึ่งปริมาณการใช้ยางในประเทศไทยเพิ่มขึ้นจาก 242,500 ตัน (10% ของผลผลิต) ในปี 2543 มาเป็น 541,000 ตันต่อปี (12.5% ของผลผลิต) ในปี 2557
ทั้งนี้ ปัจจุบันเราเป็นรายใหญ่ในการผลิต/ส่งออก ถุงมือยาง ถุงยาง ยางวง พื้นรองเท้ายาง ฯลฯ ของโลก และใช้ยางเกือบครึ่งในการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่ล้อรถ ซึ่งถ้าดูจากปริมาณการใช้ยางเพิ่มที่เป็น 2.23 เท่าใน 14 ปี คิดเป็นอัตราเพิ่ม 5.9% ต่อปี ซึ่งค่อนข้างสูงทีเดียว หรือถ้าดูช่วง 20 ปี (2537-2557) การใช้เพิ่มเป็น 4.1 เท่าตัว คิดเป็นอัตราเพิ่มถึง 7.3% ต่อปี
“เมื่อ 20 ปีก่อน มาเลเซียใช้ยางปริมาณสองเท่าของไทย (0.357 vs 0.174 ล้านตันในปี 2539) แต่ตั้งแต่ปี 2553 ไทยเริ่มใช้ยางมากกว่ามาเลเซีย (0.487 vs0.458) และทิ้งห่างไปมากขึ้นเรื่อย (0.541 vs 0.447 ล้านตัน ในปี 2557)”
นักวิจัย ทีดีอาร์ไอ กล่าวต่อว่า การที่เราใช้ยางเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงนี้ เป็นผลมาจากที่นักธุรกิจที่เห็นลู่ทางการทำกำไรจากการผลิตขายหรือส่งออกก็มักจะกระโจนเข้ามาลงทุนเมื่อเห็นโอกาสอยู่แล้ว แต่การที่จะเพิ่มการใช้/แปรรูปในประเทศให้เท่ากับตัวเลขที่นายกรัฐมนตรีคิด(ผิด)ว่าเราใช้อยู่1.4 ล้านตัน หรือเป้าที่ท่านและคนจำนวนมากบอกว่าเราควรจะใช้ เช่น 50% หรือ มากกว่า 2 ล้านตันนั้น เป็นจำนวนที่สูงเสียจนไม่มีใครที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้จริง ๆ จะเชื่อว่าสามารถทำได้ในระยะเวลาอันสั้น
เว้นแต่รัฐจะเอาเงินภาษีมาผลาญปีละหลายแสนล้านเพื่อให้ผลิตสินค้า (ที่ปกติไปขายใครอื่นแทบไม่ได้หรือไม่คุ้ม) มาขายให้รัฐบาลที่จะเอา “อัฐยาย(ภาษีประชาชน)” มาซื้อ “ขนมลุง” ซึ่งเอาเข้าจริงก็จะใช้ยางเพิ่มขึ้นอีกไม่กี่ % ของที่ผลิตได้อยู่ดี (และจากกรณีมาเลเซีย ก็จะเห็นได้ว่า ต่อให้ใช้/แปรรูปในประเทศมากกว่า 50% มากกว่าส่งออก ก็ไม่ได้ทำให้กำหนดราคายางในประเทศเองได้)
การใช้ยางในประเทศสัดส่วนที่ 10-15% ไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้ราคายางต่ำ/ตก ตอนที่ยางราคาสูงลิ่วสัดส่วนใช้ในประเทศก็เท่านี้ สัดส่วนการใช้ยางของเราขึ้นจาก 7.7% ในปี 2537 เป็น 10.3% ในปี 2543 เป็น 15% ในปี 2553 แต่ลดลงมาเหลือ 12.5% ในปี 2556-2557 เพราะผลผลิตเราเพิ่มในอัตราที่เร็วกว่าการใช้
ดร.วิโรจน์ กล่าวว่า เมื่อยางราคาตก เรื่องนี้กลายเป็นแพะ และกลายเป็นข้อเรียกร้องลม ๆ แล้ง ๆ (เพราะถ้ามีความรู้ด้านเศรษฐกิจ ยาง และ เศรษฐศาสตร์ ก็จะรู้ว่ายังไงก็ทำไม่ได้ในระยะเวลาอันสั้น และถึงทำได้ก็ไม่สามารถแก้ ปัญหาราคา) ในทุกครั้งไป (และเรียกร้องแบบเดียวกันในแทบทุกพืชที่ราคาตกหรือราคาไม่เป็นที่พอใจด้วย)
“ในแง่หนึ่ง ข้อมูลที่มีสรุปได้ว่าเราประสบความสำเร็จเรื่องยางและแซงมาเลเซียไปแล้วทุกด้าน รวมทั้งด้านการใช้ยางซึ่งถือกันว่าเป็นจุดแข็งของมาเลเซีย และขณะที่เราไม่ควรทุ่มกับยางแบบสุดตัวแบบที่เกษตรกรจำนวนมากทำในช่วงสิบปีที่ผ่านมา เราก็ไม่ควรทิ้งยางที่เรามีข้อได้เปรียบอีกสองประเทศในหลายด้าน อินโดนีเซียมีพื้นที่ปลูกมากกว่า แต่ผลผลิตน้อยกว่าเราในทางกลับกัน มาเลเซียมีข้อได้เปรียบเรื่องปาล์ม ซึ่งเป็นพืชที่ต้องการน้ำมาก โดยเฉพาะในด้านปริมาณน้ำฝน รวมทั้งพัฒนาในด้านพันธุ์และด้านอื่นๆ ไปไกลกว่าเรามาก และการที่เราเสียเปรียบเรื่องน้ำ ก็ทำให้ ยังมองไม่เห็นทางที่เราจะแข่งเรื่องปาล์มกับมาเลเซียตรงๆได้เลย”
นักวิจัย ทีดีอาร์ไอ กล่าวอีกว่า ตลาดส่งออกของเราส่วนใหญ่คือประเทศเพื่อนบ้านที่เรามีข้อได้เปรียบเรื่องระยะทาง/ค่าขนส่ง เราจึงควรจำกัดการปลูกปาล์มไว้ที่ภาคใต้ที่มีปริมาณน้ำฝนดีกว่าภาคอื่น และจำกัดปริมาณ เลิกส่งเสริมให้ปลูกเพิ่ม โดยเฉพาะในอีสาน ที่ถึงปลูกได้ก็ได้ผลผลิตต่อไร่ต่ำมาก เพราะตลาดส่งออกเราเล็ก และวิธีแก้ปัญหาโดยเอาไปทำไบโอดีเซลก็ไม่คุ้ม ถ้าราคาน้ำมันไม่สูงมาก ที่ผ่านมาตอนที่ราคาน้ำมันสูง ก็ยังไม่ค่อยคุ้มทางเศรษฐกิจและไบโอดีเซลเองไม่ได้มีข้อดีที่ชัดเจนต่อสิ่งแวดล้อม ถ้าเทียบกับเอทานอล ที่มีบทบาทในการช่วยเพิ่มออคเทนและเป็นตัวเติมออกซิเจนที่ช่วยการให้เผาไหม้สมบูรณ์ขึ้น.