พบแล้วสเต็มเซลล์ตรงกับ "ลาร่า" มี.ค.เล็งปลูกถ่ายฯ
ทีมแพทย์ที่รักษาลาร่า สามารถหาคนที่มีสเต็มเซลล์เข้ากันได้แล้ว มาจากองค์กรการกุศลด้านผู้ป่วยลูคีเมียในประเทศอังกฤษที่มีชื่อว่า แอนโทนี่ โนแลน
จากกรณีมีการแชร์คลิปวิดีโอความยาว 2.36 นาที ในโลกออนไลน์อย่างกว้างขวาง ชื่อว่า คำร้องขอจากครอบครัวเพื่อช่วยลาร่า จากโครงการ Match4lara เพื่อขอรับบริจาคสเต็มเซลล์ หรือเซลล์ต้นแบบ ช่วยเหลือ น.ส. ลาร่า คาซาลอตติ สาวลูกครึ่งเชื้อสายไทย จีน อิตาเลี่ยน ซึ่งป่วยเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว (ลูคีเมีย) และกระตุ้นให้คนหันมาบริจาคเพิ่มมากขึ้น (อ่านประกอบ:‘ลาร่า’ กำลังแย่! รณรงค์ทั่วโลก หาสเต็มเซลล์ช่วยสาวลูกครึ่ง ป่วยลูคีเมีย)
วันที่ 9 กุมภาพันธ์ http://www.match4lara.com รายงานว่า เป็นระยะเวลากว่า 1 เดือนแล้วที่ทั่วโลกได้ช่วยกันรณรงค์โครงการ Match4lara เพื่อช่วยเหลือ ‘ลาร่า คาซาลอตติ’ (Lara Casalotti) ล่าสุด ทีมแพทย์ที่รักษาลาร่าสามารถหาคนที่มีสเต็มเซลล์เข้ากันได้แล้ว สำหรับการค้นพบผู้บริจาคที่มีสเต็มเซลล์เข้ากับลาร่าได้ในครั้งนี้ มาจากองค์กรการกุศลด้านผู้ป่วยลูคีเมียในประเทศอังกฤษที่มีชื่อว่า แอนโทนี่ โนแลน (Anthony Nolan) โดยข้อมูลส่วนตัวของผู้บริจาครายนี้ จะถูกเก็บไว้เป็นความลับตามข้อตกลงทางกฎหมาย และหากไม่มีข้อผิดพลาดใดๆการปลูกถ่ายฯจะเกิดขึ้นในเดือนมีนาคมนี้
ด้านนางสุปัญญา (Supanya Casalotti) มารดาของลาร่า กล่าวว่า ทางครอบครัวรู้สึกซาบซึ้งใจและต้องขอบคุณผู้บริจาคคนนี้เป็นอย่างมาก การหาคนที่มีสเต็มเซลล์เข้ากับลาร่าได้เป็นเหมือนการงมเข็มในมหาสมุทร ที่ผ่านมาเรารู้ว่าเราแทบไม่มีโอกาสเลย แต่การพบเจอผู้บริจาคคนนี้ทำให้เรื่องที่จะรักษาลาร่าให้กลับมาหายเป็นปรกติมีความเป็นไปได้มากขึ้น ขั้นตอนต่อไปคือการทำการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก และยังคงต้องมีการ เตรียมการอีกหลายอย่างก่อนที่จะสามารถทำการปลูกถ่ายฯได้”
นายเซบาสเตียน (Seb Casalotti) น้องชาย กล่าวว่า ไม่ใช่ทุกคนที่จะโชคดีเหมือนลาร่า ยังมีผู้ป่วยลูคีเมียอีกหลายคนที่ยังไม่พบคนที่มีสเต็มเซลล์ที่เข้ากันได้ โครงการ Match4lara จะดำเนินการต่อไปตามที่ได้วางแผนกันไว้แล้ว เพราะเราเชื่อว่าเราจะสามารถช่วยผู้ป่วยคนอื่นๆได้เหมือนกับที่เราได้ร่วมมือกันช่วยพี่สาว
ขณะที่ลาร่า กล่าวทิ้งท้ายพร้อมขอให้ทุกคนที่อยากช่วย มาตรวจและลงทะเบียนเป็นผู้บริจาคสเต็มเซลล์กันต่อไปเรื่อยๆ เพราะนี่เป็นหนทางเดียวที่จะเพิ่มโอกาสในการต่อชีวิตให้กับผู้ป่วยคนอื่นๆบนโลกใบนี้ได้