"ศุภชัย ยาวะประภาษ" ยอมรับร่าง รธน. ฉบับมีชัย ต้านนักการเมืองโกง ยันสิทธิ ปชช.ไม่หาย
"ศุภชัย ยาวะประภาษ" ยอมรับ ร่างรธน. ฉบับมีชัย เป็นฉบับปราบนักการเมืองโกง ชี้ตั้งใจให้รธน. ฉบับนี้ทันสมัย แก้ไขได้ทุกยุค แจงเรื่องสิทธิประชาชนไม่ได้หาย แค่เปลี่ยนให้เป็นหน้าที่รัฐ เชื่อได้ประโยชน์มากกว่า กำหนดให้เป็นเรื่องสิทธิ
เมื่อวันที่8 กุมภาพันธ์ 2559 โครงการรัฐศาสตร์เสวนา ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนา หัวข้อ "อวสานโลกสวย: วิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559" ณ ห้องประชุมชั้น 13 ตึกเกษม อุทยานิน คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ โดยมีนักวิชาการ ร่วมไปถึง กรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญเข้าร่วมพูดคุย
ตอนหนึ่งของการเสวนา ศ.ดร. ศุภชัย ยาวะประภาษ อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ หนึ่งใน กรธ.กล่าวถึงหลักการในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดว่า ความตั้งใจแรกที่คณะ กรธ. ได้วางไว้คือ
1. ตัวรัฐธรรมนูญตั้งใจเขียนเฉพาะตัวหลักการ และเขียนแล้วก็ต้องการให้อยู่ได้นานๆ และความตั้งใจต่อมา คืออะไรก็ตามที่จะเปลี่ยนตามเวลาและยุคสมัยจะให้รัฐบาลที่เข้ามาบริหาร (Goverment of the day) แต่ละสมัยเป็นคนเปลี่ยนแปลงตามแต่ละยุคสมัย นั่นคือหลักการแรกที่ใช้ในการร่าง
2. อยากเห็นรัฐธรรมนูญที่วางกรอบกติกาและสามารถเอาไปฏิบัติได้จริง ไม่ใช่เขียนขึ้นมาแล้วเอาไปปฏิบัติไม่ได้
ในข้อที่ 3 จากกรณีที่หลายคนถามว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับปราบโกงไม่ต้องการให้นักการเมืองเข้ามาใช่ไหม เรื่องนี้มีการพูดคุยกันนั้น กรธ.มีความเห็นว่า ต้องการที่จะไม่ให้นักการเมืองที่ได้ชื่อว่า ขี้โกง เข้ามามากกว่า เพราะอย่างไรแล้ว ประเทศก็ต้องมีนักการเมือง เพียงแต่อยากเห็นนักการเมืองที่ไม่โกง หรือถ้าเข้ามาแล้วทำอย่างไรจึงจะทำให้คนที่ทุจริตพวกนี้ต้องออกไป เลยจำเป็นต้องมีการเพิ่มอำนาจหน้าที่ของ กกต. เข้ามา ให้สามารถตัดสินใจในหลายเรื่องมากขึ้น
ในส่วนของสิทธิประชาชน สิทธิชุมชนที่หลายคนกังวล ศ.ดร.ศุภชัย กล่าวว่า เดิมใน รธน.ปี 2540 และปี 2550 ในเรื่องสิทธิข้อมูลข่าวสารจะเขียนว่า ประชาชนมีสิทธิที่จะไปขอข้อมูลข่าวสารจากราชการได้ แต่หากใครเคยมีประสบการณ์ในเรื่องจะพบว่า ไม่ได้ง่าย มีขั้นตอนมากหน่วยงานของรัฐถ้าไม่กำหนดไว้ในหน้าที่จะทำให้การไปขอทรัพยากรต่างๆ เช่น ขอเงิน ขอใช้อาคารสถานที่ จะทำได้ยาก ทางกรธ.เลยมองว่า แทนที่จะเขียนว่า เป็นสิทธิ เรากำหนดให้เป็นสิ่งที่หน่วยงานของรัฐต้องทำเลยน่าจะดีกว่า ดังนั้นในประเด็นข้อสงสัยของสังคมที่ว่าจะกลายเป็นรัฐราชการหรือไม่นั้น จึงไม่ใช่ความจริง เพียงแต่เปลี่ยนในหมวดนี้คือการเปลี่ยนในสิ่งที่ประชาชนต้องได้จริงๆ ไม่ใช่ได้เฉพาะว่าเป็นสิทธิ เพราะเเบบนั้นคนที่ได้ก็ต้องไปร้องขอ คนไม่ร้องขอก็ไม่ได้ การเขียนเป็นหน้าที่จะทำให้ทุกคนได้หมด หน่วยงานของรัฐก็จะไม่รู้สึกว่าเป็นภาระ เพราะสิ่งเหล่านั้นได้กำหนดเป็นหน้าที่เรียบร้อยเเล้ว ในกฎหมายปกครองก็บอกไว้ว่า ถ้าไม่ใช่หน้าที่ หน่วยงานของรัฐก็ไม่สามารถทำได้"
นอกจากนี้ ศ.ดร. ศุภชัย กล่าวถึงระบบการเลือกตั้งในร่างรัฐธรรมนูญ ล่าสุดว่า รัฐธรรมนูญหลายฉบับที่ผ่านมาจะใช้คำว่า บัตรเลือกตั้ง แต่รัฐธรรมนูญนี้จะไม่เขียนว่า บัตรเลือกตั้ง เพราะเรามองว่า หากเขียนว่า บัตรเลือกตั้งถ้าโลกเปลี่ยนไป และต่อไปการลงคะเเนนเสียงอาจจะไม่ได้ต้องทำผ่านสิ่งที่เรียกว่าบัตร ทำให้ต้องไปแก้รัฐธรรมนูญก่อน ดังนั้นทาง กรธ. จะพยายามระวังการใช้คำพวกนี้ เพราะเชื่อว่า เราไม่สามารถที่จะทำอะไร หรือเขียนอะไรให้ครบถ้วนทั้งหมด
"ในช่วงต้นของการร่างรัฐธรรมนูญมีการเชิญองค์กรอิสระมาคุยว่า เขาอยากเห็นอะไร ในตัวรัฐธรรมนูญชั่วคราวให้กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการในการรับฟังความคิดเห็น แต่ว่า กรธ.มองว่า หลักเกณฑ์ที่ดีที่สุดก็คือ ไม่มีหลักเกณฑ์ แปลว่า ใครอยากแสดงความเห็นอะไรในช่องทางไหน ก็สามารถทำได้ แต่ข้อกังวลคือ ทางกรธ.จะสามารถย่อยได้หมดหรือไม่ อย่างในช่วงนี้ 15 วัน เราจะเปิดรับฟังความเห็นที่เป็นทางการ ทั้งการ คสช. ครม. สตช. เป็นต้น พอเราทำแบบนี้ก็จะมีหลายเรื่องที่จะต้องนำมาทำในกฎหมายลูกต่อไป"