ทสปท. แถลงไม่รับร่างบริหารบุคคล ฉบับสกอ. เเนะแก้ไขระเบียบเดิม
ทสปท. แถลงผลการประชุมไม่รับร่างบริหารบุคคล ฉบับ สกอ. ชี้ร่างฯ ล่าสุด ส่อก่อปัญหาธรรมาภิบาล แนะแก้ไขพ.ร.บ.เดิมปี 47และ ปี 51 แทน พร้อมเสนอ ร่างฉบับที่ 3 จัดการปัญหาสวัสดิการอย่างเป็นธรรม
วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2559 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา สภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย(ทสปท.) จัดแถลงผลประชุมร่วม 4 ฝ่าย โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รัฐกรณ์ คิดการ ประธาน ทสปท. กล่าวถึง ผลการรับฟังความคิดเห็นของบุคลากรของแต่สถาบันที่มีต่อ (ร่าง) พ.ร.บ.การบริหารงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ........ ข้าราชการและพนักงาน ไม่เห็นด้วยกับ(ร่าง) พ.ร.บ.การบริหารงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา ฉบับ สกอ. เนื่องจากร่างดังกล่าวให้อำนาจฝ่ายบริหารและสภามหาวิทยาลัยมากเกินไปโดยไม่ได้สร้างกลไกในการตรวจสอบ ถ่วงดุล ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาธรรมาภิบาลตามมาอีกมากมาย และอาจจะหนักกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ เพราะการบริหารงานบุคคลแทบทุกเรื่องมอบให้แต่ละมหาวิทยาลัยไปออกข้อบังคับเอง ทำให้เกิดปัญหาความแตกต่างเหลื่อมล้ำในแต่ละสถาบัน โดยเฉพาะการให้นายกสภาเป็นผู้บังคับบัญชาอธิการบดี หากถูกกล่าวหาว่าผิดวินัย หากมีกรณีอธิการบดีทำผิดแต่นายกสภาไม่ตั้งกรรมการสอบ ก็ไม่สามารถร้องเรียน หรือดำเนินการใดๆ ได้ เนื่องจากนายกสภาถือเป็นคนนอก ไม่ใช่ทั้งข้าราชการหรือพนักงาน จะไม่สามารถดำเนินการใดๆ กับนายกสภาได้
"ดังนั้นในที่ประชุมร่วมทั้ง 4 ฝ่าย จึงมีความเห็น เสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2547 และฉบับที่ 2 พ.ศ. 2551 แทน นอกจากนี้ ขอเสนอ (ร่าง) พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชกาพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ฉบับที่ 3 พ.ศ.... ซึ่งที่ประชุม ทปสท. ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นเเล้ว”
ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทองเจือ เขียดทอง ประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการมหาวิทยาลัยราชภัฎ(ทปมรภ.) กล่าวว่า ทั้งข้าราชการและพนักงานส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยที่จะยกเลิก พร.บ. ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2557 และฉบับที่ 2 พ.ศ. 2551 แต่เสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติม เป็นฉบับที่ 3 แทน เพราะสามารถแก้ไขปัญหาของข้าราชการที่ต้องการใหม่มีบัญชีเงินเดือนเป็นการเฉพาะและสามารถปรับขึ้นเงินเดือนได้เหมือนข้าราชการครู ในส่วนของพนักงานนั้นสามารถนำเอาประเด็นที่พนักงานต้องการ เช่นเรื่องเงินเดือน สวัสดิการ การรักษาพยาบาล บำเหน็จบำนาญ มาแก้ไขเพิ่มเติมไว้ในการแก้ไขนี้ด้วย ซึ่งสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว เพราะมีการแก้ไขเพียงไม่กี่มาตรา นอกจากนี้การยกเลิก พ.ร.บ. ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาเดิม ทั้งหมดคณะกรรมการจะต้องมีการออก กฎประกาศ ระเบียบต่างๆ และสถาบันต่างๆ ก็ต้องไปออกข้อบังคับ ระเบียบต่างๆ ตามอีกเป็นจำนวนมาก
ขณะที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์สันติพงศ์ ตั้งธรรมกุล คณะกรรมการที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(คปมทร.) กล่าวว่า (ร่าง) พ.ร.บ.การบริหารงานบุคคลในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ..... ยังมีความสับสนในการบังคับใช้ระหว่างมหาวิทยาลัยที่เป้นส่วนราชการกับมหาวิทยาลัยในกำกับ โดยในช่วงแรกของการยกร่าง และส่งไปให้สถาบันต่างๆ ทำประชาพิจารณ์ ระบุไม่บังคับใช้กับมหาวิทยาลัยในกำกับ แต่ในร่างสุดท้ายกลับจะให้บังคับใช้ด้วย ทั้งที่เนื้อหาภายในกลับไม่ได้มี การแก้ไขให้สอดคล้องกัน เช่น องค์ประกอบของคณะกรรมการ หน้าทีของกรรมการ และสาระสำคัญสอดคล้องกับการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับที่ต้องการความเป็นอิสระ แต่ยังคงคำนึงถึงเฉพาะมหาวิทยาลัยที่เป็นของรัฐ
นอกจากนี้ ประธาน คปมทร. ยังกล่าวอีกว่า การยกเลิก พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2547 จะกระทบกับมหาวิทยาลัยที่เป็นส่วนราชการ ที่ให้เบิกเงินประจำตำแหน่งผู้บริหารจากงบประมาณแผ่นดิน (ระบุไว้ในมาตรา 26, 27 พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2547) รวมทั้งการไม่มีการระบุรายละเอียด ตำแหน่ง ความก้าวหน้าของสายสนับสนุน (ทั้งข้าราชการและพนักงาน) ไว้ในร่าง พ.ร.บ.นี้ ระบุเพียงให้เป็นไปตามข้อบังคับของสถาบัน ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาต่อข้าราชการและพนักงานที่ไม่มีความก้าวหน้า
ทางด้านรองศาสตราจารย์ ดร.วีรชัย พุทธวงค์ เลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา (CHES) กล่าวว่า มาตรา 78 เป็นมาตราที่มีผู้คัดค้านจำนวนมากตั้งแต่การทำประชาพิจารณ์ครั้งแรก เนื่องจากเป้นการบังคับใช้ทั้งข้าราชการและพนักงานสายวิชาการ ต้องเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการถ้าไม่ได้ตามระยะเวลาที่กำหนด มีโทษถึงขั้นให้ออกจากราชการ ซึ่งถือว่าแรงเกินไปและเป็นการเลือกปฏิบัติเฉพาะกลุ่มบุคลากรอุดมศึกษาเท่านั้น (ข้าราชการและพนักงานกลุ่มอื่นไม่มีกรณีแบบนี้) ในขณะที่เมื่อมีการพิจารณาปรับเงินเดือน 4% ที่ผ่านมา กลับยกเว้นไม่ปรับขึ้นให้กับคนกลุ่มนี้ ซึ่งถือว่าไม่เป็นธรรม หากต้องการให้อาจารย์ทำผลงานทางวิชาการควรสร้างกลไกสนับสนุน และสร้างแรงจูงใจในทางบวกมากกว่า
สำหรับข้อเรียกร้องของพนักงานส่วนใหญ่โดยเฉพาะในเรื่องของเงินเดือน 1.5 และ 1.7 เท่า ของข้าราชการนั้น รศ.ดร.วีรชัย กล่าวว่า เมื่อศาลปกครองตัดสินแล้วว่าต้องจ่ายตามนั้นก็ควรเร่งแก้กฎหมายหรือกำหนดเป็นมาตราการให้ทุกมหาวิทยาลัยดำเนินการโดยเร็ว
"เรื่องกองทุนสวัดิการพนักงาน สวัดิการรักษาพยาบาล และบำเน็จบำนาญ นั้นก็สามารถแก้ไขเพิ่มเติมใน พ.ร.บ.เดิมเพียงไม่กี่มาตราก็สามารถดำเนินการได้และเร็วกกว่าการออกเป็น พ.ร.บ. ฉบับใหม่”