“คนหนีทุนมีทั่วโลก การพัฒนาจิตสำนึกต่ำลง” ดร. กิตติศักดิ์ ปรกติ ถามใช่ปัญหาสังคมหรือไม่?
“คนหนี ทุนมีทั่วโลก เป็นเพราะการพัฒนาจิตสำนึกตกต่ำลง เรื่องแบบนี้ต่างหากที่เราต้องรับปลูกฝัง ไม่ใช่แค่รักษาความสงบแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น”
ดร. กิตติศักดิ์ ปรกติ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา กรณีทันตแพทย์หญิง มหาวิทยาลัยชื่อดังได้รับทุนไปเรียนต่อในต่างประเทศ แต่ไม่ยอมกลับมาใช้ทุนคืนด้วยการรับราชการต่อตามสัญญา สุดท้ายหน่วยงานต้นสังกัดต้องทวงถามจากผู้ค้ำประกันแทน
ดร. กิตติศักดิ์ บอกว่า การหนีทุนมีมาตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ขณะที่สัญญาการให้ทุนการศึกษา ก็ผูกมัดเหมือนกันทั่วโลกให้ทุนไปเพื่อกลับมารับใช้ ส่วนการพบผู้รับทุนทำผิดสัญญาจนมีคดีที่ขึ้นสู่ศาลปกครองมีจำนวนมากขึ้นนั้น รวมถึงผู้รับทุน ที่ไม่เดินทางกลับมา นั่นแสดงว่า เป็นปัญหาของสังคมไทย
ในมุมมองนักกฎหมาย การใช้กระบวนการทางกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องนั้น เขาเห็นว่า เรื่องนี้ต้องสร้างวัฒนธรรมองค์กรขึ้นมา เนื่องจากคนเดี๋ยวนี้ให้ความสนใจประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม การได้ทุน ถือว่าเป็นประโยชน์ของตัวเอง เขาก็เลยไม่คิดใช้ หากหน่วยงานไม่สร้างวัฒนธรรมองค์กร รัฐผู้ซึ่งให้ทุนไม่สร้างวัฒนธรรมความตื่นตัวที่จะมุ่งรับใช้สังคม เราก็จะได้คนที่เป็นเหยื่อมาจากสังคมบริโภค
“ผู้รับทุนก็ยิ่งเห็นว่าทุนก็เหมือนกับการถูกล็อตเตอร์รี่ แล้วคนอื่น ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันจะต้องรับเคราะห์ มองเป็นเรื่องที่เสี่ยงมาเอง ไม่ได้เห็นเป็นเรื่องบุญคุณแต่อย่างใด”
ดร. กิตติศักดิ์ ยกตัวอย่างการที่ลูกที่ไม่ดูแลเลี้ยงดูพ่อแม่ ทำให้เห็นว่า เรื่องความสำนึกในบุญคุณสำหรับประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ที่ยิ่งไปกว่านั้น คือ มีการท้าทายสถาบัน ท้าทายการปกครอง โดยมีอยู่ 2 ส่วนคือ กลุ่มที่มีเหตุผลกับกลุ่มที่ไม่มีเหตุผล นั่นเป็นเพราะว่า เขามีได้เห็นถึงบุญคุณ ไม่มีการสร้างสำนึก และไม่มีเหตุผลรองรับ
“จึงเกิดคำถามว่า ทหารมีไว้ทำไม? ไม่เคยมีการอธิบายไว้ว่า ทหารมีไว้ทำไม หรือถ้าต่อไปไม่มีการอธิบายคุณค่าของศาสนาก็จะมีคนเกิดคำถามขึ้นมาอีกว่า พระมีไว้ทำไม? สังคมจะต้องเรียนรู้เรื่องพวกนี้”
ดร. กิตติศักดิ์ เห็นว่า ปรากฎการณ์หลายๆ ที่เกิดขึ้น เป็นการแสดงถึงความบกพร่องของรัฐบาลที่ไมได้ให้การศึกษาอย่างเพียงพอ
“คุณลองคิดดูว่าครอบครัวลูกเดี๋ยวนี้ไม่รู้สึกกตัญญูต่อพ่อแม่ ไม่ต้องรับผิดชอบอะไร ถือว่าเป็นปัญหาสังคมหรือไม่ ทั้งๆ ที่ รัฐควรต้องวางนโยบายสาธารณะในการแก้ปัญหาเหล่านี้ ตั้งแต่เรื่องของการศึกษาลงมาเรื่อยไป อย่างเด็กแว๊นซ์ เรามองว่าเขานึกถึงคนในครอบครัวหรือไม่ ไม่หรอก เขาไม่คิดถึงหรอก ถ้าเกิดเขาตายหรือบาดเจ็บไปก็คิดว่า คือ ชะตากรรมของตัวเขาเอง ไม่เคยคิดว่าส่วนหนึ่งของเขาก็คือของพ่อแม่ นี่คือสิ่งที่สังคมไทยกำลังขาดหายไป”
กรณีสัญญาการให้ทุนของประเทศไทย ผูกมัด หรือตึงเกินไปหรือไม่นั้น นักกฎหมาย มธ. บอกว่า สัญญาการให้ทุนก็ผูกมัดเหมือนกันทั่วโลก ให้ทุนไปเพื่อกลับมารับใช้ ของคนไทยที่ไม่กลับมานั่นแสดงว่า เป็นปัญหาของสังคมไทย
“คนหนีทุนมีทั่วโลก เป็นเพราะว่า การพัฒนาจิตสำนึก ตกต่ำลง ทุกคนก็ตกเป็นเหยื่อกันหมด อย่าลืมว่าคนที่ทำอะไรก็ตามโดยที่ไม่คำนึงถึงคนอื่น คนที่ขี่มอเตอร์ไซค์ผ่าไฟแดง เพราะเห็นว่ารถว่าง ถ้ามีรถอื่นมาชนก็เดือดร้อนกันทุกคน ที่เขายังทำอยู่เพราะเกิดกระบวนการในความคิดว่า ไม่ต้องไปนึกถึงคนอื่นนอกจากตัวเขา คิดแต่ประโยชน์ที่เขาจะได้รับว่าไปได้เร็ว เราฉลาด เราเก่งที่สามารถฝ่าฝืนกฎหมายได้ ซึ่งเรื่องแบบนี้ต่างหากที่เราต้องรับปลูกฝัง ไม่ใช่แค่รักษาความสงบแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น”
ส่วนสัญญาการรับทุนที่ต้องระบุ ให้การกลับมาชดใช้ทุนกับต้นสังกัด เป็นระยะเวลากี่เท่านั้น ดร. กิตติศักดิ์ ชี้ว่า ที่สัญญา เป็นแบบนี้อาจจะเป็นเพราะคนหนีทุนกันมากขึ้น เลยกลายเป็น 3 เท่า “สมัยก่อนตอนที่ตัวผมเองรับทุน เขาก็บอกว่าต้องใช้ทุน 2 เท่า”
สำหรับการนำเรื่องการผิดสัญญารับทุน จนเป็นคดีความ สุดท้ายต้องนำเรื่องเข้าสู่ศาลล้มละลายนั้น ดร. กิตติศักดิ์ มองว่า แก้ปัญหาได้เฉพาะเรื่อง ทั้งนี้ กรณีที่เป็นข่าวไม่จำเป็นต้องไปฟ้องล้มละลายด้วยซ้ำ ฟ้องแพ่งธรรมดาก็ได้แล้ว
“และหน่วยงานรัฐ องค์กรต้นสังกัด ต้องคิดว่า ไม่ใช่ฟ้องเพื่อที่จะได้เงินจำนวนนี้ แต่เป็นการฟ้องเพื่อสร้างให้เกิดผลกระทบต่อสังคมที่จะต้องคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม มากกว่าประโยชน์ส่วนตน ไม่ใช่ฟ้องเพื่อที่จะลงโทษแล้วสังคมก็ยังเป็นเหมือนเดิม ไม่มีประโยชน์หรอกแบบนี้”