กลั่น 9 บทเรียนจัดการน้ำท่วม บน “ทุนเดิมขบวนชุมชน”
เครือข่ายองค์กรชุมชนทั่วประเทศทั้งในเมืองและชนบท เริ่มมีบทบาทสำคัญในการจัดการภัยพิบัติอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งเกิดอุทกภัยทั่วประเทศ จนถึงปีนี้ที่เกิดมหาอุทกภัยก็เป็นบททดสอบสำคัญว่าชุมชนมีขีดความสามารถจัดการภัยพิบัติมากน้อยแค่ไหน
………………
จากการสรุปบทเรียนเครือข่ายองค์กรชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง มีประเด็นทางความคิดและประสบการณ์ที่น่าสนใจมากมาย ดังนี้
1.สภาองค์กรชุมชนแจ้งเกิดและกองทุนสวัสดิการมีบทบาทสำคัญ
สภาองค์กรชุมชนซึ่งจัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน 2551 กว่า 2,800 สภา(สมาชิกกว่า56,000 องค์กร) เป็นแกนหลักทำงานจัดการภัยพิบัติโดยชุมชนในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ ทั้งในแง่การจัดการปัญหาเฉพาะหน้า หุงหาอาหารให้ผู้ประสบภัย ประสานการช่วยเหลือจากภายนอก จัดตั้งและบริหารศูนย์อพยพ จัดหาเครื่องอุปโภคบริโภคช่วยผู้ประสบภัยในที่อื่นๆ เวทีที่ประชุมสภาองค์กรชุมชนระดับจังหวัดจะเป็นเวทีสำคัญเสนอแนะนโยบายบริหารจัดการน้ำจากภาคประชาชนไปสู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
อีกเครือข่ายที่มีบทบาทสำคัญคือ “กองทุนสวัสดิการชุมชน” ซึ่งมีกว่า 3,700 กองทุนทั่วประเทศ สมาชิกกว่า 2 ล้านคน ในพื้นที่ประสบภัยมีมากกว่า 1,000 กองทุน กองทุนเหล่านี้ช่วยเหลือเยียวยาสมาชิกในรูปแบต่างๆ นอกพื้นที่ประสบภัยเครือข่ายสวัสดิการหลายจังหวัดก็ระดมทุนไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย
2 เครือข่ายองค์กรชุมชน 2 นี้มีบทบาทสำคัญในการจัดการภัยพิบัติโดยตรง สภาองค์กรชุมชนมีสถานะเชื่อมประสานฝ่ายต่างๆในชุมชน เพราะไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง เป็นเครือข่ายองค์กรชุมชนประเภทต่างๆที่กว้างขวางที่สุดและมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่จะเสนอนโยบายสาธารณะต่อรัฐในระดับต่างๆได้
2.จะสนับสนุนร้านค้าส่งขนาดยักษ์หรือวิสาหกิจชุมชน
อุทกภัยครั้งนี้กระทบกับการผลิตเครื่องอุปโภคบริโภคของโรงงานต่างๆอย่างกว้างขวาง คนเมืองหลวงต้องร้องขอข้าวขอน้ำจากคนชนบท รัฐบาลต้องนำเข้าอาหารและน้ำจากต่างประเทศ แต่น้อยคนที่จะนึกถึงโรงสีชุมชน โรงน้ำดื่มชุมชน โรงผลิตน้ำพริกของชุมชน ฯลฯ ทั้งๆที่ปัจจุบันมีวิสาหกิจชุมชนหลายหมื่นแห่ง ผลิตเครื่องอุปโภคบริโภคทุกประเภท เมื่อนึกถึงการจัดหาของ (supply)ช่วยเหลือผู้ประสบภัย แหล่งที่คนทั่วไปในสังคมนึกถึงเสมอคือโรงงานหรือร้านค้าส่งขนาดยักษ์ ทำอย่างไรที่เราจะให้วิสาหกิจชุมชนเข้ามามีบทบาทสำคัญจัดหาข้าวของ และเป็นการสร้างรายได้และความเข้มแข็งให้กับท้องถิ่นด้วย
ในการเตรียมรับมือภัยพิบัติของชุมชนเอง ก็ควรจัดทำแผนที่แหล่งสินค้าจำเป็นของชุมชนในจังหวัดหรือพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อการประสานงานจัดหาสิ่งของ ไม่ใช่พึ่งแต่โรงงานดังเช่นปัจจุบัน พอโรงงานในเมืองหลวงมีปัญหาก็ขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภคกันทั่วประเทศ
3.ถึงเวลาหรือยังที่จะย้ายชุมชนหรือห้ามสร้างบ้านชั้นเดียว
อุทกภัยครั้งนี้บอกเราว่าพื้นที่อยู่อาศัยหลายแห่งทั่วประเทศทั้งริมแม่น้ำและบนภูเขาเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างร้ายแรง (รวมทั้งกรุงเทพ หาดใหญ่) หลายชุมชนที่เจอน้ำท่วมซ้ำซากอาจต้องพิจารณาย้ายชุมชนหรือปรับปรุงระบบภายในชุมชนทั้งหมด เช่น ต้องยกบ้านสูงพ้นน้ำ บางหลังอาจต้องสร้างเป็นเรือนแพลอยน้ำ ขุดคูลองสร้างทางน้ำผ่าน ฯลฯ อบต./เทศบาล/กทม.อาจต้องห้ามสร้างบ้านเพิ่มเติมในบางพื้นที่ ห้ามสร้างบ้านชั้นเดียวในบางจุดที่พบว่าท่วมมิดหลังคาในปีนี้ โดยออกเป็นเทศบัญญัติหรือข้อบัญญัติตำบล
ทั้งนี้เพื่อลดภาระของชุมชนในการจัดการภัยพิบัติที่จะมาเร็วและแรงขึ้นทุกปี
4.ผู้ประสบภัยต้องแก้ปัญหาตนเอง
ความคิดโดยทั่วไปเรื่องภัยพิบัติคือต้องมีคนไปช่วยผู้ประสบภัย จึงพยายามออกแบบระบบ(ทั้งรัฐและเอกชน) โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานว่าคนภายนอกต้องช่วยผู้ประสบภัย ไม่เคยมีความคิดว่าแค่ช่วยให้เขาช่วยเหลือตนเองอย่างเร็วที่สุดเท่านั้น เช่น ขณะนี้มีความต้องการอีเอ็มบอลล์บำบัดน้ำเสีย อาสาสมัครทั้งประเทศก็เร่งมือผลิตอีเอ็มบอลล์นับได้หลายล้านก้อน นี่เป็นเรื่องดี แต่ถามว่าผู้ประสบภัยในศูนย์อพยพที่มีคนอยู่หลายหมื่นคนทำเองได้ไหม ทำได้ง่ายมาก ทำไมเราไม่กระตุ้นให้ผู้ประสบภัยทำเล่า
แรกเริ่มประสบภัย จะมีหน่วยงานต่างๆหุงอาหารให้ งานนี้ควรทำให้สั้นที่สุด แล้วพยายามให้ทุกครอบครัวหุงหาอาหารเอง ให้แต่ละศูนย์อพยพจัดการเรื่องอาหารเอง จะทำครัวร่วมหรือแยกกันทำก็ว่ากันไป เราต้องช่วยผู้ประสบภัย แต่การช่วยเหลือทุกรูปแบบต้องสั้นที่สุดเพื่อให้เขาตั้งตัวได้และช่วยเหลือตนเอง การมีศูนย์อพยพก็ควรมีสั้นที่สุด ผู้ประสบภัยต้องพร้อมที่จะกลับไปพึ่งตนเองของครอบครัวอยู่แล้ว
5.งานภัยพิบัติบอกว่าทุกจุดต้องพึ่งตนเอง
ถ้าทุกครอบครัวมีอาหารการกินเพียงพอ มีน้ำดื่มไม่ขัดสน มีเชื้อเพลิงครบถ้วน มีเรือครบครันหมู่บ้านจะไม่มีภาระในการจัดการผู้ประสบภัย ตำบลไม่มี จังหวัดไม่มีและสุดท้ายคือประเทศไม่ต้องมีภาระในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นอภิมหากิจกรรมดังที่เป็นอยู่ แนวคิดพื้นฐานในการออกแบบระบบเตรียมตัวรับมือภัยพิบัติต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานว่าทุกชุมชน ทุกครอบครัวจะพึ่งตนเองได้อย่างไรให้มากที่สุด แล้วจึงออกแบบว่าการช่วยเหลือจากภายนอกจะเข้ามาอย่างไรถ้าจำเป็น
ธรรมชาติของทุกครอบครัวพึ่งตนเองอยู่แล้ว เริ่มต้นจากจุดนี้ มดปลวกยังเตรียมตัวรับมือน้ำท่วม
6.จัดการปลายทาง อย่ามุ่งแต่ต้นทาง
เมื่อเกิดภัยพิบัติ คนจะสนใจแต่ว่าจะหาของไปช่วยคนอย่างไรให้มากที่สุด เร็วที่สุด แล้วถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐาน กลับบ้าน จบข่าว เน้นการทำงานที่ต้นทางกันทั้งหมด ไม่มีใครสนใจทำงานที่ปลายทาง ซึ่งก็คือการจัดระบบชุมชน จัดระบบผู้ประสบภัย ทั้งในศูนย์อพยพและในชุมชน
การได้รับของไม่ทั่วถึง รับมากจนสามารถเปิดร้านขายของชำได้ รับของที่ไม่ต้องการ ทะเลาะกันเพราะของบริจาค ฯลฯ ล้วนมาจากการที่ชุมชนไม่สามารถจัดระบบของตนเองได้และหน่วยงานต่างๆก็ดูจะไม่สนใจที่จะไปจัดระบบตรงนี้ มีชุมชนจำนวนมากพยายามจัดการบริหารตรงนี้ก็ถูกผู้ใจบุญต่อต้านหาว่าจะมาเป็นนายหน้ารับของ ทั้งๆผู้นำชุมชนพยายามบอกว่าเอาของมาลงที่ส่วนกลางเถิด ศูนย์ประสานของชุมชนจะช่วยจัดการ จะได้กระจายทั่วถึงทุกครัวเรือน การเข้าไปแจกของตามอำเภอใจยิ่งทำให้ชุมชนแตกแยก
ถ้าสามารถจัดการปลายทางได้ ปัญหาและภาระจำนวนมากของหน่วยงาน ของคนที่ต้องการช่วยเหลือจะเหลือน้อยมาก เพราะชุมชนจัดการตนเอง ตั้งแต่เตรียมตัวรับภัยพิบัติ ถ้าต้องการความช่วยเหลือก็มีน้อยมาก รวบรวมมาเป็นระบบ แจกจ่ายทั่วถึงเป็นธรรม การจัดการที่ปลายทางต้องเชื่อก่อนว่าชุมชนสามารถจัดการตนเองได้และจัดการดีกว่าหน่วยงานภายนอก
7.ให้องค์กรชุมชนเป็นแกนกลางในการจัดการ
การจัดการที่ปลายทาง อย่าฝากไว้ที่ผู้นำคนใดคนหนึ่ง ต้องฝากไว้ที่คณะบุคคลคือองค์กรชุมชน
เมื่อเกิดภัยร้ายแรงตั้งแต่สมัยสึนามิเป็นต้นมา คนส่วนใหญ่จะถามถึงหน่วยงานระดับชาติที่มาจัดการโดยเฉพาะ อุทกภัยครั้งนี้ก็แบบเดียวกัน แต่ไม่มีใครนึกถึงองค์กรชุมชน ซึ่งสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนประมาณการว่าน่าจะมีอยู่มากกว่า 250,000 องค์กรทั่วประเทศ
ถึงเวลาแล้วที่ชุมชนระดับตำบลต้องจัดตั้งคณะกรรมการจัดการภัยพิบัติตำบลหรือเมือง เพื่อทำหน้าที่เตรียมแผนรับมือ เผชิญหน้าและฟื้นฟูชุมชนหลังภัยพิบัติ องค์ประกอบของคณะกรรมการจะมาจากองค์กรชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต.และผู้เคยประสบภัยและมีหน่วยงานต่างๆเป็นที่ปรึกษา คณะกรรมการชุดนี้ต้องมีแผนรับมือภัยพิบัติ บอกว่าทุกครอบครัวต้องเตรียมตัวอะไรอย่างไร ต้องปรับปรุงถนนหนทาง คูคลองหนองบึงที่ตรงไหน จุดอพยพคน สัตว์ รถยนต์คือที่ใด ต้องมีฉางข้าวรวมหรือเปล่า จะซ้อมการอพยพเมื่อไหร่ ฯลฯ ถึงยามเกิดภัยก็ต้องบริหารศูนย์อพยพหรือศูนย์ประสานงาน หลังเกิดเหตุก็ระดมคนทั้งตำบลมาวางแผนฟื้นฟูชุมชนทุกด้าน รวมถึงการเสนอนโยบายต่างๆต่อหน่วยงานของรัฐ
ถ้าทุกตำบลทุกเมืองทำได้ หน่วยงานต่างๆจะประสานงานการช่วยเหลือได้ตรงจุด และการจัดการภัยพิบัติก็จะมีประสิทธิภาพโดยอัตโนมัติ เพราะมี 8,000 คณะกรรมการท้องถิ่นซึ่งรู้ทุกซอกทุกมุมในท้องถิ่นของตนเองทำงาน ดีกว่ามีหน่วยงานรวมศูนย์สั่งการระดับชาติที่มีอำนาจล้นฟ้าเพียงหน่วยเดียว
ภัยพิบัติคือโอกาสที่จะทำให้ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง จัดการตนเอง
8.สามพื้นที่ที่ชุมชนต้องจัดการ
ถ้าเราอยากเห็นการพัฒนาที่ยั่งยืน พื้นที่การจัดการของชุมชนจะไม่ใช่แต่พื้นที่ตำบล ยังมีอีก 3 พื้นที่คือพื้นที่นโยบาย พื้นที่เครือข่าย และพื้นที่ทางอากาศ
ถ้าไม่อยากเห็นการรื้อบิกแบ๊ค รื้อกระสอบทราย บังคับเจ้าหน้าที่เปิดประตูน้ำ ต้องปรึกษาหารือเรื่องการบริหารจัดการน้ำตั้งแต่เริ่มต้น มีข้อตกลงร่วมระหว่างชุมชนและหน่วยงาน ระหว่างชุมชนหลังประตูน้ำกับชุมชนอื่นๆ มีคณะกรรมการร่วมจัดการตามข้อตกลงนั้น ในระดับลุ่มน้ำทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องวางแผนจัดการน้ำร่วมกัน จะสร้างถนน คูคลองหนองบึงที่ตรงไหน ต้องเจรจาหาแนวทางก่อนที่น้ำจะมา นี่คือพื้นที่นโยบายซึ่งมีทั้งระดับตำบล จังหวัด ลุ่มน้ำและประเทศ แม้แต่ระหว่างประเทศ (เช่นการจัดการลุ่มน้ำโขง)
พื้นที่ที่สาม คือเครือข่าย นอกเหนือจากองค์กรชุมชนในตำบลในท้องถิ่น ต้องเชื่อมโยงเครือข่ายองค์กรชุมชนพื้นที่อื่นๆแก้ปัญหาร่วมกัน เชื่อมโยงเทศบาล อบต.หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง องค์กรพัฒนาเอกชน อาสาสมัคร เพื่อสานพลังสู้อุทกภัย เพราะแต่ละหน่วยงานชำนาญและทรัพยากรต่างกัน เสริมหนุนกันได้
พื้นที่ที่สี่คือทางอากาศผ่านสื่อสาธารณะ ต้องมีพื้นที่ชุมชนมากขึ้น ไม่ใช่มีแต่พื้นที่ของนักการเมือง ข้าราชการระดับสูง นักวิชาการ ผู้บริจาค ปัจจุบันภาพชุมชนมีแต่ภาพคนทุกข์ ร้องขอ ร้องเรียน ต้องนำภาพการจัดการภัยพิบัติโดยชุมชนออกสู่สาธารณะมากขึ้นจนสังคมยอมรับว่าชุมชนจัดการภัยพิบัติเองได้
9.อำนาจน้อยน้ำมาก อำนาจมากน้ำน้อย
อุทกภัยครั้งนี้เดือดร้อนถ้วนหน้าทั้งคนจนคนรวย แต่ลึกลงไปพื้นที่ไหนของคนมีอำนาจ ฝ่ายการเมือง ย่านธุรกิจสำคัญ จะถูกปกป้องสุดฤทธิ์จนไม่มีน้ำแตะแม้แต่หยดเดียว ขณะที่คนชานเมืองกรุงเทพแช่ขังนานนับเดือน ไม่มีการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขกันเลย เป็นเหตุให้มีการรื้อคันกั้นน้ำ กระสอบทราย ปิดถนน บังคับเปิดประตูน้ำกันกว้างขวาง ทำไมเจึงกำหนดว่าบางพื้นที่ของกรุงเทพเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์แตะต้องไม่ได้...ใครกำหนดว่าพื้นที่ไหนน้ำจะท่วม ท่วมนานเท่าไหร่ ลึกเท่าไหร่ ทำไมผู้ได้รับผลกระทบไม่มีส่วนร่วม
การจัดการภัยพิบัติอย่างยั่งยืนต้องให้ประชาชนที่จะประสบภัยหรือประสบภัยแล้วในทุกหนแห่งลุกขึ้นมาจัดการตนเอง ทั้งระยะเฉพาะหน้าหาข้าวหาของไปจนถึงระยะฟื้นฟูชุมชนหลังภัยพิบัติ และการเตรียมตัวรับมือครั้งต่อไป ให้องค์กรชุมชนเป็นแกนกลางจัดการ องค์กรชุมชนจะทำงานในสี่พื้นที่หลัก คือตำบล/เมือง เครือข่าย นโยบาย และพื้นที่สื่อสาธารณะ
แนวทางบริหารจัดการ ต้องยึดหลักการพึ่งตนเองของครอบครัวและชุมชน การสร้างเครือข่ายช่วยเหลือ ให้ชุมชนผู้ปราสบภัยสามารถบริหารจัดการเรื่องราวต่างๆด้วยตนเองมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
………………….
ถ้าเราไม่สนับสนุนให้องค์กรชุมชนมีบทบาทสำคัญในการจัดการภัยพิบัติ การตัดสินใจอยู่ที่ผู้มีอำนาจไม่กี่คน ท้ายที่สุดจะนำไปสู่ความขัดแย้งและความทุกข์ที่ยาวนาน ซ้ำซากและความอ่อนแอของชุมชน .