ค้านเลือก ส.ว.ไขว้-กา ส.ส.บัตรเดียว! สนช.ถกข้อดี-ข้อเสีย รธน.ชง กรธ.แก้
สนช. อภิปรายข้อดี-ข้อเสีย ร่าง รธน.ใหม่ ฉบับ ‘มีชัย’ ‘2 บิ๊กทหาร’ ขอให้บัญญัติเพิ่มทหารเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ ยันไม่ได้มีไว้ทำสงครามอย่างเดียว ‘ธานี-พล.อ.สมเจตน์’ ค้านเลือกตั้ง ส.ส.กาบัตรใบเดียว สรรหา ส.ว.ทางอ้อมแบบไขว้ ชี้เปิดช่องบล็อกโหวต ลั่นให้สรรหาโดยกรรมการ
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญพิจารณาศึกษา เสนอแนะ และรวบรวมความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ขอรับฟังความคิดเห็นของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อประกอบการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) โดยมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานฯ โดยมี สนช. อภิปรายอย่างกว้างขวางถึงข้อดีข้อเสียของร่างรัฐธรรมนูญ
@ขอให้บัญญัติเพิ่มทหารเข้าไปมีส่วนร่วมพัฒนาประเทศ
พล.อ.อ.ชาลี จันทร์เรือง กล่าวว่า มีอยู่ 2-3 ประเด็นที่อยากแสดงความเห็น ประเด็นแรก ในมาตรา 35 เกี่ยวกับสื่อมวลชน ซึ่งระบุว่า บุคคลประกอบอาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพเสนอข่าวสาร หรือแสดงความเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ จะเห็นได้ว่า ไม่มีคำว่าเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐตามบทบัญญัติของกฎหมายแบบรัฐธรรมนูญปี 2550 ตรงนี้จะทำให้การปฏิรูปด้านสื่อมวลชนในอนาคตค่อนข้างลำบาก เพราะร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้บัญญัติไว้เพียงคำว่า ตามจริยธรรมของสื่อ ดังนั้นการที่จะปฏิรูปตามนโยบายของรัฐบาล หรือตามความเห็นของประชาชนจะทำได้ยาก
พล.อ.อ.ชาลี กล่าวอีกว่า ประเด็นที่สอง ในหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ มาตรา 48 ระบุทำนองว่า รัฐพึงจัดให้มีการทหาร การทูต และการข่าวกรองที่มีประสิทธิภาพตามความเหมาะสม สังเกตว่ามีคำว่าพึง ตามสามัญสำนึกพึงคือจะจัดให้มีหรือไม่มีก็ได้ แต่ถ้าดูในรัฐธรรมนูญปี 2540-2550 จะเขียนมากกว่านี้ จึงเสนอให้ กรธ. เขียนเพิ่มเติมด้วยคำว่า รัฐต้องจัดให้มีกำลังทหาร ยุทโธปกรณ์เทคโนโลยีทันสมัย เพียงพอและจำเป็นแก่การดำเนินการดังกล่าวเพื่อพัฒนาประเทศ จะทำให้การปฏิบัติการทางทหาร การวางแผนต่าง ๆ ของทหารดีขึ้นกว่าเดิม
“ประเด็นสุดท้าย เรื่องวิธีได้มาของ ส.ว. ตรงนี้เรื่องการเลือกแบบไขว้ ยังไม่เข้าใจ และไม่ค่อยเห็นด้วย ขอเสนอให้ใช้การสรรหาอย่างเดียว มี 200 คน ก็สรรหา 200 คน” พล.อ.อ.ชาลี กล่าว
ส่วน พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร กล่าวว่า ในมาตรา 48 ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ได้พูดถึงหน้าที่ของรัฐในการพัฒนาประเทศ ไม่ได้พูดเรื่องแก้ปัญหาภัยพิบัติไว้เลย จากประเด็นปัญหานี้ทำเกิดการตีความ มีผลกระทบต่อกองทัพ ทำให้ต้องออกไปดำเนินการเองในเรื่องดังกล่าว ดังนั้นควรต้องเพิ่มบทบาทหน้าที่ของรัฐเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศ และช่วยเหลือประชาชนให้ชัดเจนในหมวดนี้ และเชื่อมโยงให้เห็นว่าภารกิจที่เพิ่มขึ้นมา ให้ทหารเข้าไปมีส่วนร่วมในการเข้าไปแก้ปัญหาด้วย
“สังคมยังมีความไขว้เขวว่า ทหารทำอะไรกันแน่ ป้องกันประเทศอย่างเดียวหรือไม่ ภารกิจกองทัพขยายขอบเขตออกไป ไม่ใช่แค่ทำสงคราม แต่ดำเนินการพัฒนาประเทศ ช่วยเหลือประชาชน เป็นภารกิจที่เพิ่มขึ้นมาจากสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน เป็นประโยชน์กับกองทัพ ทหาร สุดท้ายเป็นประโยชน์กับประชาชน” พล.อ.วรพงษ์ กล่าว
@ค้าน ส.ว.สรรหาทางอ้อม-เลือกตั้ง ส.ส. ใช้บัตรใบเดียว
นายธานี อ่อนละเอียด กล่าวว่า ประเด็นที่ของ ส.ส. กำหนดให้เลือกด้วยบัตรใบเดียว ตรงนี้ไม่เห็นด้วย เพราะกรณีการใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ตอนตนไปเลือกตั้ง ได้กาเลือก ส.ส. คนหนึ่ง แต่กาอีกพรรคหนึ่ง ดังนั้นหากใช้บัตรเดียวจะไม่มีโอกาสให้สิทธิแก่ตนในการที่จะเลือกตามเจตนารมณ์อย่างแท้จริง เท่ากับเป็นการบังคับ
นายธานี กล่าวอีกว่า ส่วนที่มาของ ส.ว. หลายปีที่ผ่านมาถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น ส.ว.เลือกตั้ง หรือ ส.ว.สรรหา แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกแบบมาให้เลือกตั้งทางอ้อม โดยให้กลุ่มวิชาชีพคัดเลือกกันเองแบบไขว้ ซึ่งตรงนี้มีประสบการณ์จากสภาสนามม้า สภาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ มาแล้วว่ามีปัญหา มีการฮั้ว บล็อกโหวตกันได้ โอกาสที่คนมีชื่อเสียงเข้ามาน้อย ซึ่งเป็นข้อบกพร่อง ตรงนี้ไม่เห็นด้วย ขอเสนอว่า ให้เปิดรับสมัครจากผู้มีประสบการณ์ มีความสามารถจากกลุ่มวิชาชีพ และใช้เขตประเทศเลือกตั้ง ให้ประชาชนเลือก โอกาสหาเสียงก็ลำบาก และจะได้บุคคลที่มีความยึดโยงกับประชาชนด้วย
ขณะที่ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม กล่าวว่า การเลือกตั้ง ส.ส. นั้น ควรมีการกำหนดเขตเลือกตั้งใหญ่ เรียงเบอร์ เขตละ 3 คน ประชาชนจะสามารถเลือกใช้เสียงได้ทุกคน ซึ่งมีข้อดีมากมาย เพราะเมื่อเขตเลือกตั้งใหญ่ขึ้น การซื้อเสียงก็ยากขึ้น เพราะต้องยอมรับว่าระบบการเมืองไทยมีการซื้อเสียง แต่ถ้าทำอย่างนี้จะทำให้คนดีมีทางเลือก หากใช้แบบแบ่งเขตละ 1 คน จะไม่มีโอกาสให้คนดีเข้ามารับใช้ประชาชน ส่วนข้อเสียของระบบนี้คือสิทธิประชาชนไม่เท่ากัน ยอมรับได้หรือไม่
ส่วนการใช้บัตรใบเดียวเลือก ส.ส. และใช้ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปั้นส่วนนั้น พล.อ.สมเจตน์ กล่าวว่า ข้อดีคือสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิมพ์บัตรเดียวการขนย้ายลดไปครึ่งหนึ่ง นับคะแนนง่ายขึ้น แต่ข้อเสียคือ แม้อ้งาว่า เพื่อให้ทุกคะแนนเสียงมีค่า ไม่ถูกทิ้ง แต่ผู้ที่แพ้เป็น ส.ส.เขต ก็สอบตกเหมือนเดิมไม่ได้รับอะไร คนได้รับคือ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนายทุนพรรค วิธีการนี้ถือว่าเป็นการบังคับประชาชน ประชาชนไม่มีทางเลือก แม้จะชอคนไม่ชอบพรรค ก็ทำได้อย่างเดียว
“ลักษณะอย่างนี้ เจตนารมณ์ของ กรธ. แสดงให้เห็นว่า ต้องยึดถือให้ทุกคะแนนมีความสำคัญ จะไม่สะท้อน ข้อเสียสำคัญที่สุดคือ การลงคะแนนบัตรเดียวต่อ ส.ส. เขต มันจะส่งผลดีหรือเสียต่อพรรคด้วย เมื่อเป็นลักษณะนี้ จะบีบบังคับให้พรรคการเมือง สนับสนุนให้การซื้อเสียงกับ ส.ส. เขตโดยตรง ไม่ว่าจะได้หรือตก เพราะ ส.ส. เขตส่งผลดีต่อ ส.ส. บัญชีรายชื่อ ส่วนใหญ่เป็นนายทุนพรรคที่หนุนทั้งนั้น เมื่อนายทุนพรรคมีโอกาส นายทุนต้องลงทุน ลงไปซื้อเสียง จะเกิดการซื้อเสียงอย่างกว้างขวางขึ้น เมื่อได้มาเป็นฝ่ายบริหาร ก็ทุจริต” พล.อ.สมเจตน์ กล่าว
ส่วนที่มาของ ส.ว. โดยการเลือกตั้งแบบไขว้จากกลุ่มวิชาชีพนั้น พล.อ.สมเจตน์ กล่าวว่า โดยธรรมชาติ ส.ว.เลือกตั้ง ไม่สามารถทำหน้าที่ได้ แต่เมื่อเป็น ส.ว.สรรหา ก็ถูกโจมตีว่าไม่ยึดโยงประชาชน แต่ กรธ. ติดกับคำว่ายึดโยงประชาชนจึงใช้วิธีการเลือกตั้งทางอ้อม ให้กลุ่มวิชาชีพต่าง ๆ และให้เลือกกันเอง พอกติกาตรงนี้ออกมาในที่สุดก็เกิดเสียงค้าน และเปลี่ยนแนวคิดเป็นเลือกตั้งทางอ้อมแบบไขว้ ซึ่งวิธีการนี้ทำให้ตนไม่เกิดความภาคภูมิใจ เพราะให้ตัวแทนกลุ่มวิชาชีพอื่นเลือก และไม่ตอบโจทย์ ซึ่งขณะนี้ไม่สามารถตอบได้ว่าดีหรือไม่ดีอย่างไรว่า จะได้ ส.ว. ที่มีคุณภาพมาทำหน้าที่ถ่วงดุล
“เสนอว่าต้องใช้ ส.ว.สรรหา มีคุณภาพ ผมฟันธง แม้จะกล่าวหาว่า ผมมาจาก ส.ว.สรรหา แต่สังคมตอบได้ว่า ส.ว.สรรหา มีคุณภาพหรือไม่ เพราะเท่าที่เห็นสามารถปฏิบัติหน้าที่ถ่วงดุลรัฐบาลได้ดี สิ่งไหนทำดีเราสนับสนุน สิ่งไหนไม่ดีเราค้านสุดหัวใจ ด้วยผลงานที่ผ่านมา ส.ว.สรรหา มีข้อดีมากกว่าข้อเสีย” พล.อ.สมเจตน์ กล่าว
พล.อ.สมเจตน์ กล่าวว่า การสรรหา ส.ว. ให้ปรับปรุงวิธีการสรรหาเสียใหม่ ให้เพิ่มคณะกรรมการสรรหาให้มากขึ้น และต้องหาบุคคลที่เป็นที่น่าเชื่อถือ ได้รับการยอมรับวางใจจากสังคม อย่าไปฟังคำติฉินนินทา ไม่ว่าจะทำอย่างไร ถ้าไม่เอื้อประโยชน์ เขาก็นินทาทั้งนั้น ถ้าสิ่งใดทำเพื่อประเทศชาติ อย่ากลัว
“ประชาธิปไตยไม่ใช่การเลือกตั้งทั้งหมด แต่การเลือกตั้งเป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย ส่วนไหนจำเป็นต้องยึดโยงประชาชนอย่าง ส.ส. จะสรรหาไม่ได้ ต้องเลือกตั้งเท่านั้น ไม่ว่าจะดีเลวอย่างไรก็ต้องทำให้ดีที่สุด เพราะเขาเหล่านั้นรับทราบความเดือดร้อนของประชาชน คิดว่าหากติดกับการยึดโยงประชาชน อยากเรียนถาว่าทำไมเราไม่ใช้ ส.ว.เลือกตั้ง แต่ที่ไม่ใช้ เพราะไม่สามารถทำหน้าที่ถ่วงดุลรัฐบาลได้ อย่าติดกับการยึดโยงประชาชน จงเลือกหนทางที่ดีที่สุดเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชนเป็นหลัก” พล.อ.สมเจตน์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส่วนใหญ่ สนช. อภิปรายเห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่ประเด็นที่มีการคัดค้านอย่างมากคือการสรรหา ส.ว. แบบไขว้