‘ศ.วิชา’ แนะรัฐธรมนูญควรระบุให้สิทธิปชช.เข้าถึงข้อมูลข่าวสาร
อดีต กก.ป.ป.ช. ชี้ปัญหาคอร์รัปชันเป็นเห็บเหาที่ฝังรากลึกมายาวนานในสังคมไทย ย้ำหน่วยงานราชการต้องมีจิตสำนึกสาธารณะ ความรับผิดชอบต่อสังคม และควรระบุในรัฐธรมนูญให้สิทธิแก่ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารทุกอย่าง
ศ.(พิเศษ) วิชา มหาคุณ อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวระหว่างการประชุมโครงการ “ศึกษาสถานภาพความรู้เรื่องความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมของไทยในปริทรรศน์ประวัติศาสตร์” ครั้งที่ 3 ซึ่งจัดโดยฝ่ายวิชาการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เรื่องขอบเขตและผลกระทบของการฉ้อราษฎร์บังหลวงต่อการพัฒนาการทางเศรษฐกิจของไทยว่า หลายทศวรรษที่ผ่านมาประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกตระหนักถึงผลร้ายที่เกิดขึ้นจากการทุจริตมากขึ้น เพราะมีผลต่อเสถียรภาพทางการเมือง การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ประเมินเป็นมูลค่าความเสียหายทั้งตัวเงินและที่ประเมินค่าไม่ได้ทางสังคมและสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ การแก้ปัญหาความยากจนของประชาชนต้องมีปัจจัยหลายอย่างเอื้ออำนวยและเกื้อหนุนทั้งความมีเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาค การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การเสริมสร้างขีดความสามารถของสถาบัน และการลงทุนในบริการต่าง ๆ ของรัฐ การทุจริตในระดับสูงจะเป็นตัวบ่อนทำลายปัจจัยเหล่านี้ ทำให้ทรัพยากรที่จะนำไปใช้ในโครงการด้านสังคมที่มีผลต่อประชาชนโดยตรงลดน้อยลง ซึ่งการแก้ปัญหาจึงต้องมีระบบการเงิน การบริหารและการควบคุมดูแลที่เข้มแข็ง แต่การทุจริตทำลายระบบและการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ การช่วยเหลือคนจนจำเป็นต้องจัดสรรงบประมาณไปให้แผนงานโครงการที่มีผลต่อการเจริญเติบโต เช่น การศึกษาขั้นพื้นฐาน การสาธารณสุขมูลฐาน
ศ.(พิเศษ) วิชา กล่าวถึงการรับสินบนขนาดใหญ่ เช่น การจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์และโครงการก่อสร้างใหญ่ ๆ ทำให้โครงการที่ควรจะได้รับประโยชน์ถูกจัดลำดับความสำคัญอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้นการทุจริตคอร์รัปชันจึงเป็นรูปแบบที่เลวร้ายอย่างหนึ่งของการเลือกปฏิบัติ เพราะจุดมุ่งหมายของการให้สินบน คือ การได้รับอภิสิทธิ์หรือการปฏิบัติที่เอื้ออำนวยจากนักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐ หากมีการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันคงจะไม่มีการให้สินบนหรือทุจริตเพื่อให้ได้รับการบริการที่ดีกว่าหรือเร็วกว่าผู้รับบริการทั่วไป
"ปัญหาคอร์รัปชันฝังรากมานานตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 มีการให้สิทธินักการเมืองเข้าไปรับสัมปทานกิจการต่าง ๆ และสืบทอดไปจนถึงรุ่นลูกหลาน ทำให้ความยากจนฝังรากอยู่ในประเทศไทยมายาวนาน คนระดับล่างที่ควรจะได้รับความช่วยเหลือจึงลดลง คนที่ได้รับผลประโยชน์ก็เป็นคนกลุ่มเดียวกัน มีส่วนได้ส่วนเสีย กลายเป็นที่มาของ “กับดักทางเศรษฐกิจ” แต่ถ้าไม่เข้าร่วมกลุ่มก็จะไม่มีโอกาสได้รับงาน อย่างไรก็ตามเรายังพอเห็นภาพการทุจริตในโครงการขนาดใหญ่ แต่การทุจริตประจำหน่วยงานต่าง ๆ เป็น “เห็บเหา” ที่เกาะกินจนถึงรากลึก ปัจจุบันหน่วยงานที่มีอำนาจในมือค่อนข้างเด็ดขาดได้เข้าไปจัดสรรโครงการใหญ่ ๆ เช่น สร้างถนน เตาเผาศพ เตาเผาขยะ แม้ผู้บริหารระดับสูงจะหลุดพ้นจากตำแหน่งไปแล้วก็ยังมีพวกพ้องบริหารงานอยู่ ทำให้เป็นช่องโหว่ของการเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์”
กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวด้วยว่า คนที่มีส่วนได้ส่วนเสียในผลประโยชน์ร่วมกันมีมากขึ้นเรื่อย ๆ เกิดเป็นเงาแห่งการทุจริตทาบทับหน่วยงานต่าง ๆ คนเหล่านี้มักไม่คำนึงถึงประโยชน์สุขของมหาชน มีจิตสำนึกสาธารณะ และมีความรับผิดชอบต่อสังคม เราจึงต้องช่วยกันสังคายนาปัญหาทุจริตคอร์รัปชันโดยเฉพาะด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบมหาศาล เพื่อให้สังคมดีขึ้น เช่น การเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายเพื่อต่อต้านการทุจริต การให้สิทธิแก่ประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของรัฐ ซึ่งควรระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ แม้จะมี พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร พ.ศ. 2540 แต่ก็ยังไม่เพียงพอเพราะประชาชนยังเข้าไม่ถึงข้อมูลในการบริหารราชการแผ่นดินอย่างแท้จริง โดยเฉพาะนโยบายแห่งรัฐ และนโยบายสาธารณะที่ใช้งบประมาณแผ่นดิน