เปิดคำฟ้องคดีล้มละลาย 'หมอฟันหนีทุน' พบยอดหนี้พุ่ง 48 ล้าน!
จำเลยไม่มีทรัพย์สินอื่นใดที่จะดำเนินการบังคับคดีได้อีก จำเลยเป็นหนี้โจทก์ทั้งสองเกินกว่า 1 ล้านบาท กรณีเข้าข้อสันนิษฐานของพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 ว่า จำเลยเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว โจทย์ทั้งสองจึงได้ฟ้องจำเลยเป็นบุคคลล้มละลายในคดีนี้
ภายหลังจากที่มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดแถลงข่าวเดินหน้าฟ้องล้มละลาย อดีตอาจารย์คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งรับทุนโครงการทุนพัฒนาอาจารย์ สาขาขาดแคลน 16 สาขา ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เพื่อศึกษาต่อปริญญาโทและเอก ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ภายหลังกลับไม่ยอมเดินทางกลับประเทศเพื่อชดใช้ทุนคืน จนส่งผลให้ผู้ค้ำประกันต้องเป็นผู้คืนเงินให้แทนนั้น
ล่าสุดกระบวนการทางกฎหมายได้เดินมาถึงขั้นตอนสุดท้ายแล้ว นั่นคือ การฟ้องล้มละลาย โดย สกอ.ระบุอัยการได้ฟ้องศาลล้มละลายแล้ว เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2558 ในคดีหมายเลขดำที่ ล.3603/2558 และศาลนัดพิจารณาคดีครั้งแรกวันที่ 14 มีนาคมนี้
สำนักข่าวอิศรา พบว่า สาระสำคัญของคำฟ้องคดีล้มละลายนั้น โจทก์ ซึ่งก็คือ มหาวิทยาลัยมหิดล โดย นายอุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลที่ 1 และสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา โดย นางสาวอาภรณ์ แก่นวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษาที่ 2 ยื่นฟ้อง จำเลย คือ นางสาวดลฤดี จำลองราษฎร์ ให้ชำระหนี้ แก่มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นจำนวน 4.58 ล้านบาท (คำนวณดอกเบี้ยถึงวันที่ 30 ตุลาคม 2558) และจำนวนหนี้ที่ต้องชำระให้สกอ. เป็นเงินจำนวน 43.27 ล้านบาท (คำนวณดอกเบี้ยถึงวันที่ 30 ตุลาคม 2558)
ส่งผลให้ปัจจุบันนางสาวดลฤดี เป็นหนี้ตามคำพิพากษาที่จะต้องชำระให้กับมหาวิทยาลัยมหิดล และสกอ. รวมเป็นเงิน กว่า 48 ล้านบาท
ทั้งนี้ ในคำฟ้องคดีล้มละลาย ระบุด้วยว่า มหาวิทยาลัยมหิดลและสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาได้เป็นผู้ฟ้องคดีที่ 1 และผู้ฟ้องคดีที่ 2 ฟ้องจำเลย, นายประสิทธิ์ จำลองราษฎร์, นางอารยา พงษ์หาญยุทธ, นางสาวภัทรวดี ผลฉาย, นายเผด็จ พูลวิทยกิจ และนางสาวพัชนีย์ พงศ์พียะ เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึงที่ 6 ตามลำดับ ต่อศาลปกครองกลาง เรียกให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (จำเลยในคดีนี้) กับพวก ชดใช้เงินคืนแก่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 (ซึ่งเป็นโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ในคดีนี้) ในกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (จำเลยคดีนี้) ทำสัญญาการเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลเพื่อศึกษาในวิชาทันตแพทย์ศาสตร์ และสัญญาของข้าราชการที่ไปศึกษาหรือฝึกอบรม ณ ต่างประเทศกับผู้ฟ้องคดีที่ 1
นอกจากนี้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ยังทำสัญญารับทุนรัฐบาล (ทบวงมหาวิทยาลัย) เพื่อศึกษาวิชาในต่างประเทศกับผู้ฟ้องคดีที่ 2 ด้วย โดยสัญญาการเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลเพื่อศึกษาในวิชาทันตแพทย์ศาสตร์ดังกล่าว มีผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ถึง ที่ 5 เป็นผู้ค้ำประกัน
ส่วนสัญญารับทุนรัฐบาล (ทบวงมหาวิทยาลัย) เพื่อศึกษาวิชาในต่างประเทศดังกล่าว มีผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ถึง ที่ 6 เป็นผู้ค้ำประกัน ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (จำเลยในคดีนี้) กับพวกผิดสัญญา ทำให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 ได้รับความเสียหายจึงได้เรียกให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (จำเลยในคดีนี้) กับพวกชดใช้เงินตามสัญญาดังกล่าว เป็นคดีหมายเลขดำที่ 1364/2557 (ฟ้องคดีวันที่ 12 พฤศจิกายน 2547)
ต่อมาเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2549 ศาลปกครองกลาง ได้มีคำพิพากษาเป็นคดีหมายเลขแดงที่ 180/2549 ว่า (1) ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (จำเลยในคดีนี้) และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินให้แก่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 จำนวน 232,975 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้นดังกล่าวนับตั้งแต่วันฟ้องคดีเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ (2) ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินให้แก่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 จำนวน 1,847,206.44 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของเงินต้นดังกล่าวนับตั้งแต่วันฟ้องคดีเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ (3) ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินให้แก่ผู้ฟ้องคดีที่ 2 จำนวน 116, 431.05 บาท กับอีก 666,131.73 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับตั้งแต่วันฟ้องคดีเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ทั้งนี้เงินตราต่างประเทศให้คำนวณเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารพาณิชย์ในกรุงเทพมหานครในวันที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ชำระเงินให้แก่ผู้ฟ้องคดีที่ 2 หากอัตราแลกเปลี่ยนในวันดังกล่าวไม่มีก็ให้ถือวันสุดท้ายที่มีอัตราแลกเปลี่ยนก่อนวันที่ชำระเงิน ทั้งนี้ให้ชำระให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก และคืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดจำนวน 52,005 บาท ให้แก่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 และจำนวน 200,000 บาท ให้แก่ผู้ฟ้องคดีที่ 2 รายละเอียดปรากฏตามสำเนาคำพิพากษาของศาลปกครอง คดีหมายเลขแดงที่ 180/2549
คดีดังกล่าวไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลปกครองสูงสุด คดีจึงถึงที่สุดแล้ว ในชั้นศาลปกครองชั้นต้น
หนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวจึงเป็นหนี้ที่เด็ดขาดและกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน ซึ่งจำเลยกับพวกจะต้องชำระให้กับโจทก์ทั้งสอง
ขณะที่โจทก์ทั้งสองได้สืบหาทรัพย์สินของจำเลยแล้ว ปรากฏว่า ไม่มีทรัพย์สินอื่นใดที่จะบังคับคดีได้
ผู้ถูกฟ้องคดีหมายเลข 2 ในคดีหมายเลขแดงที่ 180/2549 ของศาลปกครองกลางได้นำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษา เฉพาะส่วนของตนครบถ้วนแล้ว และผู้ถูกฟ้องคดี 3 ถึงที่ 6 ได้นำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวให้กับโจทย์ทั้งสองเพียงบางส่วน ส่วนจำเลยยังมิได้ชำระหนี้ตามคำพิพากษาแต่อย่างใด
ปัจจุบันจำเลยจึงยังคงเป็นหนี้ตามคำพิพากษาที่จะต้องชำระให้กับโจทก์ที่ 1 เป็นเงินจำนวน 4,518,987.60 บาท (รวมดอกเบี้ยตามคำพิพากษาคำนวณถึงวันที่ 30 ตุลาคม 2558) และจะต้องชำระให้กับจำเลยที่ 2 เป็นเงินจำนวน 43,271,448.28 บาท (รวมดอกเบี้ยตามคำพิพากษาคำนวณถึงวันที่ 30 ตุลาคม 2558 โดยคิดอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 30 ตุลาคม 2558 เท่ากับ 35.596 บาทต่อ 1 ดอลล่าร์สหรัฐอเมริกา) ตามลำดับ
จำเลยเพิกเฉยไม่นำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์ทั้งสอง ซึ่งโจทก์ทั้งสองได้ทำการเร่งรัดหนี้ตามคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว และจำเลยไม่มีทรัพย์สินอื่นใดที่จะดำเนินการบังคับคดีได้อีก จำเลยเป็นหนี้โจทก์ทั้งสองเกินกว่า 1 ล้านบาท กรณีเข้าข้อสันนิษฐานของพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 ว่า จำเลยเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว โจทย์ทั้งสองจึงได้ฟ้องจำเลยเป็นบุคคลล้มละลายในคดีนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
"มหิดล" เล็งฟ้องล้มละลาย ทันตแพทย์หนีชดใช้ทุน ก่อนหมดอายุความ 14 ก.พ.
สกอ.สรุปภาพรวม 10 โครงการ 'ทุน' พัฒนาอาจารย์ พบ 'ผิดสัญญา' อื้อ
คำสอนสุดท้ายจาก'อ.อารยา' ถึงศิษย์ชื่อ 'ดลฤดี'-ผู้ค้ำราย4 ใช้หนี้แทน2แสน
"อิศรา" ค้นคำพิพากษาคดี 'ทันตแพทย์ มหิดล' เบี้ยวทุน ไฉนต้องชดใช้ 30 ล.
ล่าข้ามโลก! เผยโฉมที่ทำงานอดีตอ.สาวมหิดล ในฮาวาร์ด หลังหนีทุนไม่กลับปท.