คนคอนฯ ชี้ภัยพิบัติใต้ต้นปียังไม่เยียวยา หวั่นอุทกภัยรอบใหม่หนักกว่าเดิม
นครศรีฯ หวั่นภัยพิบัติหนักระลอกใหม่ ชี้อุทกภัยต้นปียังเยียวยาล่าช้า ศูนย์อาสาฯ แนะให้ความรู้ชาวบ้านเอาตัวรอด เสนอแผนบูรณาการ 5 หน่วยงานรัฐ ด้านนายกฯ อบต.กรุงชิงวอนรักษาป่าป้องกันระยะยาว
อุทกภัยในพื้นที่ภาคกลางเริ่มคลี่คลาย แต่สถานการณ์ในภาคใต้เริ่มส่อเค้าว่าจะรุนแรง โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน(อุทกภัย) 7 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ พัทลุง ตรัง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช นราธิวาส สงขลา และจังหวัดยะลา ครอบคลุม 49 อำเภอ 247 ตำบล 1,477 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 154,144 ครัวเรือน 324,242 คน โดยขณะนี้มีผู้เสียชีวิต 7 ราย โดยเฉพาะ อ.พระพรหม นบพิตำ ชะอวด และพิปูน จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงมากที่สุด
ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา สัมภาษณ์ นายพล จันทร์ชุม นายกองค์การบริหารส่วนตำบลกรุงชิง อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า กรุงชิงแม้เป็นพื้นที่ราบสูง แต่อยู่ในเขตเทือกเขาหลวงมีเขาต่างๆรายล้อมมากมาย และมีการถางป่าปลูกพืชสวน เช่น ยาง ปาล์ม ส่งผลให้เป็นพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมและดินสไลด์ เนื่องจากไม่มีป่าไม้ช่วยชะลอน้ำ เช่น สัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดฝนตกหนักที่หมู่ 8 ต.กรุงชิง ทำให้ดินสไลด์
นายพล กล่าวต่อว่า ในพื้นที่เพิ่งประสบภัยพิบัติมาเมื่อต้นปี 54 ผ่านมาหลายเดือนแล้ว แต่ความเสียหายก็ยังไม่ได้รับการฟื้นฟูเยียวยาอย่างเต็มที่ ชาวบ้านจึงหวั่นวิตกกับภัยพิบัติที่กำลังเกิดขึ้นอีกรอบเพราะเป็นพื้นที่เสี่ยง การช่วยตัวเองของคนในท้องถิ่นขณะนี้ อบต.กรุงชิงได้ประสานของบประมาณช่วยเหลือเพิ่มเติมจากผู้ว่าราชการจังหวัด และกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้มีการเร่งซ่อมแซมเส้นทางสัญจรที่เสียหาย ขณะที่ อบต.ร่วมกับชุมชนได้วางแผนการจัดการภัยพิบัติ เช่น จัดหาวิทยุสื่อสารเคลื่อนที่ให้ผู้นำชุมชนและอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อพปร.) ใช้รายงานสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่สำคัญยังมีการกำหนดพื้นที่เสี่ยงภัยในชุมชนเพื่อง่ายต่อการซ้อมอพยพหนีภัย รวมทั้งวางแผนตั้งศูนย์อพยพด้วย
ด้าน นายสมบูรณ์ อุยา หัวหน้าหมวดการทางนบพิตำ ชี้แจงกรณีการซ่อมแซมถนนที่ได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติเมื่อต้นปี 54 ว่าล่าช้าเพราะติดขัดงบประมาณที่รออนุมัติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งฝนตกทำให้การก่อสร้างในเส้นทางบางจุดต้องหยุดชะงัก นายสมบูรณ์ยังเสนอว่าเพื่อป้องกันปัญหาระยะยาวชุมชนควรหันมาอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เพราะพื้นที่ป่าไม้ในพื้นที่เหลือน้อยลง เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผลกระทบจากภัยพิบัติรุนแรงขึ้น
ขณะที่นายอุทัย แก้วกล้า หัวหน้าศูนย์อาสาการจัดการภัยพิบัติเพื่อเมืองนคร กล่าวว่า การให้ความรู้แก่ชุมชนถือเป็นสิ่งสำคัญในการเอาตัวรอดจากภัยพิบัติ ทั้งข้อมูลความเสี่ยงของพื้นที่ วิธีช่วยเหลือตนเองเบื้องต้น และชุมชนควรสร้างเครื่องช่วยชีวิตเป็นของตนเอง เช่น สายสลิง เสื้อชูชีพ วิทยุสื่อสารเพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ในอนาคต
นายอุทัย กล่าวต่อว่า เครือข่ายศูนย์อาสาฯ ได้ติดตั้งสัญญาณเครือข่ายวิทยุขึ้นที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้านภัยพิบัติแก่ประชาชนในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราชและใกล้เคียง รวมถึงเสนอแผนการจัดการภัยพิบัติอย่างยั่งยืนแก่รัฐบาลแล้ว
“ตราบใดไม่มีการบูรณาการเป็นแผนชัดเจน ไม่มีทางแก้ไขภัยพิบัติอย่างยั่งยืนได้ ต้องบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย คือ กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติฯ กรมเจ้าท่า สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย” หัวหน้าศูนย์อาสาจัดการภัยพิบัติเพื่อเมืองนคร กล่าว .