สธ.ดันยุทธศาสตร์ถุงยางอนามัยแห่งชาติ ตั้งเป้า 15 ปี ลดผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่เป็นศูนย์
ก.สาธารณสุข-UNFPA-สสส. ดันยุทธศาสตร์ถุงยางอนามัยแห่งชาติ 5 เเนวทาง เน้นร่วมมือเอกชน ตั้งเป้าลดผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่เป็นศูนย์ในอีก 15 ปี
วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2559 กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดแถลงข่าวและเสวนา ยุทธศาสตร์ถุงยางอนามัยแห่งชาติ พ.ศ.2558-2562 Public-Private Partnership เพื่อรักปลอดภัย ณ ห้องกมลทิพย์ 3 โรงแรมเดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ
นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ตั้งแต่มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายแรกในโลกเมื่อปี 2524 กระทั่งแพร่ระบาดเข้ามาในประเทศไทย ทำให้ภาพรวมที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่หน่วยงานต่าง ๆ มุ่งพัฒนา คือ ทำให้เกิดการใช้ถุงยางอนามัย 100% โดยคาดหวังจะลดผู้ติดเชื้อรายใหม่ ลดการเสียชีวิต และลดการตีตรา เป็นศูนย์ ภายใน พ.ศ. 2573
ทั้งนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวีในประเทศไทย รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุข้อมูลปี 2557 พบว่า มีผู้ติดเชื้อเอชไอวี 445,504 คน เป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ 7,816 คน โดยร้อยละ 90 ของผู้ติดเชื้อรายใหม่ เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกัน ดังนั้น หากมีการให้ความรู้เรื่องถุงยางอนามัยมากขึ้น เชื่อว่า จำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่จะลดลง ซึ่งถือเป็นความท้าทายในการต่อสู้เรื่องนี้ โดยนำยุทธศาสตร์มาขับเคลื่อน
นพ.ภาณุมาศ กล่าวถึงยุทธศาสตร์ถุงยางอนามัยแห่งชาติ พ.ศ.2558-2562 จะช่วยสนับสนุนส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัย ภายใต้ 5 แนวทางการทำงาน ได้แก่ 1. ‘พกได้ มั่นใจ’ ยอมรับและลดอคติ 2. ‘หาง่าย ใช้เป็น’ เข้าถึงสะดวก ใช้ได้ถูกวิธี 3. ‘ทุกชิ้น มีคุณภาพ’ ควบคุมการผลิตให้ได้มาตรฐาน 4. ‘รัฐนำ ทุกฝ่ายหนุน’ สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้ถุงยางอนามัย และ 5. ‘เร่งรัด วัดผล’ เร่งประเมินผลเพื่อมุ่งความสำเร็จ และอาจเชิญชวนให้ภาคเอกชนผลิตถุงยางอนามัยวางจำหน่ายในราคาถูก เข้าถึงง่ายต่อไป
ด้าน นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขร่วมรณรงค์ให้วัยรุ่นหันมาใช้ถุงยางอนามัยก่อนมีเพศสัมพันธ์มากขึ้น โดยเฉพาะการให้ความรู้ แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จมากนัก ทั้งนี้ ยกตัวอย่างผลลัพธ์เปรียบเทียบ พ.ศ.2543 กับ 2557 พบว่า วัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี ตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร เพิ่มขึ้นจาก 240 คนต่อวัน เป็น 316 คนต่อวัน ในจำนวนนี้นับเฉพาะที่มีอายุน้อยกว่า 15 ปี เพิ่มจาก 4 คนต่อวัน เป็น 9 คนต่อวัน นั่นเเสดงว่า เรื่องเหล่านี้ยังเป็นปัญหา
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ภาครัฐมีความพยายามเเก้ไขปัญหามาตลอด ซึ่งได้มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันเเละเเก้ไขปัญหาการตั้งครรถ์ในวัยรุ่น พ.ศ. ... โดยอยู่ในวาระที่ 2 การพิจารณาของสภานิติบัญญัติเเห่งชาติ (สนช.) ซึ่งคาดว่าจะผ่านในสัปดาห์นี้ รวมถึงการผลักดันร่างนโยบายยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์เเห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2560-2569) เเละร่างยุทธศาสตร์ป้องกันเเละเเก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2558-2567 ด้วย
ขณะที่ ดร.วาสนา อิ่มเอม ผู้ช่วยผู้เเทนกองทุนประชากรเเห่งสหประชาชาติ (UNFPA)ระบุว่า การมีสุขภาพดีเป็น 1 ใน 17 เป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นข้อตกลงร่วมกันของนานาประเทศเเละองค์การสหประชาชาติเพื่อร่วมสร้างอนาคตที่เราต้องการภายในปี 2573 หรืออีก 15 ปีข้างหน้า โดยให้ความสำคัญกับการร่วมทำงานเป็นภาคี ซึ่งภาคธุรกิจเอกชนที่มีความสำคัญที่จะร่วมสร้างความยั่งยืนของอนาคตประเทศ เริ่มจากการพัฒนาศักยภาพของวัยรุ่นเเละเยาวชนอายุระหว่าง 10-24 ปี ที่มีจำนวน 13.2 ล้านคน เเละประชากรกลุ่มนี้คาดว่าจะลดน้อยลงเรื่อย ๆ จากเดิมที่มีจำนวนมากที่สุด 18.4 ล้านคน เมื่อ 25 ปีก่อน จะลดลงเหลือ 9.75 ล้านคน ในอีก 25 ปีข้างหน้า
ผู้ช่วยผู้แทน UNFPA กล่าวอีกว่า ปัจจุบันพบวัยรุ่นอยู่กันก่อนวัยอันควร ตั้งท้องก่อนวัยอันควร เเละมีการติดเชื้อเอชไอวีมากขึ้น สะท้อนถึงข้อท้าทายในการพัฒนาคนรุ่นใหม่ที่จะต้องเป็นกำลังแรงงานที่มีศักยภาพสูงของประเทศเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุในอนาคต การร่วมพัฒนาคุณภาพประชากรโดยภาคธุรกิจ เอกชน ร่วมทำงานกับภาครัฐเพื่อให้สังคมไทยยอมรับและลดอคติ ให้วัยรุ่นหันมาใช้ถุงยางอนามัยมากขึ้น เพื่อมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย จึงเป็นสิ่งสำคัญ .
ภาพประกอบ:เว็บไซต์ thaihealth เเละเว็บไซต์ sanook