อดีตอธิการบดีมธบ.แนะปชช.ใช้ข้อมูลการเปิดเผยภาครัฐตรวจสอบทุจริต
นักวิชาการ-อดีตราชการ ชี้แก้คอร์รัปชั่นไทยยังมีหวัง ขอภาครัฐ เอกชน ประชาชน รวมพลัง แนะใช้การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐในการตรวจสอบ ขณะที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นสนับสนุนสื่อทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน
วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2559 องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น(ประเทศไทย) จัดงานเสวนา “ชนะแน่ หรือ แพ้แท้จริง กับการโกงชาติ” ณ ห้องดุสิตธานี ฮอลล์ ชั้น L โรงแรมดุสิตธานี
รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) กล่าวว่า คอร์รัปชั่นคือสิ่งที่บั่นทอนสังคมและยังทำลายพื้นฐานความมีจริยธรรมของคนในสังคม หากคนในสังคมเห็นความเลวร้ายเป็นเรื่องธรรมดานั่นคือสิ่งที่น่ากลัวที่สุด การต่อสู้เรื่องการทุจริตในประเทศไทยนั้นไม่ได้เป็นการต่อสู้เพื่อทรัพยากรของชาติอย่างเดียว แต่ยังเป็นเรื่องการต่อสู้เรื่องจริยธรรมของสังคมด้วย ซึ่งในขณะนี้คณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ(คตช.)ได้ผลักดันเรื่องการเปิดเผยข้อมูล โดยหน่วยงานภาครัฐจะต้องเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดให้ประชาชนทราบว่า เงินที่ใช้จ่ายนั้น ใช้ไปทำอะไรบ้าง ทั้งนี้มีข้อมูลที่เปิดเผย 500 ชุดข้อมูล จาก 100 กรม คือกรมบัญชีกลาง สำนักงบประมาณแผ่นดิน และกระทรวงการคลัง ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีในการเปิดเผยข้อมูล
อย่างไรก็ตาม ดร.วรากรณ์ กล่าวว่า แม้หน่วยงานภาครัฐจะเริ่มมีการเปิดเผยข้อมูลแล้ว ถ้าประชาชนในฐานะเจ้าของภาษีไม่ใช้ประโยชน์จากข้อมูลการตรวจสอบก็จะไม่มีประสิทธิภาพ ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำต่อมาคือควรมีการอบรมคนในหน่วยงานต่างๆเพื่อให้รู้จักวิเคราะห์และนำข้อมูลไปใช้ได้อย่างไรบ้าง จึงจะสามารถสร้างประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตได้อย่างแท้จริง
“การแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นอย่าไปหวังพึ่งภาครัฐ แต่ประชาชนเองในฐานะเจ้าของภาษีมีหน้าที่ต้องตรวจสอบ และเมื่อมีการส่งเสริมหรือผลักดันให้มีการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐแล้ว ก็จะต้องเปิดเผยอย่างละเอียดและไม่มีนัยยะ เพราะข้อมูลราชการไม่ใช่ความลับ”
อดีตอธิการบดี ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวถึผลสำรวจในเรื่องดัชนีชี้วัดความโปร่งใสที่ผ่านมานั้น เป็นเรื่องของความรู้สึกไม่ใช่หลักฐาน ดังนั้นอาจจะมีปัญหาอย่างหนึ่งคือ คนอาจจะรู้สึกไม่เหมือนกันในวันและเวลาเดียวกัน ความหมายของคอร์รัปชั่นแต่ละคนมีความแตกต่างกัน จึงอาจจะส่งผลให้ตัวเลขไม่แม่นยำ หากต้องการรู้สถานการณ์ว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีสถานการณ์ดีขึ้นหรือแย่ลงในเรื่องคอร์รัปชั่นการศึกษาจะต้องอยู่บนพื้นฐานของหลักฐาน โดยเป็นการหาตัวเลขว่า มีคดีทุจริตเกิดขึ้นกี่คดี ที่จับได้มีกี่กรณี ลงโทษไปแล้วกี่กรณี แล้วคำนวณเป็นตัวเลข ดังนั้นจึงไม่อยากให้ยึดถือเอาผลโพลล์ที่ถามเป็นความรู้สึกมาเป็นสรณะ
“นอกจากนี้ก็ยังจะมีเครื่องมือของระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างที่กำลังจะออกมา แต่หากทุกเครื่องมือที่สร้างขึ้น ขาดกลุ่มคนที่เรียกว่า social power ในการขับเคลื่อนแล้ว การเดินหน้าก็คงเดินไปได้ในระดับหนึ่ง แต่จะช้า ดังนั้นพลังของภาคประชาชนจึงมีความสำคัญ สถานการณ์แก้ปัญหาคอร์รัปชั่นในบ้านเรา วันนี้พอมองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์แล้ว ขาดเพียงไฟฉายที่จะนำพาเราให้เดินไปยังปลายอุโมงค์ ซึ่งหากทุกคนช่วยกันขับเคลื่อนและใช้เครื่องไม้เครื่องมืออย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรแล้วก็มีความหวังว่าจะขจัดคอร์รัปชั่นได้”
ขณะที่นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) กล่าวว่า การเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐถือเป็นสิ่งสำคัญที่ทางองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นได้ผลักดันมาโดยตลอด นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมให้มีการทำข่าวแบบสืบสวน เพื่อให้เกิดการวิเคราะห์สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามสิ่งเหล่านี้อาจจะไม่เกิดผลหากประชาชนไม่ไปเรียกร้องหรือผลักดัน ดังนั้นจึงเห็นว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญเป็นอย่างยิ่ง การสร้างพลังให้ประชาชนไม่ยอมรับการทุจริต
ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น กล่าวด้วยว่า แม้เราจะมีการเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ทั้งในส่วนของกฎหมาย หรือข้อบังคับ แต่หากเราไม่ไปติดตามตรวจสอบการต่อต้านการทุจริตก็ไม่มีทางที่จะประสบความสำเร็จ ในช่วง2-3 ปีที่ผ่านมามีการปรับปรุงการป้องกันการทุจริตให้มีความรวดเร็ว รัฐบาลชุดปัจจุบันก็มีการสนับสนุนอย่างจริงจัง กระทั่งคลอดพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกฯ นอกจากนี้การผลักดันเรื่อง ร่างพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. ... รวมถึงการเข้าถึงข้อมูลก็จะทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมเป็นสิ่งสำคัญมาก นอกจากจะต้องทำให้การจัดซื้อจัดจ้างเป็นมาตรฐานสากลแล้ว ประชาชนเองต้องมีส่วนร่วมในการรับรู้ ช่วยกันติดตามและขับเคลื่อน
ด้านนายอนุสิษฐ คุณากร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ กล่าวว่า องค์กรใดองค์กรหนึ่งไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องคอร์รัปชั่นได้ จะต้องสร้างประชาชนให้มีความมั่นคงและสามารถเผชิญกับเรื่องที่วิกฤตได้ การแก้ปัญหาทุจริตนั้นหากไม่สร้างวัฒนธรรมที่ดีให้เกิดขึ้น ปัญหานี้แก้ได้ยากมาก และคนไทยต้องยอมรับว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่ยอมเสียเงินเพื่อเข้าสู่อำนาจ และเรามองว่าการกระจายอำนาจน่าจะทำให้ชาติบ้านเมืองเติบโต แต่ก็กลัวเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณไม่มีคุณภาพ และทุจริต เพราะการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีการซื้อเสียงเพื่อเอาอำนาจไปสู่คอร์รัปชั่น และเป็นอย่างนี้เกือบทุกพื้นที่
“การต่อต้านการคอร์รัปชั่นจึงต้องร่วมมือระดมพลังภาครัฐ เอกชน เปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้ามาปกป้องทรัพย์สมบัติ งบประมาณ ทรัพยากรธรรมชาติ ดูแลความสงบเรียบร้อย และปักหมุดการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นให้เกิดขึ้นในประเทศไทยให้ได้”