ฟัง "อัยการ – ฝ่ายคัดค้าน – ลูกดูนเลาะ" แจงปมปอเนาะญิฮาด
มีความคืบหน้าคดีที่ศาลแพ่งมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 15 ธันวาคมปีที่แล้ว ให้ริบที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงเรียนญิฮาดวิทยา หรือ ปอเนาะญิฮาด อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี หลังจากเรื่องนี้กลายเป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในพื้นที่อย่างกว้างขวาง และเป็นประเด็นอ่อนไหวทางความรู้สึกของพี่น้องมุสลิม
คดีนี้ คือคดีหมายเลขแดง ฟ.26/2556 ศาลแพ่งมีคำพิพากษาให้ที่ดินอันเป็นที่ตั้งของโรงเรียน เลขที่ 699 หมู่ 4 ตำบลตะโละกาโปร์ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี เนื้อที่ 14 ไร่ 1 งาน 42 ตารางวา ตกเป็นของแผ่นดิน ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เนื่องจากเป็นทรัพย์สินที่สนับสนุนการก่อการร้าย เพราะใช้เป็นสถานที่ฝึกของนักรบในขบวนการแบ่งแยกดินแดน ขณะที่ นายดูนเลาะ แวมะนอ อดีตครูใหญ่ของโรงเรียน ก็ถูกทางการฟ้องร้องกล่าวหาในคดีก่อการร้ายและกบฏแบ่งแยกดินแดน
แต่ผลของคำพิพากษาได้สร้างความไม่เข้าใจให้กับฝ่ายครอบครัวแวมะนอ นำโดย นางยาวาฮี และ นายบัลยาน แวมะนอ ภรรยาและลูกชายของนายดูนเลาะ รวมทั้งศิษย์เก่าของโรงเรียน และประชาชนในพื้นที่ เพราะเห็นว่าที่ดินอันเป็นที่ตั้งของปอเนาะญิฮาด ซึ่งมีเอกสารสิทธิ์ น.ส.3 นั้น เป็นมรดกที่ตกทอดถึงยาวาฮีและพี่น้องรวม 5 คน ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของนายดูนเลาะซึ่งเป็นเขยเข้ามาแต่งงานกับนางยาวาฮี และนางยาวาฮีกับพี่น้องคนอื่นๆ ที่มีชื่ออยู่ในเอกสารสิทธิ์ น.ส.3 ก็ไม่ได้ตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยด้วย
หลักฐานจากปากคำผู้ต้องหาคดีก่อการร้าย
วันอังคารที่ 2 กุมภาพันธ์ 2559 นายโสภณ ทิพย์บำรุง อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 2 ภาค 9 ซึ่งดูแลคดีความมั่นคงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงเปิดแถลงชี้แจงต่อสื่อมวลชน ที่ห้องประชุมสำนักงานอัยการจังหวัดปัตตานี โดยระบุตอนหนึ่งว่า คดีนี้ไม่ใช่คดีอาญา แต่เป็นคดีฟอกเงิน และมีส่วนเกี่ยวกับคดีแพ่ง ที่ดินอันเป็นที่ตั้งของโรงเรียนญิฮาดวิทยาถือเป็น “ทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด” ตามบทนิยามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 3 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
ที่ดินแปลงนี้ ดูตามหลักฐานที่ศาลรับฟัง คือเป็นที่ดินที่ใช้เป็นสถานที่ฝึกของกลุ่มคนร้ายในขบวนการ ศาลแพ่งเชื่อตามที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ไต่สวน ตามที่ ปปง.รวบรวมพยานหลักฐานมา แล้วให้อัยการยื่นคำร้อง
จากการนำสืบของผู้ร้อง (ปปง.-อัยการ) คนร้ายใช้ที่ดินแปลงนี้ในการฝึกเพื่อที่จะไปกระทำก่อการร้าย ศาลเชื่อโดยอาศัยพยานหลักฐานในคดีอาญาที่มีการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาหลายคน ถ้าจำไม่ผิดน่าจะประมาณ 41 คน
ข้อกังขาก็คือ ผู้ต้องหาในคดีนี้บางส่วสหลบหนี บางคนได้ตัวมาแล้ว ฟ้องศาลแล้ว ศาลยกฟ้อง บางคนได้ตัวมาทีหลัง เจ้าของที่ดินอาจสงสัยว่าเมื่อเป็นคดีอาญาที่ฟ้องไปแล้ว อัยการสั่งไม่ฟ้อง หรือศาลยกฟ้อง แล้วไปเกี่ยวกับการก่อการร้ายได้อย่างไร ประเด็นนี้ขอชี้แจงว่ายังมีผู้ต้องหาที่ยังหลบหนีอยู่ ยังมีอีกหลายคนที่ไม่ได้ตัวมาฟ้อง ประกอบกับการพิจารณาคดีอาญากับคดีแพ่งต่างกัน
“หลักการรับฟังพยานหลักฐานในคดีอาญาต่างกับคดีแพ่ง ในคดีอาญา การที่ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยคนหนึ่ง ศาลจะต้องฟังพยานหลักฐานจนสิ้นสงสัย หากสงสัยนิดเดียวศาลจะยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยทันที ส่วนคดีแพ่งฟังพยานหลักฐานไม่ต้องสิ้นสงสัย หลักในการรับฟังพยานคดีแพ่งคือ ใครกล่าวอ้างคนนั้นเป็นคนพิสูจน์ ภาระหน้าที่นำสืบตกอยู่กับคนกล่าวอ้าง”
“พยานหลักฐานที่ปรากฏ ที่ ปปง.นำมา อาจมีการตั้งคำถามว่าเป็นพยานหลักฐานจริงหรือเปล่า อยากชี้แจงว่าคดีนี้มีพยาน 2-3 คนเป็นสมาชิกขบวนการ เคยทำการฝึกที่นั่น จากคำสืบพยาน 2-3 คนที่ทำการฝึกบนที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งโรงเรียนนี้ ประกอบกับร่องรอยกระสูนที่ต้นมะพร้าว ร่องรอยที่กระป๋องน้ำดื่ม สายไฟ และอีกหลายรายการที่สามารถนำไปประกอบระเบิด เมื่อนำวัตถุพยานไปประกอบการเบิกความ ศาลจึงเชื่อ”
อัยการโสภณ กล่าวด้วยว่า กระบวนการของศาล นอกจากศาลชั้นต้นแล้ว ยังมีศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ทางครอบครัวสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ ล่าสุดทราบว่ายังไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ ส่วนของทรัพย์ที่ยึดจะตกเป็นของรัฐ มีประเทศไทยเป็นเจ้าของ หน่วยงานราชการซึ่งเป็นแขนขาของรัฐสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ แต่หากรัฐไม่ต้องการใช้ประโยชน์ คนอื่นก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้
ศอ.บต.รอคดีจบ-ปรับปรุงเป็นสถานศึกษาให้ชุมชน
นายกิตติ สุระกำแหง ผู้อำนวยการสำนักยุติธรรม ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ซึ่งเข้ารับฟังคำชี้แจงด้วย กล่าวว่า คงต้องรอกระบวนการของศาลสิ้นสุดลงเสียก่อน จึงจะร่วมกันหาทางออกของปัญหาเพื่อไม่ให้นำไปสู่การเป็นเงื่อนไขความขัดแย้งในพื้นที่ต่อไป เบื้องต้นฝ่ายความมั่นคงกำลังหาทางออกว่า อาจมีการปรับปรุงสถานที่นี้เป็นสถานศึกษาให้กับชุมชน เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้บริจาค โดยให้ทางเจ้าของที่ดินเดิมเป็นผู้บริหารต่อไป ถึงแม้ที่ดินดังกล่าวจะไม่สามารถถ่ายโอนเป็นกรรมสิทธิ์ได้ แต่อย่างน้อยก็ยังเป็นสถานศึกษาให้กับชุมชนกลับมาใช้ประโยชน์ได้เช่นเดิม และเจ้าของเดิมก็ยังสามารถใช้ประโยชน์ได้เหมือนเดิมด้วย อาจเป็นทางออกของปัญหาได้อีกทางหนึ่ง
"ศิษย์เก่า-ชาวบ้าน"เป็นเจ้าของร่วมในปอเนาะ
นายตูแวตานียา ตูแวแมแง ผู้อำนวยการสำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและการพัฒนา หรือ LEMPAR (Lembaga Patani Raya untuk kedamaian dan pembangunan) ซึ่งติดตามในเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น และเข้าร่วมสังเกตการณ์ในการชี้แจงของอัยการด้วย กล่าวว่า คดีปอเนาะญิฮาดเป็นเรื่องที่ทับซ้อนระหว่างเรื่องส่วนตัวของครอบครัวนายดูนเลาะ แวมะนอ ในฐานะผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งปอเนาะ กับเรื่องส่วนรวมของสังคมมลายูมุสลิมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีวิถีชีวิตสัมพันธ์แนบแน่นกับสถาบันปอเนาะแบบดั้งเดิมตามต้นฉบับของปอเนาะปาตานี
ข้อเท็จจริงในเรื่องที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งปอเนาะญิฮาดนั้น ทางครอบครัวก็ยืนยันอย่างชัดเจนว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของทางครอบครัวซึ่งเป็นภรรยานายดูนเลาะ แวมะนอ กับพี่นัองร่วมกัน 5 คน แต่ในส่วนของทรัพย์สินซึ่งอยู่บนผืนดินที่ตั้งปอเนาะญิฮาด ไม่ได้เป็นกรรมสิทธิ์ของครอบครัวนายดูนเลาะ แวมะนอ ในทางกลับกันทรัพย์สินดังกล่าว เช่น อาคารเรียนทั้งหมด อาคารสุเหร่า และตัวบ้านที่อยู่อาศัยของครอบครัวนายดูนเลาะ แวมะนอ ในฐานะครูใหญ่ปอเนาะญิฮาดนั้น ล้วนแต่เป็นกรรมสิทธิ์ร่วมของชาวบ้านและศิษย์เก่าทั้งสิ้น เหตุนี้เองชาวบ้านและบรรดาศิษย์เก่าย่อมเกิดคำถามต่อทรัพย์สินต่างๆ บนที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งของปอเนาะญิฮาดในฐานะตนก็เป็นเจ้าของร่วมด้วย
สิ่งที่ท้าทายรัฐมากในตอนนี้ก็คือ เมื่อทรัพย์สินของปอะนาะญิฮาดที่ไม่ใช่ที่ดินนั้น ไม่ได้เป็นกรรมสิทธิ์เฉพาะของครอบครัวนายดูนเลาะ แวมะนอ แต่ชาวบ้านและบรรดาศิษย์เก่าก็เป็นเจ้าของร่วมด้วย รัฐพยายามใช้กระบวนการยุติธรรมจัดการกับผู้ต้องหาคดีความมั่นคงซึ่งคาบเกี่ยวกับปอเนาะ เพื่อป้องกันไม่ให้สังคมสนับสนุนการต่อสู้ของผู้ต้องหาคดีความมั่นคง แต่ผลข้างเคียงของการจัดการแบบครอบจักรวาลนั้น กลายเป็นการขยายความขัดแย้งไปยังสังคมในวงกว้างโดยปริยาย เพราะประเด็นสำคัญของสังคมไม่ได้อยู่ที่สถานะของนายดูนเลาะ แวมะนอ จะเป็นโจรหรือไม่เป็นโจรในสายตาของรัฐ แต่ประเด็นสำคัญของสังคมในพื้นที่คือความเป็นปอเนาะดั้งเดิมตามฉบับของปาตานีในสายตาของรัฐนั้น เป็นแหล่งซ่องสุมโจรจริงหรือไม่ ประเด็นนี้ขึ้นอยู่กับการอธิบายของรัฐว่าสามารถทำให้สังคมในพื้นที่เชื่อถือได้หรือไม่เป็นสำคัญ อีกทั้งสังคมมลายูมุสลิมในพื้นที่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ถ้าเปรียบเสมือนมัสยิดคือหัวใจของมุสลิม ปอเนาะก็เหมือนกับมันสมอง
ต้องบอกลูกว่ากรณียึดที่ดินเป็นเรื่องสมมติ
นางซูไฮลา แวมะนอ ลูกสาวนายดูนเลาะ กล่าวว่า หลังจากอัยการออกมาชี้แจง คิดว่าเป็นเรื่องที่ทางครอบครัวจะต้องร่วมกันหารือกันเป็นการภายในอีกครั้ง เพราะรู้สึกว่ามีเรื่องใหม่เข้ามาเพิ่มอีก คือเรื่องอนาคตของครอบครัว โดยเฉพาะการใช้ชีวิตหลังจากสู้คดีในชั้นศาลอีก 2 ศาล
“ความรู้สึกตอนนี้บอกตรงๆ ว่ายังรู้สึกเหมือนว่าเป็นความฝัน แต่เมื่อหยิกตัวเองเราเจ็บ ก็พูดกับตัวเองว่ามันไม่ใช่ความฝัน ที่สำคัญตอนนี้พยายามหาคำตอบ ที่ลูกตั้งคำถามมาว่า ทำไมเราต้องไปจากที่นี่ (บ้านบนที่ดินอันเป็นที่ตั้งของโรงเรียน) เพราะที่นี้คือบ้านเรา ตอนนี้ได้แต่ตอบลูกไปว่า ทุกคนพูดเรื่องนี้เป็นแค่สมมติ แต่ก็เป็นคำตอบชั่วคราวเท่านั้น ถ้าถึงเวลาจริงๆ เราจะบอกเขาอย่างไรที่จะไม่ให้เขารู้สึกเจ็บปวดกับสิ่งที่เกิดขึ้น ขนาดเราเป็นผู้ใหญ่ เกิดที่นี่ โตมาที่นี่ ยังคิดว่าคือความฝัน ยังเจ็บปวด ตอนนี้พยายามใช้ชีวิตให้เป็นปกติ พรุ่งนี้จะเกิดอะไรค่อยว่ากันใหม่”
ส่วนที่มีการเสนอให้ครอบครัวสามารถอยู่อาศัยได้ต่อไป หากที่ดินถูกยึดไปแล้ว ซูไฮลา บอกว่า ถึงอย่างไรก็รู้สึกไม่สบายใจอยู่ดี ถ้าต้องอยู่โดยที่รัฐเป็นเจ้าของ กลัวว่าไปทำผิด รัฐจะเอาอย่างไร ก็เป็นปัญหาอีก
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : อัยการโสภณ และบรรยากาศช่วงแถลงข่าว