สรรพากรพื้นที่กรุงเทพฯ 21 ยันคดีคืนภาษี 2 พันล.ส่งกรมฯแล้ว-เผยชื่อซี 9 ปี 54-56
อิศราลุย สรรพากรพื้นที่กรุงเทพ ฯ 21 ตามหา ขรก.พันกรณีคืนภาษีกลุ่ม 2 พันล. ผู้บริหาร สนง.เผยส่งเรื่องให้กรมฯหมดแล้ว ปัจจุบันตรวจสอบละเอียด ด้าน ผู้ช่วย ฯประสานเสียงทำรัดกุม เผยช่วงปี 54-56 ซี 9 มีดำรงตำแหน่ง 2 คน
กรณีกลุ่มบุคคลได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทส่งออกอุปกรณ์คอมพิวเตอร์แล้วขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มกับกรมสรรพากรในพื้นที่กรุงเทพฯ สมุทรปราการ สมุทรสาคร กรณีพื้นที่กรุงเทพฯนั้น จากการตรวจสอบพบว่ามีการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทและขอคืนภาษีในพื้นที่ความรับผิดชอบของสำนักงานสรรพากรพื้นที่ กรุงเทพฯ 21 หลายบริษัท
ความคืบหน้าในเรื่องนี้ เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 3 ก.พ.59 ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า ได้เดินทางไปยังสำนักงานสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 21 บริเวณ ซ.รามคำแหง 170 เพื่อสอบถามถึงความคืบหน้ากรณีทุจริตการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มกลุ่ม 2 พันล้านบาท
เมื่อเดินทางถึง ผู้สื่อข่าวติดต่อเจ้าหน้าที่รายหนึ่ง ระบุจุดประสงค์ พร้อมแสดงตัว โดย คนดังกล่าวบอกให้ไปติดต่อที่ชั้น 3 ก่อนที่เจ้าหน้าที่ชั้น 3 จะบอกให้ผู้สื่อข่าวรอครู่หนึ่ง กำลังแจ้งเรื่องไปที่ผู้บังคับบัญชา ผ่านไปครู่ใหญ่ เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวนำทางผู้สื่อข่าวไปที่ชั้น 2 เพื่อพบกับ สรรพากรพื้นที่กรุงเทพ ฯ 21 และผู้ช่วย ฯ
นายเรืองศักดิ์ นิธานพร สรรพากรพื้นที่กรุงเทพ ฯ 21 (รูปเล็กด้านซ้าย) กล่าวว่า ต้องบอกก่อนว่า เพิ่งมาดำรงตำแหน่งเมื่อ 5 ต.ค. 58 กรณีการคืนภาษี ฯ จะข้มงวด โดยเฉพาะพื้นที่ ฯ 21 ส่งตรวจสอบก่อนคืนแทบทุกราย ถ้าไม่มีความมั่นใจจะไม่คืนเลย นโยบายคือเข้มงวด กระบวนการคืนภาษีต้องถูกต้องถึงจะคืนให้ แต่ถ้าเห็นว่าผิดปกติจะไม่เสี่ยงอนุมัติเด็ดขาด เจ้าหน้าที่ก็พยายามดูแลผลประโยชน์ของรัฐอย่างเต็มที่
“มันมีตัวเลขอะไรขึ้นมาเยอะแยะ (ตามข้อมูลที่ปรากฎเป็นข่าว) แต่คงไม่ได้เป็นไปตามนั้น และตอนนี้ เราส่งเรื่องให้กรม ฯ หมดแล้ว ทางกรมฯอาจจะตรวจในทางลับหรืออะไร เราก็ไม่รู้ และก็ระงับมีการระงับการขอคืนทั้งหมด ตอนนี้ถือว่าหมดหน้าที่เราแล้ว ถ้าจะขคืนก็ไปติดต่อกรม ฯ เอาเอง”นายเรืองศักดิ์กล่าว
ขณะที่ นายสมศักดิ์ กุลวัฒนาพร ผู้ช่วยสรรพากรพื้นที่กรุงเทพ ฯ 21 (รูปเล็กด้านขวา) กล่าวถึงขั้นตอนการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ประกอบการว่า เอกชนจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มว่าเป็นผู้ประกอบการอะไร ไม่จำเป็นต้องส่งออกก็ได้ จดทะเบียนแล้วก็สร้างโรงงาน มีการลงทุนก็ขอคืนภาษี ฯ ได้แล้ว และจะมีทีมเจ้าหน้าที่สรรพากรเข้าไปดู ถ้าเกิดมีการลงทุนจริง มีการสร้างสถานประกอบการจริง ก็สามารถขอคืนภาษี ฯ ได้
ส่วนกรณีมีการส่งออก นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ในการตรวจสอบเอกสารต่าง ๆ ทีมเจ้าหน้าที่ก็จะไปเรียกดูว่า มีหลักฐานประกอบการคืนอย่างไร โดยเฉพาะอะไรต่าง ๆ เช่น ถ้าเกิดขายก็ดูว่ามีใบขนสินค้าไหม และสินค้าที่ขายเกี่ยวข้องกับสินค้าที่ซื้อหรือไม่ มีการโอนเงินเข้ามาจากต่างประเทศหรือไม่ มีการซื้อขายจริงหรือไม่ ส่วนใหญ่จะทำแบบนี้ ก็ต้องดูทุกอย่างประกอบกันไปตามหลักเกณฑ์
“โดยเฉพาะยุคนี้จะเข้มข้นมาก จะดูกันอย่างเต็มที่ พยายามจะปิดช่องว่างทั้งหมด แต่สำนวนกรณีดังกล่าว ทางเราส่งไปให้ที่ส่วนกลางหมดแล้ว ต้องรีบดำเนินคดี พวกนี้เราคงไม่เก็บไว้ เพราะว่าทางกรม ฯ เขาก็เร่งตรวจสอบ และหาผู้รับผิดให้ได้ ก็คงเป็นเรื่องของกรม ฯ ทางเราไม่ทราบเรื่อง กรม ฯ เองก็ไม่ได้บอกเราว่าตอนนี้ดำเนินการถึงขั้นไหนแล้ว”นายสมศักดิ์กล่าว
นอกจากนี้ กล่าวถึงกรณีหากมีเจ้าหน้าที่สรรพากรเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการดังกล่าวว่า “มันเป็นเรื่องที่เขาติดต่อกันเอง เราไม่รู้ แต่ถ้าจับได้ก็ลงโทษหนัก จำไว้ว่าวินัยหรืออาญา เราลงโทษเลย เป็นนโยบายที่ประกาศไว้ชัดเจนว่า จะไม่ให้เจ้าหน้าที่คนใดเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องใบกำกับปลอมเด็ดขาด” นายเรืองศักดิ์ ยืนยัน
อย่างไรก็ตาม เมื่อถามว่า ช่วงปี 2554-2556 ใครเป็นผู้ดำรงตำแหน่งสรรพากรพื้นที่กรุงเทพ ฯ 21 โดยบุคคลทั้งสอง กล่าวว่า มี 2 คน ได้แก่ นายนิยม บุญสิงห์ โดยย้ายไปช่วงปลายปี 54 และมีนายบุญเสริม สังข์มงคล เข้ามารับตำแหน่งแทน ก่อนที่จะเกษียณอายุไปเมื่อ 30 ก.ย. 58ที่ผ่านมา และมีนายเรืองศักดิ์ นิธานพร เข้ามารับตำแหน่งในปัจจุบัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัทที่ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มในพื้นที่กรุงเทพฯ 21 อาทิ บริษัท ซี.เจ.เอ็กซิม (2012) จำกัด จำนวน 8.7 ล้านบาท เป็นต้น
อ่านประกอบ :
พูดไม่ได้!สรรพากรสมุทรปราการปิดปากคดีภาษี 2 พันล.-หน.ส่วนฯยันส่งกรมฯ 8 บ.
พยานอื้อ100 ปาก!ดีเอสไอแย้มคดีทุจริตคืนภาษีกลุ่ม 2 พันล.‘ตัวการ’นับสิบคน
ให้‘หนุ่ม 20 ปี’เป็น กก.! เปิด‘เจเคพี เอ็กซ์ซิมฯ’เครือข่ายคืนภาษี กรุงเทพฯรายที่ 8