ไทยพีบีเอส! สุดมึนตั้งปธ.นโยบายหลายคนไม่เสนอนายกฯประกาศราชกิจจาฯ
กฤษฎีกาฯ เผยแพร่ความเห็นทางกม.กรณีบอร์ดไทยพีบีเอส แต่งตั้งปธ.นโยบายหลายรายคน ไม่เสนอผ่านนายกฯประกาศราชกิจจานุเบกษา ชี้คนเก่าลาออกต้องพ้นจากความเป็นกก.ด้วย
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้เผยแพร่ความเห็นทางกฎหมายกรณีองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส ขอหารือเกี่ยวกับปัญหาการปฏิบัติตามขั้นตอนกฎหมายในการแต่งตั้งและลาออกของบุคคลที่เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานกรรมการนโยบาย ที่ไม่มีการนำเสนอให้นายกรัฐมนตรีประกาศรายชื่อในราชกิจจานุเบกษา แต่อย่างใด
ขณะที่การแต่งตั้ง มาลี บุญศิริพันธ์ เป็นประธานกรรมการนโยบาย ซึ่งต่อมามีการลาออกจากตำแหน่ง แต่ก็ยังปฏิบัติหน้าที่เป็นกรรมการนโยบายอยู่ ซึ่งกฤษฎีกาชี้ว่าการที่ประธานกรรมการนโยบายได้ขอลาออกจากประธานกรรมการนโยบายจึงต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 24 (2) ซึ่งทำให้พ้นจากความเป็นกรรมการนโยบายไปพร้อมกันด้วย และไม่สามารถอนุโลมได้ ส่งอาจส่งผลทำให้เกิดปัญหาเรื่องค่าตอบแทนรายเดือน ประโยชน์ตอบแทนอื่นตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาค่าตอบแทนและประโยชน์ตอบแทนอื่นของประธานกรรมการนโยบาย กรรมการนโยบาย และกรรมการบริหารอื่นขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 ด้วย
โดย ส.ส.ท. ระบุว่า ในการเสนอแต่งตั้งและพ้นตำแหน่งของบุคคลที่เข้ามาทำหน้าที่เป็นประธานกรรมการนโยบาย นับตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา มิได้นำรายชื่อประธานกรรมการนโยบายเสนอนายกรัฐมนตรีประกาศรายชื่อในราชกิจจานุเบกษา แต่อย่างใด ขณะที่ ในการประชุมครั้งที่ 18/2555 เมื่อวันที่ 15 และวันที่ 16 ธันวาคม 2555 เลือกรองศาสตราจารย์มาลี บุญศิริพันธ์ เป็นประธานกรรมการนโยบาย โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2555 เป็นต้นมา ก็มิได้นำรายชื่อประธานกรรมการนโยบายเสนอนายกรัฐมนตรีประกาศรายชื่อในราชกิจจานุเบกษาเช่นกัน
ซึ่งต่อมารองศาสตราจารย์มาลีฯ แสดงเจตนาแจ้งขอลาออกจากประธานกรรมการนโยบาย โดยที่ประชุมกรรมการนโยบายทั้งคณะ ในคราวประชุมครั้งที่ 25/2556 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2556 มีมติเห็นชอบให้รองศาสตราจารย์มาลีฯ ลาออกจากประธานกรรมการนโยบาย และเลือกนายศิริชัย สาครรัตนกุล กรรมการนโยบาย เป็นประธานกรรมการนโยบาย โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 เป็นต้นไป โดยมิได้นำรายชื่อประธานกรรมการนโยบายเสนอนายกรัฐมนตรีประกาศรายชื่อในราชกิจจานุเบกษา
ในขณะที่รองศาสตราจารย์มาลีฯ มิได้พ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุแห่งมาตรา 23 วรรคสอง หรือมาตรา 24 (2) ตามที่กฎหมายกำหนด โดยปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งกรรมการนโยบายตลอดมา
ต่อมา ส.ส.ท. ได้ทำเรื่องข้อหารือสำนักนายกรัฐมนตรี ใน 4 ประเด็นหลัก คือ
1 การพ้นจากตำแหน่งของประธานกรรมการนโยบาย การเลือกผู้ทำหน้าที่ประธานกรรมการนโยบาย และการสรรหากรรมการนโยบายจะต้องประกาศรายชื่อในราชกิจจานุเบกษาตามมาตรา 20 วรรคสี่ ทุกครั้งหรือไม่ อย่างไร
2. กรณีที่ประธานกรรมการนโยบายได้แสดงเจตนาแจ้งลาออกจากประธานกรรมการนโยบาย จะถือว่าเป็นการลาออกตามนัยมาตรา 24 (2) ซึ่งจะมีผลให้พ้นจากตำแหน่งกรรมการนโยบายด้วย หรือไม่ ทั้งนี้ เมื่อประธานกรรมการนโยบายแจ้งลาออกดังกล่าวข้างต้น แต่ยังปฏิบัติหน้าที่กรรมการนโยบายมาโดยตลอด จะนำความในมาตรา 26 วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลมได้หรือไม่ อย่างไร
3. หากปรากฏว่าที่ผ่านมา ไม่ได้มีการประกาศรายชื่อผู้ทำหน้าที่ประธานกรรมการนโยบายตามมาตรา 20 วรรคสี่ ในราชกิจจานุเบกษา จะมีผลประการใด และจะส่งรายชื่อผู้ทำหน้าที่ประธานกรรมการนโยบายเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาย้อนหลังได้หรือไม่ ประการใด
4. กรณีไม่ประกาศรายชื่อผู้ทำหน้าที่ประธานกรรมการนโยบายในราชกิจจานุเบกษาและพ้นจากตำแหน่งตามวาระ หรือกรณีไม่ประกาศรายชื่อผู้ทำหน้าที่ประธานกรรมการนโยบายในราชกิจจานุเบกษาและพ้นจากตำแหน่งที่มิใช่ด้วยเหตุตามมาตรา 23 วรรคสอง หรือมาตรา 24
ทั้งสองกรณีดังกล่าวนี้จะมีผลต่อค่าตอบแทนรายเดือน ประโยชน์ตอบแทนอื่นตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาค่าตอบแทนและประโยชน์ตอบแทนอื่นของประธานกรรมการนโยบาย กรรมการนโยบาย และกรรมการบริหารอื่นขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 หรือไม่ อย่างไร
เบื้องต้น สำนักนายกรัฐมนตรี มีความเห็น จากข้อหารือของ ส.ส.ท. ระบุว่า เมื่อเลือกผู้ทำหน้าที่ประธานกรรมการนโยบายแล้วจะต้องเสนอให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการนโยบายและประกาศรายชื่อในราชกิจจานุเบกษา เนื่องจากพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 กำหนดให้การพ้นจากตำแหน่งตามเหตุ 5 ประการที่กำหนดไว้ต้องอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 20 สำหรับมาตรา 25 เพียงแต่กำหนดให้เลือกผู้ที่ทำหน้าที่ประธานกรรมการนโยบายเท่านั้น
ขณะที่มาตรา 24 (2) เป็นการพ้นจากตำแหน่งกรรมการนโยบายโดยการลาออกจากกรรมการนโยบาย ดังนั้น การลาออกจากประธานกรรมการนโยบายเนื่องจากไม่ประสงค์ที่จะดำรงตำแหน่งประธานกรรมการนโยบายต่อไป จึงไม่ใช่การลาออกจากกรรมการนโยบายตามนัยมาตรา 24 (2) และ ส.ส.ท. สมควรนำรายชื่อประธานกรรมการนโยบายเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการนโยบาย เพื่อให้ครบองค์ประกอบของคณะกรรมการนโยบายตามนัยมาตรา 17 และนายกรัฐมนตรีประกาศรายชื่อดังกล่าวในราชกิจจานุเบกษา เมื่อนายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งกรรมการนโยบายให้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการนโยบายแล้ว จึงมีสิทธิรับผลประโยชน์ตอบแทนต่าง ๆ ในตำแหน่งประธานกรรมการนโยบายตามที่กฎหมายกำหนดไว้
อย่างไรก็ตาม ส.ส.ท.เห็นว่าความเห็นของสำนักนายกรัฐมนตรี ยังไม่ครอบคลุมตามประเด็นที่หารือไป และ ส.ส.ท. พิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อรองศาสตราจารย์มาลีฯ ประธานกรรมการนโยบาย ได้ขอลาออกจากประธานกรรมการนโยบาย และที่ประชุมกรรมการนโยบายได้มีมติเห็นชอบแล้ว จึงมีผลทำให้ความเป็นกรรมการนโยบายของรองศาสตราจารย์มาลีฯ สิ้นสุดลงไปด้วย เนื่องจากตามมาตรา 25 ประธานกรรมการนโยบายจะพ้นจากตำแหน่งได้ก็ด้วยเหตุตามที่บัญญัติในมาตรา 23 วรรคสอง และมาตรา 24 ดังนั้น เมื่อรองศาสตราจารย์มาลีฯ ลาออกจากประธานกรรมการนโยบายย่อมมีผลถึงการลาออกจากการเป็นกรรมการนโยบายตามมาตรา 24 (2) ด้วย ส.ส.ท. จึงไม่เห็นด้วยกับความเห็นของสำนักนายกรัฐมนตรีตามที่กล่าวมาข้างต้น และโดยที่กรณีดังกล่าวข้างต้น เป็นประเด็นปัญหาข้อกฎหมาย
ดังนั้น เพื่อให้การบริหารงานของ ส.ส.ท. เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ถูกต้อง และยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติต่อไป ส.ส.ท. จึงขอหารือว่า กรณีที่ประธานกรรมการนโยบายได้แสดงเจตนาแจ้งขอลาออกจากประธานกรรมการนโยบาย และที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายมีมติเห็นชอบให้ลาออกจากการเป็นประธานกรรมการนโยบายแล้ว จะมีผลทำให้ความเป็นกรรมการนโยบายสิ้นสุดลงไปด้วยตามนัยมาตรา 25มาตรา 23 วรรคสอง และมาตรา 24 หรือไม่ ประการใด และหากประธานกรรมการนโยบายแจ้งลาออกดังกล่าวข้างต้นแล้ว แต่ยังปฏิบัติหน้าที่กรรมการนโยบายมาโดยตลอด จะนำความในมาตรา 26 วรรคสอง มาบังคับใช้โดยอนุโลมได้หรือไม่ อย่างไร
ทั้งนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 5 ) ได้พิจารณาข้อหารือของส.ส.ท. โดยมีผู้แทนสำนักนายกรัฐมนตรี (สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี) และผู้แทนองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) เป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว มีความเห็นในแต่ละประเด็นดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง การที่ประธานกรรมการนโยบายองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยได้ขอลาออกจากประธานกรรมการนโยบายแล้ว จะมีผลทำให้ความเป็นกรรมการนโยบายของบุคคลนั้นสิ้นสุดลงไปด้วยตามนัยมาตรา 23 วรรคสอง มาตรา 24 และมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 หรือไม่ อย่างไร นั้น
เห็นว่า เมื่อพิจารณาองค์ประกอบและที่มาของคณะกรรมการนโยบายองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ตามมาตรา 17 และมาตรา 18 แล้ว จะเห็นได้ว่า คณะกรรมการนโยบายประกอบด้วยประธานกรรมการนโยบายคนหนึ่ง และกรรมการนโยบายอื่นอีกแปดคน ซึ่งมาจากการที่คณะกรรมการสรรหาตามมาตรา 18 ดำเนินการสรรหาบุคคลที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย เพื่อให้ได้กรรมการนโยบายครบจำนวน
หลังจากนั้นจึงให้ผู้ที่ได้รับเลือกทั้งหมดประชุมร่วมกันเพื่อเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานกรรมการนโยบาย และให้คณะกรรมการสรรหาแจ้งรายชื่อประธานกรรมการนโยบายและกรรมการนโยบายต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการนโยบาย พร้อมทั้งประกาศรายชื่อคณะกรรมการนโยบายดังกล่าวในราชกิจจานุเบกษาด้วย
การแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายดังกล่าวจึงประกอบด้วย การแต่งตั้งผู้ได้รับการเสนอชื่อคนหนึ่งเป็นประธานกรรมการนโยบาย และแต่งตั้งผู้ได้รับการเสนอชื่ออื่นอีกแปดคนเป็นกรรมการนโยบาย ซึ่งเป็นไปตามองค์ประกอบของคณะกรรมการนโยบายที่กำหนดไว้ในมาตรา 17 การเปลี่ยนแปลงรายชื่อคณะกรรมการนโยบายดังกล่าวไปจากเดิมที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งและประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ย่อมกระทำได้โดยนายกรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้งและประกาศรายชื่อใหม่ในราชกิจจานุเบกษาอีกครั้ง
ดังนั้น การที่ประธานกรรมการนโยบายได้ขอลาออกจากประธานกรรมการนโยบายจึงต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 24 (2) ซึ่งทำให้พ้นจากความเป็นกรรมการนโยบายไปพร้อมกันด้วย ที่ประชุมกรรมการนโยบายจึงต้องเลือกกรรมการนโยบายคนหนึ่งปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการนโยบายไปพลางก่อนจนกว่าจะมีกรรมการนโยบายครบจำนวน จึงให้กรรมการนโยบายทั้งคณะเลือกผู้ที่ทำหน้าที่ประธานกรรมการนโยบายต่อไปตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551
ประเด็นที่สอง การที่ประธานกรรมการนโยบายได้ขอลาออกจากประธานกรรมการนโยบายแล้ว แต่ยังคงปฏิบัติหน้าที่กรรมการนโยบายมาโดยตลอด สามารถนำความในมาตรา 26 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๕๑ มาบังคับใช้โดยอนุโลมได้หรือไม่ อย่างไร นั้น
เห็นว่า โดยที่มาตรา 26 ได้กำหนดในเรื่ององค์ประชุมไว้ว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายต้องมีกรรมการนโยบายมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม แต่ถ้าประธานกรรมการนโยบายไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการนโยบายเลือกกรรมการนโยบายคนหนึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม
ดังนั้น บทบัญญัติมาตรา 26 วรรคสองดังกล่าวจึงใช้เฉพาะกรณีที่มีประธานกรรมการนโยบายอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าประธานกรรมการนโยบายไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ จึงให้กรรมการนโยบายเลือกกรรมการนโยบายคนหนึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมคราวนั้นเท่านั้น ไม่สามารถนำมาบังคับใช้โดยอนุโลมในกรณีนี้ซึ่งเป็นกรณีที่ประธานกรรมการนโยบายลาออกและไม่มีประธานกรรมการนโยบายได้
(อ่านความเห็นฉบับเต็มที่นี่ http://app-thca.krisdika.go.th/Naturesig/CheckSig?whichLaw=cmd&year=2559&lawPath=c2_0063_2559)