"อิศรา" ค้นคำพิพากษาคดี 'ทันตแพทย์ มหิดล' เบี้ยวทุน ไฉนต้องชดใช้ 30 ล.
เปิดคำพิพากษาศาล ปค. คดีอดีตอาจารย์ทันตเเพทย์หญิง ม.มหิดล เบี้ยวไม่ใช้ทุนศึกษาต่อ ผู้ค้ำประกันเดือดร้อน ต้องชดใช้เเทน เล็งฟ้องล้มละลายก่อนหมดอายุความ 14 ก.พ. 59
เป็นข่าวปรากฎในสื่อมวลชน กรณีอดีตอาจารย์ทันตแพทย์หญิง ‘น.ส.ดลฤดี จำลองราษฎร์’ ปฏิบัติงานที่คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ขอลาเพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและเอก ณ สหรัฐอเมริกา ภายหลังศึกษาจบกลับทำผิดสัญญา ไม่ชดใช้ทุนคืน ทำให้ผู้ค้ำประกันได้รับความเดือดร้อน ต้องชดใช้ทุนแทน
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับมอบอำนาจจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ติดตามการชดใช้ทุนแล้ว โดยฟ้องร้องคดีต่อศาลปกครองกลาง และมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2549 ให้อาจารย์ทันตแพทย์หญิงรายนี้ชดใช้เงิน แต่เมื่อครบกำหนดกลับมิได้ชดใช้
ด้วยเหตุนี้ผู้ค้ำประกันจึงต้องชดใช้แทนตามสัญญา ซึ่งปัจจุบันได้ชดใช้เสร็จสิ้นแล้ว อย่างไรก็ตาม ข่าวที่เกิดขึ้นเนื่องจากเดิมคดีกำลังจะหมดอายุความวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2559 ฉะนั้นมหาวิทยาลัยมหิดลจึงต้องเร่งรัดการชดใช้หนี้จากผู้ค้ำประกัน มิฉะนั้นจะมีความผิดฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ อีกทั้งขณะนี้เตรียมฟ้องล้มละลายอาจารย์ทันตแพทย์หญิงด้วย
(อ่านประกอบ: "มหิดล" เล็งฟ้องล้มละลาย ทันตแพทย์หนีชดใช้ทุน ก่อนหมดอายุความ 14 ก.พ./ลูก 4 ใช้หนี้ประกันแทน2ล.!ทันตแพทย์ โวยอดีตอ.มหิดลหนีทุนเรียนไม่กลับปท.)
การยื่นฟ้องต่อศาลปกครองครั้งนั้นมีเหตุผลและคำพิพากษาอย่างไร สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจสอบคำพิพากษาศาลปกครองกลาง พบว่า เป็นคดีหมายเลขดำที่ 1364/2547 คดีหมายเลขแดงที่ 180/2549 ลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2549
ระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดล และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (ผู้ฟ้องคดีที่ 1-2) กับ น.ส.ดลฤดี จำลองราษฎร์, นายประสิทธิ์ จำลองราษฎร์, นางอารยา พงษ์หาญยุทธ, น.ส.ภัทรวดี ผลฉาย หรือนางภัทรวดี ลีลาทวีวุฒิ นายเผด็จ พูลวิทยกิจ และน.ส.พัชนีย์ พงศ์พียะ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-6) ในคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง
โดยขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาหรือคำสั่งดังต่อไปนี้
1.ให้ น.ส.ดลฤดี และนายประสิทธิ์ ร่วมกันหรือแทนกันชดใช้เงินตามสัญญาการเป็นนักศึกษา เพื่อศึกษาวิชาทันตแพทยศาสตร์ จำนวน 232,975 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้อัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันผิดนัดจนกว่าจะชำระแล้วเสร็จให้แก่มหาวิทยาลัยมหิดล
2.ให้ น.ส.ดลฤดี นางอารยา น.ส.ภัทราวดี และนายเผด็จ ชดใช้เงินตามสัญญาของข้าราชการที่ไปศึกษา หรือฝึกอบรม ณ ต่างประเทศ จำนวน 1,847,206.44 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันผิดนัดจนกว่าจะชำระแล้วเสร็จให้แก่มหาวิทยาลัยมหิดล
3.ให้ น.ส.ดลฤดี นางอารยา น.ส.ภัทราวดี นายเผด็จ และน.ส.พัชนีย์ ชดใช้เงินตามสัญญารับทุนรัฐบาล (ทบวงมหาวิทยาลัย) เพื่อศึกษาในวิชาในต่างประเทศ จำนวน 116,431.05 บาท กับอีก666,131.73 ดอลล่าร์สหรัฐอเมริกา พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันที่ผิดนัดจนกว่าจะชำระแล้วเสร็จให้แก่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา
เมื่อศาลพิเคราะห์แล้ว ได้มีคำพิพากษาให้ น.ส.ดลฤดี และนายประสิทธิ์ ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินให้แก่มหาวิทยาลัยมหิดล จำนวน 232,975 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้อัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับตั้งแต่วันฟ้องคดีเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
นอกจากนี้ยังให้ น.ส.ดลฤดี นางอารยา น.ส.ภัทรวดี และนายเผด็จ ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินให้แก่มหาวิทยาลัยมหิดล จำนวน 1,847,206.44 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับตั้งแต่วันฟ้องคดีเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
ตลอดจนให้ น.ส.ดลฤดี น.ส.ภัทรวดี นายเผด็จ และน.ส.พัชนีย์ ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินให้แก่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา จำนวน 116,431.05 บาท กับอีก 666,131.73 ดอลล่าร์สหรัฐอเมริกา พร้อมดอกเบี้ยให้อัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับตั้งแต่วันฟ้องคดีเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ
โดยเงินตราต่างประเทศให้คำนวณเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารพาณิชย์ในกรุงเทพมหานครในวันที่ น.ส.ดลฤดี น.ส.ภัทราวดี นายเผด็จ และน.ส.พัชนีย์ ชำระเงินให้แก่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา หากอัตราแลกเปลี่ยนในวันดังกล่าวไม่มีก็ให้ถือวันสุดท้ายที่มีอัตราแลกเปลี่ยนก่อนวันที่ชำระเงิน
ทั้งนี้ ให้ชำระให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก และคืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดจำนวน 52,005 บาท ให้แก่มหาวิทยาลัยมหิดล และจำนวน 200,000 บาท ให้แก่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา
ผลคำพิพากษาข้างต้น สืบเนื่องจากผู้ฟ้องคดีทั้งสองฟ้องและเพิ่มเติมคำฟ้องว่า น.ส.ดลฤดี ได้ทำสัญญาการเป็นนักศึกษา เพื่อศึกษาวิชาทันตแพทย์กับมหาวิทยาลัยมหิดล โดยให้สัญญาว่า เมื่อสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรแล้วยินยอมปฏิบัติการให้เป็นไปตามคำสั่งของคณะกรรมการพิจารณาจัดสรรทันตแพทย์ ผู้ทำสัญญาเข้ารับราชการหรือทำงานในสถานศึกษา ส่วนราชการหรือองค์การของรัฐบาลแห่งใดทุกประการ เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี ติดต่อกันไป นับแต่วันที่ได้กำหนดในคำสั่ง
ถ้าไม่รับราชการหรือทำงานดังกล่าว ยินยอมรับผิดชดใช้เงินให้แก่มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นเงินจำนวน 4 แสนบาท ภายในกำหนดเวลาที่มหาวิทยาลัยมหิดลเรียกร้องให้ชำระ
ถ้าน.ส.ดลฤดีรับราชการหรือทำงานไม่ครบกำหนดเวลา ยินยอมรับผิดชดใช้เงินให้แก่มหาวิทยาลัยมหิดลตามระยะเวลาที่ขาด โดยคิดคำนวณลดลงตามส่วนเฉลี่ยจากจำนวนเงินที่ต้องชดใช้
และเพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญา นายประสิทธิ์ ได้ทำสัญญาค้ำประกันให้ไว้แก่มหาวิทยาลัยมหิดล โดยให้สัญญาว่า ถ้าน.ส.ดลฤดีกระทำผิดสัญญาที่ให้ไว้ต่อมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นเหตุให้เกิดความรับผิดต้องชดใช้เงินให้แก่มหาวิทยาลัยมหิดลแล้ว
นายประสิทธิ์ยินยอมชดใช้เงินตามจำนวนที่ น.ส.ดลฤดี จะต้องรับผิดนั้นให้แก่มหาวิทยาลัยมหิดลจนครบถ้วน โดยมหาวิทยาลัยมหิดลมิจำต้องเรียกร้องให้น.ส.ดลฤดีชดใช้เงินดังกล่าวก่อน
ซึ่ง น.ส.ดลฤดี ได้สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรและเริ่มปฏิบัติงานชดใช้ทุนตามสัญญาที่คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2536 ตามคำสั่งมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ 2247/2536 ลงวันที่ 8 กรกฎาคม 2536
ต่อมา น.ส.ดลฤดี ได้รับอนุมัติให้ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโท-เอก สาขาทันตกรรมสำหรับเด็ก ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา มีกำหนด 3 ปี ด้วยทุนรัฐบาล (ทบวงมหาวิทยาลัย-ทุกประเภท 1ก.) ตามโครงการพัฒนาอาจารย์ ตั้งแต่วันที่ออกเดินทางเป็นต้นไป โดยได้รับเงินเดือนเต็ม
โดยเริ่มเดินทางตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2537 และได้รับอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงสาขาวิชาในระดับปริญญาเอกจากเดิมเป็นสาขาวิชา Oral Biology ตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2539 และได้รับขยายระยะเวลาการศึกษาต่อจนถึงวันที่ 1 กรกฎาคม 2547 ในการไปศึกษาต่อต่างประเทศ น.ส.ดลฤดี ได้ทำสัญญาของข้าราชการที่ไปศึกษา หรือฝึกอบรม ณ ต่างประเทศให้ไว้แก่มหาวิทยาลัยมหิดล
โดยมีเงื่อนไขในสัญญาข้อ 3 กำหนดว่า เมื่อเสร็จการศึกษาหรือฝึกอบรม ทั้งนี้ ไม่ว่าการศึกษาหรือฝึกอบรมจะสำเร็จหรือไม่ หรือถูกเรียกตัวกลับ น.ส.ดลฤดี สัญญาว่าจะรับราชการตามแผนงานหรือโครงการที่ทางราชการกำหนดต่อไปในคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ทบวงมหาวิทยาลัย หรือในกระทรวง ทบวง กรม อื่นตามที่ทางราชการ เห็นสมควรเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 เท่าของระยะเวลาที่ไปศึกษา หรือฝึกอบรม หรือปฏิบัติการวิจัย
ข้อ 4 กำหนดว่า ในกรณีที่ น.ส.ดลฤดี ผิดสัญญาในข้อ 3 หรือไม่กลับมารับราชการด้วยเหตุผลใด ๆ ก็ดี น.ส.ดลฤดีจะใช้คืนให้แก่มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งทุนและหรือเงินเดือนรวมทั้งเงินเพิ่มและหรือเงินอื่นใดทั้งสิ้นที่ น.ส.ดลฤดี ได้รับจากทางราชการในระหว่างเวลาที่ได้รับการอนุมัติให้ไปศึกษาหรือฝึกอบรม นอกจากนี้ น.ส.ดลฤดี ตกลงจะจ่ายเงินเป็นเบี้ยปรับให้แก่มหาวิทยาลัยมหิดลอีก 2 เท่า ของเงินที่ น.ส.ดลฤดี จะต้องชดใช้คืน
ข้อ 5 กำหนดว่า เงินที่จะชดใช้คืนและเงินเบี้ยปรับตามสัญญา น.ส.ดลฤดี จะชำระให้ทั้งหมดภายในกำหนด 30 วัน นับถัดจากวันที่ได้รับแจ้งจากมหาวิทยาลัยมหิดล หากไม่ได้ชำระภายในกำหนดหรือชำระให้แต่ไม่ครบ ทั้งนี้ จะโดยความยินยอมของมหาวิทยาลัยมหิดลหรือไม่ก็ตาม จะยอมให้คิดดอกเบี้ยจากเงินที่ยังไม่ได้ชำระอีกในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี
และเพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าว นางอารยา น.ส.ภัทราวดี และนายเผด็จ ได้ทำสัญญาค้ำประกันให้ไว้ต่อมหาวิทยาลัยมหิดล
มีเงื่อนไขในสัญญาข้อ 1 กำหนดว่า ถ้า น.ส.ดลฤดี กระทำผิดสัญญาที่ให้ไว้ดังกล่าวไม่ว่าข้อหนึ่งข้อใดด้วยประการใด ๆ นางอารยา น.ส.ภัทรวดี และนายเผด็จ ยินยอมชำระหนี้ตามข้อผูกพันที่ระบุในสัญญาทั้งสิ้นทุกประการให้แก่มหาวิทยาลัยมหิดลทันที โดยมหาวิทยาลัยมหิดลมิจำต้องเรียกร้องให้ น.ส.ดลฤดี ชำระหนี้ก่อน และนางอารยา น.ส.ภัทราวดี และน.ส.พัชนีย์ จะรับผิดตามสัญญาตลอดไปจนกว่าจะมีการชำระหนี้ครบจำนวน
นอกจากนี้ ในการไปศึกษา ณ ต่างประเทศดังกล่าว น.ส.ดลฤดี ยังได้ทำสัญญาการรับทุนรัฐบาล (ทบวงมหาวิทยาลัย) เพื่อศึกษาวิชาในต่างประเทศให้ไว้ต่อสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา
โดยมีเงื่อนไขในสัญญาข้อ 9 กำหนดว่า เมื่อ ก.พ.หรือสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กำหนดให้ น.ส.ดลฤดี เข้ารับราชการในส่วนราชการใด เมื่อใด โดยให้ได้รับเงินเดือนตามที่ ก.พ.กำหนดให้แล้ว น.ส.ดลฤดี จะเข้ารับราชการในส่วนราชการตามที่ ก.พ.หรือสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษากำหนดและจะรับราชการอยู่ต่อไปอีก ในส่วนราชการนั้นและหรือส่วนราชการอื่นที่ ก.พ.หรือสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เห็นชอบติดต่อกันเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 เท่าของระยะเวลาที่ น.ส.ดลฤดี ได้รับเงินเดือน รวมทั้งเงินเพิ่มจากทางราชการในระหว่างศึกษาวิชาในต่างประเทศตามสัญญา ทั้งนี้ สุดแต่เวลาใดจะมากกว่ากัน
ข้อ 10 กำหนดว่า ถ้า น.ส.ดลฤดี ไม่กลับประเทศไทยภายในเวลาที่ ก.พ.หรือสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษากำหนดหรือไม่ยอมเข้ารับราชการในส่วนราชการตามที่ ก.พ.หรือสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษากำหนดให้ก็ดี หรือ น.ส.ดลฤดี ไม่ประพฤติหรือไม่ปฏิบัติตามสัญญานี้ในประการหนึ่งประการใด จน ก.พ. หรือสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา สั่งให้ น.ส.ดลฤดี กลับประเทศไทยก็ดี
น.ส.ดลฤดียินยอมรับผิดชดใช้ทุนรัฐบาลดังกล่าวให้เป็นเบี้ยปรับแก่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาทันที
และเพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าว น.ส.ภัทรวดี นายเผด็จ และน.ส.พัชนีย์ ได้ทำสัญญาค้ำประกันให้ไว้ต่อสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา
มีเงื่อนไขในสัญญาข้อ 1 กำหนดว่า ถ้า น.ส.ดลฤดี ผิดสัญญาดังกล่าวไม่ว่าข้อหนึ่งข้อใดด้วยประการใด ๆ ก็ดี น.ส.ภัทรวดี นายเผด็จ และน.ส.พัชนีย์ ยินยอมชดใช้เงินให้แก่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาตามความรับผิดชอบของ น.ส.ดลฤดีที่ระบุในสัญญาทั้งสิ้นทุกประการทันที โดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษามิจำต้องเรียกร้องให้ น.ส.ดลฤดี ชำระก่อน
ต่อมาเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2547 น.ส.ดลฤดี ได้ยื่นหนังสือขอลาออกจากราชการตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2546 ต่อมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดลได้มีคำสั่งที่ 1631/2547 ลงวันที่ 28 กันยายน 2547 อนุญาตให้ น.ส.ดลฤดีลาออกจากราชการ ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2546
เมื่อ น.ส.ดลฤดี ได้ลาออกจากราชการในขณะที่ยังปฏิบัติงานหรือรับราชการชดใช้ทุนไม่ครบตามสัญญา น.ส.ดลฤดี จึงต้องชดใช้เงินแก่มหาวิทยาลัยมหิดล และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เพื่อทดแทนการปฏิบัติงาน รวม 3 สัญญา คือ
สัญญาการเป็นนักศึกษา เพื่อศึกษาวิชาทันตแพทยศาสตร์ เป็นเงินจำนวน 232,975 บาท
สัญญาของข้าราชการที่ไปศึกษา หรือฝึกอบรม ณ ต่างประเทศ เป็นเงิน 1,847,206.44 บาท
และสัญญารับทุนรัฐบาล (ทบวงมหาวิทยาลัย) เพื่อศึกษาวิชาในต่างประเทศ เป็นเงิน 116,431.05 บาท กับอีก 666,131.73 ดอลล่าร์สหรัฐอเมริกา
โดยมหาวิทยาลัยมหิดล ได้แจ้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 6 นำเงินจำนวนดังกล่าวมาชดใช้แก่มหาวิทยาลัยมหิดลภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง
โดยในส่วนของ น.ส.ดลฤดีได้ส่งจดหมายไปยังบ้านเลขที่ 112/1250 ถ.บางนา-ตราด แขวงบางนา เขตพระโขนง กรุงเทพฯ แต่ปรากฎว่าจดหมายไม่มีผู้รับภายในกำหนด
มหาวิทยาลัยมหิดลจึงได้ส่งจดหมายแจ้งไปยัง Harvard Medical School/NRB Mass Lab, Room#458 77 Avenue Louis Pasteur Boston, MA 02115 USA ซึ่งเป็นที่อยู่ของ น.ส.ดลฤดี ในประเทศสหรัฐอเมริกา
ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2-6 ได้ส่งไปยังที่อยู่ของแต่ละคน โดยนายประสิทธิ์ ได้รับหนังสือแจ้งเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2547 นางอารยา ได้รับหนังสือแจ้งเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2547 น.ส.ภัทรวดี ได้รับหนังสือแจ้งเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2547 นายเผด็จ ได้รับหนังสือแจ้งเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2547 และน.ส.พัชนีย์ ได้รับหนังสือแจ้งเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2547
แต่เมื่อครบระยะเวลาที่กำหนด ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหกไม่ได้นำเงินมาชำระให้แก่มหาวิทยาลัยมหิดลแต่อย่างใด
จึงขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษาหรือคำสั่งนั่นเอง .
อ่านประกอบ:ล่าข้ามโลก! เผยโฉมที่ทำงานอดีตอ.สาวมหิดล ในฮาวาร์ด หลังหนีทุนไม่กลับปท.
รับไม่ได้ให้ชดใช้เงินคืน3เท่า! เปิดเบื้องหลัง อดีตอ.สาวมหิดล หนีทุนเรียนนอก
เปิดอีกราย ‘ผู้ค้ำประกัน’ อดีตอ.สาวมหิดล หนีทุนเรียน รับกรรมช่วยเพื่อนสนิท