"มหิดล" เล็งฟ้องล้มละลาย ทันตแพทย์หนีชดใช้ทุน ก่อนหมดอายุความ 14 ก.พ.
รองอธิการบดีม.มหิดล เปิดแถลงกรณีทันตแพทย์ลาศึกษาต่างประเทศแล้วไม่กลับมาชดใช้ทุน เล็งฟ้องล้มละลาย หลังพบข้อจำกัดการติดตามบังคับทรัพย์สินในต่างประเทศ เป็นการการทวงหนี้ในคดีแพ่ง มูลคดีเกิดขึ้นในประเทศไทย บรรดาเจ้าหนี้ไม่สามารถติดตามบังคับคดีนอกราชอาณาจักรไทยได้
วันที่ 2 กุมภาพันธ์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดยศาสตราจารย์นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วยรองศาสตราจารย์ทันตแพทย์พาสน์ศิริ นิสาลักษณ์ คณบดีคณะทันตแพทยศาตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าวกรณีการใช้ทุนการศึกษา ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์นที รักษ์พลเมือง ชั้น 5 สำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
ศ.นพ.บรรจง กล่าวถึงกรณีทันตแพทย์รายหนึ่ง ซึ่งปฏิบัติงานที่คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ขอลาศึกษาต่อปริญญาโท และปริญญาเอก ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ต่อมาได้ผิดสัญญาไม่ยอมชดใช้ทุน และเบี้ยปรับ ทำให้เป็นภาระแก่ผู้ค้ำประกันต้องชดใช้เงินทุนและเบี้ยปรับแทนว่า ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่ยาวนาน ตั้งแต่ปี 2537 และเข้าไปเกี่ยวข้องกับผู้บริหารในอดีตหลายชุด ขณะเดียวกันกฎ ระเบียบต่างๆ ก็เปลี่ยนแปลงไปหลายเรื่องแล้ว
สำหรับการดำเนินการส่วนของการเรียกให้ชดใช้ทุนนั้น ศ.นพ.บรรจง กล่าวว่า เป็นการดำเนินการตามที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้มอบอำนาจให้มหาวิทยาลัยมหิดลลงในสัญญาผูกพันและชดใช้ทุน และติดตามเรียกให้ชดใช้เงินทุน ตามกฎหมาย คือ ขั้นตอนการฟ้องร้องคดีต่อศาลปกครอง เพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้ทันตแพทย์และผู้ค้ำประกันชดใช้เงินแก่ทางราชการ จำนวน 1.9 แสนบาท และ 6.6 แสนดอลล่าร์สหรัฐฯ ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2549 ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาถึงที่สุด ให้ทันตแพทย์และผู้ค้ำประกันรับผิดชดใช้เงินตามฟ้อง แต่เมื่อคดีถึงที่สุดทันตแพทย์คนนี้มิได้นำเงินมาชำระ ส่วนผู้ค้ำประกันก็รู้สึกว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงขอหารือเรื่องการผ่อนผัน
ศ.นพ.บรรจง กล่าวต่อว่า ปัจจุบันผู้ค้ำประกันทั้ง 4 ราย ได้ชดใช้เงินเสร็จสิ้นแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 หลังมีการลดทอน และลดค่าเบี้ยปรับ จากสกอ. เป็นจำนวนเงินประมาณ 8 ล้านบาท แต่สำหรับทันตแพทย์คนดังกล่าวผู้ไม่ได้ชดใช้ทุนนั้น หากภายหลังมีการนำเงินมาชำระให้ผู้ค้ำประกันทั้ง 4 รายแล้วจบ ไม่ใช่ ทำไม่ได้ เธอก็ยังอยู่ในบ่วงกรรมที่ต้องรับผิดชอบเป็นจำนวนเงิน 30 ล้านบาทอยู่
"ขั้นตอนต่อไป เราจะเตรียมฟ้องล้มละลายอดีตทันตแพทย์คนดังกล่าวต่อไป เพราะการติดตามบังคับทรัพย์สินทันตแพทย์คนนี้ในต่างประเทศนั้น เป็นการทวงหนี้ในคดีแพ่ง และมีมูลคดีเกิดขึ้นในประเทศไทย บรรดาเจ้าหนี้จึงไม่สามารถติดตามบังคับคดีนอกราชอาณาจักรไทยได้ เมื่อคดีความแพ่ง มีปัญหาเรื่องเขตนอกราชอาณาจักร จึงเป็นกรณีศึกษาว่าจะทำอย่างไรต่อไป"ศ.นพ.บรรจง กล่าว และว่า การติดตามนำเงินกลับประเทศไทยต้องฟ้องให้เป็นบุคคลล้มละลายเท่านั้น จากนั้นจึงจะมีขั้นตอนการทวงหนี้ข้ามประเทศได้ และหากต่อมามีการเดินทางเข้ามาในประเทศไทย สำนักงานตรววจคนเข้าเมือง (ตม.) จึงจะสามารถคุมตัวไว้ไม่ให้ออกนอกประเทศไทยภายใน 3 ปี ทางมหิดลและสกอ. เรากำลังดำเนินการเรื่องนี้อยู่
ศ.นพ.บรรจง กล่าวด้วยว่า สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นจะเป็นกรณีศึกษา และเป็นอุทาหรณ์ รวมถึงจะมีการหารือเรื่องการให้ทุนต่อไปในอนาคต รวมถึงวิธีการจะทำอย่างไรให้ผู้ทำไม่ถูกต้อง ควรเป็นผู้รับผิดชอบหลัก และผู้ไปเกี่ยวเนื่องโดยบังเอิญ ไม่ควรได้รับบทลงโทษจนทำให้รู้สึกว่า ตั้งใจทำดีกลับได้ผลกรรมทางตรงข้าม
ด้านรศ.ทันตแพทย์พาสน์ศิริ กล่าวถึงการดำเนินการช่วงที่ผ่านมา ทางคณะทันตแพทยศาตร์ เห็นใจผู้ค้ำประกันอย่างมาก มีความพยายามติดตามทวงถามจำนวนเงิน 30 ล้านบาท มาตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน 2547 ทั้งส่งจดหมายที่อยู่ภายในประเทศ และต่างประเทศหลายครั้ง แต่ทันตแพทย์คนดังกล่าวตอบกลับมาว่า เธอไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งเป็นเหตุผลที่ใม่จ่ายรัฐบาลไทย โดยเธอเห็นว่า รัฐบาลไทยเรียกร้องมากเกินไป ต่อมาจึงพยายามผ่อนผันให้ ด้วยการทำหนังสือถึงมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด และผู้ผิดสัญญาให้มาเป็นอาจารย์พิเศษ พร้อมเสนอทางเลือกให้สอนหนังสือเป็นบางช่วง หรืออาจสอนทางออนไลน์ สอนทางไกลก็ได้ ถือว่า ผู้รับทุนได้มาช่วยปฏิบัติงานแล้ว จะได้ไม่ต้องชดใช้ทุน แม้ไม่สามารถกลับมาเมืองไทยได้ตลอด แต่ในเรื่องนี้เมื่อทำหนังสือหารือไปที่กระทรวงการคลัง และกรมบัญชีกลาง ได้รับคำตอบว่า ไม่สามารถผ่อนผันลักษณะนี้ได้ และไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ จึงไม่สามารถขอผ่อนผันลักษณะนี้ได้
"ที่ออกมาเป็นข่าวเพราะกำลังหมดอายุความ สกอ.ก็เร่งรัดมาที่มหิดลต้องดำเนินการให้เสร็จก่อนหมดอายุความ 14 กุมภาพันธ์ 2559 หากไม่ดำเนินการจะมีความผิด ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ จึงเกิดเป็นประเด็นขึ้นมา เพราะผู้รับทุนยังปฏิเสธไม่ยอมชำระเงิน ซึ่งตามกฎหมายจึงต้องมาลงที่ผู้ค้ำประกันแทน"
อ่านประกอบ