ที่ปรึกษาพีมูฟ ชี้คดีพิพาทที่ดินราไวย์ ยุติได้ต้องใช้หลักฐานทางประวัติศาสตร์
'ประยงค์' ชี้ปัญหาราไวย์ต้องใช้หลักฐานทางประวัติศาสตร์ประกอบคดี หลังพบมีการออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบ แนะรัฐทบทวนมติ ครม.ปี 53 จัดการเรื่องที่ดินกับกลุ่มชาติพันธุ์ ให้เป็นธรรม
ในวันอังคารที่ 2 กุมภาพันธ์ จังหวัดภูเก็ตจะจัดให้มีการประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน ชุมชนชาวเลราไวย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามคำสั่งของพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง โดยมีคณะอนุกรรมการสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเข้าร่วมด้วย
นายประยงค์ ดอกลำไย ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือพีมูฟ ให้สัมภาษณ์กับทาง สำนักข่าวอิศรา ถึงกรณีปัญหาที่ดินว่า ปัญหาการออกเอกสารสิทธิ์ ซึ่งต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2497 ที่มีประมวลกฎหมายที่ดิน มีการออกเอกสารสิทธิ์โดยใช้ใบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) หรือหนังสือแจ้งเอกสารสิทธิ์ ซึ่งตามประมวลกฎหมายที่ดินให้เวลา 1 ปี ใครที่มีที่ดินครอบครองในเวลานั้นไปแจ้ง ก็จะได้ไป ส.ค. 1 ใบนี้จะนำไปสู่การออกเอกสารสิทธิ์ได้
"ปัญหาของ ส.ค. 1 บางครั้ง จะระบุไว้เพียง ขนาดของที่ดินว่า 1ไร่ 2 ไร่ เป็นต้น เพราะในตอนนั้นไม่มีการมาระวางวัดอะไร คือไปแจ้งแล้ววาดรูปเอาไว้คราวๆ โดยบางคนก็แจ้งไว้ตามจริง บางคนก็แจ้งไว้น้อย ซึ่งส่วนใหญ่จะแจ้งน้อยไว้ก่อน เนื่องจากไม่อยากเสียภาษีมาก แต่เมื่อเวลาไปรังวัดจริง เอา ส.ค.1 ไปยื่นโฉนดก็จะมีการนำชี้ไปตามขอบเขตที่ถือครอง โดยเนื้อที่ก็จะมากกว่าที่ปรากฏใน ส.ค.1 เรียกลักษณะเบบนี้ว่า ส.ค.1 บวม" ที่ปรึกษา พีมูฟ กล่าว และว่า ตรงนี้เองที่กลายเป็นปัญหาว่า ทำไมถึงมีการออกเอกสารสิทธิ์ทับ เพราะอาจมีการชี้เกินจากที่ตนแจ้งไว้ในตอนแรก ประกอบกับขณะนั้นก็น่าจะเป็นช่วงที่มีการย้ายถิ่นไปทำมาหากินในจุดอื่นตามฤดูกาลของชาวเล ซ้ำยังไม่มีสิ่งปลูกสร้างถาวรด้วย ทำให้มีการออกเอกสารสิทธิ์ทับลงในพื้นที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย ที่มาตั้งแต่บรรพรุษเก่าของกลุ่ม
นายประยงค์ กล่าวถึงการพิจารณาในคดีที่เกี่ยวข้องกับข้อพิพาทเรื่องที่ดินโดยเฉพาะกับกลุ่มชาติพันธุ์ ศาลจะพิจารณาโดยยึดที่ตัวเอกสารสิทธิ์ว่า ผู้ที่ครอบครองเอกสารสิทธิ ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ มีกรณีที่ จังหวัดลำพูน มีการร้องเรียนในเรื่องลักษณะนี้ และที่ผ่านมาพบว่า แม้ว่าศาลจะรู้ว่าเอกสารสิทธิ์นั้นจะออกโดยมิชอบหรือมีปัญหาอยู่นั้น แต่ตราบใดที่เอกสารสิทธิ์นั้นยังไม่ถูกเพิกถอน ก็ถือว่า เจ้าของกรรมสิทธิ์ถือครองโดยชอบด้วยกฎหมาย สุดท้ายหากพิจารณากันแบบนี้ กลุ่มชาติพันธุ์ก็มักจะแพ้ ดังนั้นการพิจารณาคดีแบบนี้จึงจำเป็นต้องเปิดทางให้กับการพิสูจน์หลักฐานในรูปแบบของหลักฐานทางประวัติศาสตร์ หลักฐานทางวัฒนธรรม ประกอบด้วย
ในกรณีเรื่องเอกสารสิทธิ์ นายประยงค์ กล่าวว่า สามารถที่จะมีการเปลี่ยนแปลงได้ หากพบว่าการออกเอกสารดังกล่าวเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งตามประมวลกฎหมายมาตรา 61 ให้อำนาจอธิบดีกรมที่ดินในการที่จะเพิกถอนเอกสารสิทธิ์นั้นได้ กระบวนการการพิสูจน์ แต่เดิมไม่ได้ใช้หลักฐานทางประวัติศาสตร์ จะใช้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านมาให้ปากคำ แต่ในกรณีนี้นั้น จะต้องมีการเอาข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ เช่นผลการตรวจดีเอ็นเอของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งทางกลุ่ม พีมูฟได้เสนอให้มีการเข้าไปตรวจสอบ ตั้งแต่ก่อนที่จะมีเรื่องเกิดขึ้น ผลก็ออกมาชัดเจนว่า ดีเอ็นเอมีความเชื่อมโยงและชุมชนนี้เป็นชุมชนที่มีอยู่มาก่อน หลักฐานชิ้นต่อไปที่สามารถนำเอามาประกอบการพิสูจน์ในครั้งนี้คือการใช้หลักฐานภาพถ่ายจากดาวเทียมที่ย้อนหลังกลับไปในหลายๆ ระยะ และกรณีราไวย์นี้น่าสนใจ เพราะมีภาพการเสด็จฯ เยี่ยมของ ในหลวงรัชกาลปัจจุบัน จะเป็นหนึ่งในหลักฐานยืนยันสิทธิ์ของที่ดินได้
"อีกอย่างที่มีการเสนอให้ใช้คือ ทะเบียนนักเรียน ซึ่งยังระบุเชื่อมโยงถึงการมีตัวตนของคนที่อยู่อาศัยในปัจจุบันได้ ฉะนั้น ปัญหาจริงๆ ของเรื่องนี้ ไม่ใช่เรื่องต้องการครอบครองที่ดินทั้ง 30 ไร่ ชาวเลต้องการเพียงเส้นทางสาธารณะที่ใช้สัญจรไปทำพิธี ไปขึ้นเรือ กลับมา แต่ตัวเจ้าของเอกสารสิทธิ์เองก็ต้องการใช้พื้นที่ริมชายหาด ซึ่งเป็นที่จอดเรือของชาวบ้านในขณะนี้ เพราะฉะนั้น ถ้าสามารถปิดเส้นทางสาธารณะตรงนี้ได้ ก็จะทำให้หน้าหาดตรงนั้นเป็นหาดส่วนตัวไป เพราะนายทุนอ้างกรรมสิทธิ์ ดังนั้นเพื่อยุติและแก้ปัญหา พร้อมทั้งสร้างบรรทัดฐานให้สังคมใหม่ จำเป็นต้องมีการพิจารณาผ่านหลักฐานทางประวัติศาสตร์ “ นายประยงค์ กล่าว
เมื่อถามถึงความคืบหน้าในการจัดการเรื่องที่ดินของกลุ่มชาติพันธุ์ นายประยงค์ กล่าวด้วยว่า มติ ครม.ปี 2553 ที่มีมติให้ฟื้นฟูวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งในเรื่องของการฟื้นฟู ทำให้มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง รวมไปถึงสถานที่ประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อของชุมชน และในเรื่องของพื้นที่ทำมาหากิน ไม่มีความคืบหน้าใดๆ เลย โดยเฉพาะกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรมที่ดินเองก็เพิกเฉยที่จะดำเนินการ หากมีการจัดการตามมติครั้งนั้น เชื่อว่าจะช่วยลดความขัดแย้งที่มีต่อกลุ่มชาติพันธุ์ได้ ในกำหนดนั้นมีการบังคับให้พิสูจน์การตั้งอยู่ของพื้นที่ชุมขนนั้นๆ และต้องยอมรับวิถีชีวิตการทำมาหากินของคนกลุ่มชาติพันธุ์ สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ความขัดแย้งต่างๆ ลดลง.
ขอบคุณภาพประกอบ: http://4laws.info/ และ เฟซบุ๊ค ประยงค์ ดอกลำไย