ป.ป.ช.ไม่เปิดสำนวนคดีจัดประมูล 3 จี ‘อิศรา’ทั้งที่ตีตกตั้งแต่ปี’57
ขอไป 7 เดือนเพิ่งตอบ! ป.ป.ช. ไม่ให้รายงานการไต่สวนข้อเท็จจริง-บันทึกประชุมคณะกรรมการฯ คดีกล่าวหา 4 กก.กทค. จัดประมูล 3 จี ไม่มีการแข่งขันเป็นธรรม มีมติยกคำร้องช่วงปี’57 อ้าง กม. ไม่ได้เป็นการตรวจสอบเพื่อประโยชน์ทางราชการ-สาธารณะ ถ้าให้มีสิทธิ์ติดคุก 6 เดือน-ปรับไม่เกินหมื่นบาท
จากกรณีเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2558 สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 ขอรายงานการไต่สวนข้อเท็จจริง และบันทึกการประชุมของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีกล่าวหาคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ว่าจัดประมูลให้ใช้ใบอนุญาต 3 จี โดยไม่มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม ซึ่งกรณีนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติยกคำร้องตั้งแต่เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2557 แล้วนั้น
ล่าสุด เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2559 สำนักงาน ป.ป.ช. มีหนังสือตอบกลับแจ้งผลการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในกรณีดังกล่าว โดยระบุว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติไม่อนุญาตให้เปิดเผยรายงานการไต่สวนข้อเท็จจริง และบันทึกการประชุมของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในเรื่องกล่าวหาดังกล่าว ทั้งนี้ตามมาตรา 120 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 แต่ให้สรุปข้อเท็จจริงตามรายงานการไต่สวนข้อเท็จจริง และมีมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ทราบแทน (ดูเอกสารประกอบ)
สำหรับมาตรา 120 ของ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ระบุว่า ผู้ใดเปิดเผยข้อความ ข้อเท็จจริง หรือข้อมูล ที่ได้มาเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญนี้ โดยมิได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. และมิใช่เป็นการกระทำตามหน้าที่ราชการหรือเพื่อประโยชน์แก่การตรวจสอบหรือไต่สวนข้อเท็จจริง หรือเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่ากรณีนี้ ประธานวุฒิสภาส่งเรื่องถอดถอนคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) มาให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการ โดยมีผู้ถูกกล่าวหา 4 ราย ได้แก่ พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ประธาน กทค. นายสุทธิพล ทวีชัยการ นายประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ และ พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร กรรมการ กทค.
โดยกล่าวหาว่า 1.ออกประกาศหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ 3 จี เอื้อประโยชน์ให้กับผู้เข้าแข่งขันทั้ง 3 ราย ทำให้ไม่มีการแข่งขันเสนอราคากันอย่างแท้จริงในการประมูล 2.DTAC มีผู้จัดการเป็นคนต่างด้าว ขาดคุณสมบัติในการเข้าร่วมประมูล 3.กทค. ไม่มีอำนาจจัดการประมูลคลื่น 3 จี 4.ผู้เข้าประมูลทั้ง 3 ราย มีการสมยอมกัน (ฮั้ว) ในการประมูลคลื่น 3 จี 5.กทค. ทั้ง 4 ราย ละเว้นไม่ดำเนินการยกเลิกการประมูลทั้งที่ทราบว่า การประมูล ผู้เข้าร่วมประมูลไม่มีการแข่งขันเสนอราคากันอย่างแท้จริง
จากการไต่สวนข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า การประมูลครั้งนี้ ตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล ย่าน 2.1 GHz พ.ศ.2555 (3 จี) ได้แบ่งคลื่นออกเป็น 9 ชุด มีผู้เข้าร่วมประมูล 3 ราย ประกอบด้วย AIS DTAC และ TRUE เป็นการดำเนินการประมูลตามหลักเกณฑ์ วิธีการที่ กสทช. ประกาศกำหนด มิได้นำหลักการประมูลตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-auction) มาใช้ ซึ่งเป็นไปตามหลักสากลเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค การประมูลก็มีการแข่งขันเสนอราคากันถึง 7 รอบ ผลการประมูลได้ราคาสูงกว่าประเทศอื่น ๆ ที่มีรายได้ต่อหัวใกล้เคียงกับประเทศไทย และได้รับการยอมรับจาก สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ซึ่งเป็นองค์กรของสหประชาชาติด้านโทรคมนาคม
ไม่ปรากฏพฤติการณ์ว่า มีการกระทำอันมีมูลความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 (พ.ร.บ.ฮั้ว) และไม่มีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพียงพอที่จะรับฟังได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า จากการไต่สวนข้อเท็จจริงไม่ปรากฏพฤติการณ์ว่ามีการกระทำอันมีมูลความผิด ตาม พ.ร.บ.ฮั้ว และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพียงพอที่จะฟังได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป