ส.รามจิตติ-สกว.ดันวิชาภัยพิบัติบรรจุหลักสูตรท้องถิ่นให้เด็กช่วยตัวเองได้
ส.รามจิตติ ร่วม สกว.เปิดบทเรียนภัยพิบัติสร้างทักษะเด็กไทย-เทศ ชี้เพิ่มในหลักสูตรท้องถิ่นที่ ร.ร.-ครอบครัว-ชุมชนมีส่วนร่วม แนะต้องสอนเด็กทุกคนให้ว่ายน้ำเป็น
วันที่ 30 พ.ย. 54 สถาบันรามจิตติ โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดเสวนา “บทเรียนมหาอุทกภัยกับการเรียนรู้ใหม่เพื่อเด็กและเยาวชน” ซึ่งศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา สัมภาษณ์ ดร.จุฬากรณ์ มาเสถียรวงศ์ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันรามจิตติ กล่าวว่าปัญหาภัยพิบัติโดยเฉพาะเรื่องอุทกภัยกลายเป็นวาระโลกที่มีองค์กรเครือข่ายในประเทศต่างๆเข้ามาทำงานจำนวนมาก ซึ่ง สกว.จึงผลักดันโครงการเป็นกิจกรรมศึกษาและถอดบทเรียนเรื่องการจัดการน้ำและภัยพิบัติในมิติเด็ก เยาวชน และการศึกษา
“ประเทศไทยควรสร้างยุทธศาสตร์การเรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชน เพื่อเป็นเครื่องมือสร้างกำลังคนและอนาคตที่ดีของสังคม ซึ่งหลายประเทศได้ริเริ่มนวัตกรรมดังกล่าวแล้ว เช่น ญี่ปุ่น เน้นเตรียมความพร้อมภัยพิบัติในรูปแบบทักษะชีวิตที่สำคัญต่อเด็ก หรือฟิลิปปินส์ เน้นการศึกษาบนฐานภัยพิบัติของพื้นที่ชุมชน”
ดร.จุฬากรณ์ กล่าวต่อว่า ในประเทศไทยควรเริ่มจากมาตรการเฉพาะหน้าในการดูแลครูและกอบกู้ห้องเรียนให้สามารถสอนในพื้นที่น้ำท่วมได้ ส่วนระยะยาวต้องพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน เช่น สิ่งแวดล้อมศึกษา, ภูมิอากาศโลกศึกษา, อุทกภัยศึกษา หรือวารีศึกษา บูรณาการกับหลักสูตรท้องถิ่นบนฐานการมีส่วนร่วมของสังคม โดยไม่ผูกขาดรวมศูนย์ที่โรงเรียน แต่ต้องกระจายกลไกการเรียนรู้เชื่อมต่อครอบครัว ชุมชน และหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ตลอดจนเน้นให้เด็กเรียนวิชาว่ายน้ำเพื่อเอาตัวรอดยามเกิดอุทกภัย
ด้าน น.ส.ศรินทิพย์ พุ่มอ่อน ผู้อำนวยการโรงเรียนพิทยพัฒน์ศึกษา (มัสยิดกะมาลุลอิสลาม) กล่าวว่า การบรรจุเนื้อหาภัยพิบัติลงในหลักสูตรท้องถิ่น เป็นเรื่องที่สามารถทำได้ เพราะกระทรวงศึกษาธิการก็เปิดโอกาสให้แต่ละโรงเรียนสร้างหลักสูตรท้องถิ่นเองได้อยู่แล้ว แต่อาจต้องปรับวิธีคิดของผู้บริหารโรงเรียนซึ่งที่ผ่านมามักให้ความสำคัญแต่มิติวัฒนธรรมท้องถิ่นลงในหลักสูตรดังกล่าว
น.ส.ศรินทิพย์ ยกตัวอย่างโรงเรียนพิทยพัฒน์ศึกษาว่าอยู่ริมคลองแสนแสบ จึงบรรจุวิชาว่ายน้ำในหลักสูตร เพื่อให้นักเรียนว่ายน้ำเป็น สามารถช่วยเหลือตนเองเบื้องต้นได้ แต่ภายหลังเกิดภัยพิบัติรุนแรง คิดว่าจำเป็นต้องเพิ่มเติมเนื้อหาเรื่องน้ำท่วม แผ่นดินไหว ไฟไหม้ ภัยต่างๆ สอนแทรกเข้าไปอย่างบูรณาการ
ขณะที่ นายสุมานัส หาญพล ตัวแทนเครือข่ายเด็ก เยาวชน และครอบครัว อ. วิเศษไชยชาญ จ. อ่างทอง กล่าวว่า ตนและสมาชิกเครือข่ายฯ เรียนรู้การอยู่กับน้ำผ่านประสบการณ์ครอบครัวที่เคยประสบภัย เนื่องจาก จ.อ่างทองเจอปัญหาอุทกภัยแทบทุกปี แต่หากสถาบันการศึกษามีการเพิ่มเนื้อหาด้านภัยพิบัติลงในหลักสูตรท้องถิ่น ก็จะเป็นผลดีมากขึ้น เพราะจะเป็นฐานข้อมูลให้คนในชุมชน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน แต่จำเป็นต้องให้แต่ละท้องถิ่นร่างหลักสูตรเอง เพื่อความเหมาะสมแต่ละพื้นที่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูลสำนักกิจการพิเศษ สป. ล่าสุด ระบุความเสียหายของสถานศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการรวม 2,652 แห่ง โรงเรียนสังกัดกรุงเทพฯ 436 แห่ง มหาวิทยาลัย 22 แห่ง ส่งผลให้เด็กกว่า 700,000 คน ได้รับผลกระทบจากการเลื่อนเปิดเทอม .