ซื้อเป็นแสนผืนไม่ลดสักบาท! สตง.ชง คตง.ฟันทุจริตซื้อผ้าหม่ จ.กาฬสินธุ์
ผู้ว่าฯ สตง. เผยเตรียมชง คตง. สรุปผลการตรวจสอบแจกผ้าห่ม จ.กาฬสินธุ์ เป็นทางการ ชี้มีกระบวนการทุจริตแน่นอน แพงเกินจริง ระบุชัดซื้อเป็นแสนผืนไม่ลดสักบาท!
นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า ในช่วงสัปดาห์หน้านี้ สตง. จะสรุปรายงานผลการตรวจสอบการแจกผ้าห่มภัยหนาวจังหวัดกาฬสินธุ์สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดกาฬสินธุ์ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) พิจารณา หลังจากเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบได้สรุปผลการตรวจสอบเป็นทางการมาให้รับทราบแล้ว พบว่าการดำเนินมีปัญหาความไม่ชอบมาพากล มีการทำทุจริตประพฤติมิชอบ ของข้าราชการและเอกชนชัดเจน
"การจัดซื้อผ้าห่มจังหวัดกาฬสินธุ์ เท่าที่พิจารณาข้อมูลแล้ว น่าจะมีการทุจริตเกิดขึ้นแน่นอน โดยเฉพาะการจัดซื้อราคาสินค้าที่แพงเกินความเป็นจริง เป็นไปได้อย่างไร ซื้อของเป็นแสนผืน ไม่มีลดราคาแม้แต่บาทเดียว เมื่อผ่านการพิจารณาของคตง.แล้ว น่าจะเป็นการเปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนอย่างเป็นทางการอีกครั้ง"
ผู้ว่าฯ สตง. ยังระบุด้วยว่า ส่วนการตรวจสอบข้อมูลการจัดซื้อในพื้นที่อื่น ก็จะมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีหลายพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างการเก็บรวบรวมข้อมูลเอกสารหลักฐานต่างๆ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ สตง. ได้มีการเปิดเผยผลการตรวจสอบสอบการจัดหาและแจกผ้าห่มภัยหนาวจังหวัดกาฬสินธุ์ในปีงบประมาณ 2558 ซึ่งดำเนินการโดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดกาฬสินธุ์ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ รวมจำนวน 101 หน่วยงาน เป็นเงินงบประมาณ 35 ล้านบาท แต่ยังไม่มีการระบุถึงปัญหาเรื่องการทุจริตและรายชื่อผู้เกี่ยวข้องที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดแต่อย่างใด
โดยข้อสังเกตที่ตรวจสอบพบ มีดังนี้
1. มีการแจกผ้าห่มกันหนาวซ้ำครอบครัวจากหลายหน่วยงาน โดยบางครอบครัวได้รับแจกผ้าห่มกันหนาว 2-3 ผืนในปีงบประมาณเดียวกัน
2. ครอบครัวของผู้ที่ได้รับแจกผ้าห่มกันหนาวส่วนใหญ่มีผ้าห่มกันหนาวที่ทอใช้เอง ซื้อ และรับแจกในปีงบประมาณที่ผ่านมาและปัจจุบัน รวมประมาณ 6-20 ผืน บางครอบครัวมีมากกว่า 50 ผืนขึ้นไป ซึ่งมีมากพอและไม่ขาดแคลนผ้าห่มกันหนาวจริง
3. ไม่มีการสำรวจความต้องการเพื่อให้ทราบผู้ที่ขาดแคลนก่อนแจกผ้าห่มกันหนาว โดยครอบครัวของผู้ที่ได้รับแจกจากหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ ส่วนใหญ่มีผ้าห่มที่ทอใช้เอง ซื้อ และรับแจกผ้าห่มกันหนาวในปีงบประมาณที่ผ่านมารวมจำนวนมากกว่าจำนวนสมาชิกที่พักอาศัยอยู่ในครอบครัว
4. ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ไม่ประกาศการยุติการให้ความช่วยเหลือทันทีเมื่อภัยพิบัติหนาวสิ้นสุดลงโดยจังหวัดกาฬสินธุ์มีการประกาศเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2557 ทำการประกาศครอบคลุมทั้งจังหวัด ซึ่งมีทั้งหมด 18 อำเภอ และสภาพอากาศตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม 2558 เป็นต้นไป มีอุณหภูมิเพิ่มสูงกว่า 15 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นระดับอุณหภูมิตามหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556 กรณีภัยหนาว แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ได้ประกาศสิ้นสุดภัยพิบัติเมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2558 ซึ่งล่าช้ากว่าข้อเท็จจริงจำนวน 37 วัน ส่งผลให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่งยังมีการแจกผ้าห่มกันหนาวหลังจากวันดังกล่าวอยู่
5. มีการจัดซื้อผ้าห่มกันหนาวในราคาแพงกว่าราคาตามท้องตลาดจำนวน 83 หน่วย จากทั้งหมด101 หน่วย เป็นเงิน 10.61 ล้านบาท โดยได้นำเงินส่งคืนคลังครบถ้วนแล้วจำนวน 72 หน่วย เป็นเงิน3.85 ล้านบาท ยังไม่ส่งคืนจำนวน 9 หน่วย เป็นเงิน 6.71 ล้านบาท และส่งเงินไม่ครบถ้วนจำนวน 2 หน่วยยังขาดส่งเป็นเงิน 0.05 ล้านบาทรวมเป็นเงินที่ยังไม่ได้ส่งคืนคลัง 6.76 ล้านบาท
6. อุณหภูมิต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส ตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังประกาศ ไม่สอดคล้องกับความหมายของอากาศหนาวจัดผิดปกติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556 ส่งผลให้รัฐต้องใช้จ่ายเงินงบประมาณมากเกินกว่าที่ควร เนื่องจากจำนวนผู้ประสบภัยหนาวตามเกณฑ์อากาศหนาวที่อุณหภูมิต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส จะมีมากกว่ากรณีอากาศหนาวจัดผิดปกติ ทำให้เป็นช่องทางให้หน่วยงานต่างๆของรัฐใช้จ่ายเงินงบประมาณเพื่อจัดหาผ้าห่มให้กับผู้ประสบภัยหนาวมากเกินความจำเป็น
(อ่านประกอบ : ซื้อแจกซ้ำซาก บางบ้านได้กว่า 20 ผืน! สตง.สรุปผลสอบแจกผ้าห่ม จ.กาฬสินธุ์)